เรื่องเล่าผ่าน “ผ้าทอมือ” บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง

เรื่องเล่าผ่าน “ผ้าทอมือ” บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง

“ผ้าทอมือ" บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง นับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความสวยงามและมีเสน่ห์ จากการมัด ย้อม และทอ ด้วยความชำนาญที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน รวมถึงลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผ้าทอบ้านดอนบ่อ ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และมีการส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

บ้านดอนบ่อ ต.วังน้ำเย็น อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา รองลงมา คือทำไร่อ้อย และอีกหนึ่งอาชีพที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน คือ การทอผ้า โดยมีการจัดตั้ง “กลุ่มผ้าทอบ้านดอนบ่อ” เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของสมาชิกที่มี ความสนใจและมีความชำนาญในการทอผ้า มีผลิตภัณฑ์ผ้าทอและได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับให้กลายเป็นสินค้า OTOP ของตำบล

 

“ผ้าทอมือบ้านดอนบ่อ” ซึ่งมีจุดเด่น คือ ผ้าทอมัดหมี่ ที่สืบทอดกันมายาวนาน มีการพัฒนาลวดลาย เป็นลายประจำท้องถิ่นอย่าง ผ้าทอลายรวงข้าว แสดงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดอ่างทอง นอกจากนี้ ยังมีลวดลายต่างๆ เช่น ผ้าทอยกตะกอ ผ้าทอลายช้างรวงข้าว ผ้าพื้น ผ้าสายฝน ผ้าทอลาย เป็นต้น

 

เรื่องเล่าผ่าน “ผ้าทอมือ” บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง

เพ็ญศรี ยอดแก้ว

 

“เพ็ญศรี ยอดแก้ว” อายุ 47 ปี กลุ่มผ้าทอบ้านดอนบ่อ ต.วังน้ำเย็น จ.อ่างทอง เล่าว่า ความพิเศษของ ผ้ามัดหมี่บ้านดอนบ่อ คือการมัดลายเอง เนื้อผ้าจะหนา สีสันสดใส ลวดลายงามตา ตามมาตรฐาน “เนื้อแน่น เนียนหนา ราคาย่อมเยา” เป็นสโลแกนของกลุ่ม กลุ่มผ้าทอมือ ซึ่งถือเป็นการรวมกลุ่มของคนในชุมชน รวมถึงลูกๆ หลานๆ

 

จากเดิมที่เป็นการทอผ้าลายทั่วไป หลังจากนั้น ทางจังหวัดได้เริ่มให้มีการพัฒนาลายผ้าให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอ่างทอง ได้แก่ ลายรวงข้าว มาประมาณ 10 ปี ขณะเดียวกัน ลายผ้าที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ได้แก่ ลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ซึ่งทรงพระราชทานให้กับกลุ่มทอผ้าในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

 

เรื่องเล่าผ่าน “ผ้าทอมือ” บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง

ลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ"

เพ็ญศรี เล่าว่า ส่วนตัวเริ่มทอผ้ามาประมาณ 25 ปี โดยเรียนรู้การทอผ้าจากพี่สาวสามี และจากป้าๆ ลุงๆ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 40 ปี ขณะเดียวกันในชุมชนเองก็มีการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้ฝึกทอผ้า โดยโรงเรียนมี “กี่” ที่ทางราชการนำไปไว้ที่โรงเรียนให้เด็กๆ ที่สนใจเลือกเรียน และ เด็กบางคนไม่มีโอกาสเรียนต่อ ก็สามารถนำไปเป็นอาชีพได้

 

ทอผ้า ต้องใจรัก

 

“ความยากของการทอผ้า ต้องอาศัยใจรัก และต้องละเอียด เวลาทอไม่ตรง ลายจะไม่สวย และไม่ชัด” เพ็ญศรีกล่าว ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่ๆ หลายคนที่ให้ความสนใจที่จะเริ่มฝึกการทอผ้า และตนเอง ก็ได้มีการสืบทอดให้กับหลานตนเอง ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อีกด้วย

 

เรื่องเล่าผ่าน “ผ้าทอมือ” บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง

 

“เมื่อก่อนช่วงที่มี OTOP เป็นช่วงที่ขายดีมาก ต่อเนื่องมาในช่วงก่อนโควิด-19 ทำส่งขายเมียนมา ครั้งละ 500-600 ผืน และในปัจจุบัน ผ้าลายพระราชทาน ก็ขายดีเช่นกัน เพราะทุกหน่วยงานใส่ เนื่องจากทางจังหวัดส่งเสริมให้ใส่เป็นวัฒนธรรม นอกจากนี้ ทางกลุ่มเองก็มีการขายในช่องทางออนไลน์ด้วย”

 

40 ปี กับผ้าทอดอนบ่อ

 

ด้าน “แม่บุญธรรม แย้มพราย” อายุ 68 ปี อีกหนึ่งสมาชิก กลุ่มผ้าทอบ้านดอนบ่อ ต.วังน้ำเย็น จ.อ่างทอง ซึ่งใช้เวลาอยู่กับผ้าทอมัดหมี่มากว่า 40 ปี เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการหันมาสนใจการทอผ้าว่า ตนเองรักการทอผ้า จึงสนใจที่จะฝึก ขณะเดียวกัน ก็เห็นญาติที่อาศัยอยู่ที่ จังหวัดกาญจนบุรีทอผ้าเช่นกัน จึงเดินทางไปฝึกด้วย

 

เรื่องเล่าผ่าน “ผ้าทอมือ” บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง บุญธรรม แย้มพราย

“ตอนนั้นทอเป็นผ้าพื้น ต่อมาก็พัฒนาลายมาเรื่อยๆ ลองฝึกหัด ดูเขาทำ แล้วลองมาฝึกด้วยตนเอง ลองมัดลายเอง จนปัจจุบัน ทำมากว่า 40 ปี แม้ในตอนแรกจะรู้สึกว่ายาก แต่เมื่อเราได้รู้วิธีแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยาก  ซึ่งผ้าทอที่ทำได้วางจำหน่ายในชุมชน หมู่บ้าน และหน่วยงานราชการที่สั่งซื้อเข้ามา รวมถึงส่งไปขายยังเมียนมาอีกด้วย”

 

แม่บุญธรรม เล่าต่อไปว่า ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ลูกๆ หลานๆ ของตนเอง ก็หันมาให้ความสนใจการทอผ้ามัดหมี่เช่นกัน ซึ่งขณะนี้ มีลูกสาว และหลานอีก 2 คน ที่เรียนและฝึกการมัด ย้อม ทอผ้า รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นเด็กรุ่นใหม่ๆ ให้ความสนใจ และทำได้ อยากให้ผ้าพื้นเมืองของชุมชน ได้รับการสืบทอดต่อไป

 

เรื่องเล่าผ่าน “ผ้าทอมือ” บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง

ผูกให้เป็นลาย ก่อนนำไปย้อม

 

ผ้าทอมัดหมี่ มาตรฐานสินค้าชุมชน

 

สำหรับผลิตภัณฑ์ ผ้าทอมัดหมี่บ้านดอนบ่อ ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าชุมชน (ประเภทผ้ามัดหมี่) เลขที่ 17(1)/2546 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลมากมาย ได้แก่

  • รางวัลระดับสี่ดาว ประเภทผ้าทอมัดหมี่ โครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP Product Champion) ระดับประเทศ ประจำปี 2546
  • รางวัลระดับสี่ดาว ประเภทผ้าทอมัดหมี่ยกตะกอ โครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP Product Champion) ระดับประเทศ ประจำปี 2547
  • ประกาศนียบัตรมาตรฐานตามหลักเกณฑ์สินค้ามาตรฐานสหกรณ์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเภท ผ้ามัดหมี่สี่ตะกอ
  • รางวัลชมเชย ประเภทผ้าฝ้าย จากการประกวดผ้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่น ระดับภาคของภาคกลาง

 

เรื่องเล่าผ่าน “ผ้าทอมือ” บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง

 

สำหรับใครที่สนใจ สามารถเข้าชมผ้าทอบ้านดอนบ่อ ได้ที่เฟซบุ๊ก "ผ้าทอมือบ้านดอนบ่อ-มัดหมี่"  และหากอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สามารถเข้าชมได้ในงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT GRAND EXPOSITION จัดโดย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และ ลานพาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน ถึงวันที่ 20 ก.พ. 65 และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือรับชมงานในรูปแบบออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ www.ccpot.in.th และสายด่วนวัฒนธรรม 1765 

 

เรื่องเล่าผ่าน “ผ้าทอมือ” บ้านดอนบ่อ จ.อ่างทอง