สธ. "เตือนภัยระดับ4" ห่วงสูงวัย เปราะบาง ติดเชื้ออาการรุนแรง

สธ. "เตือนภัยระดับ4" ห่วงสูงวัย เปราะบาง ติดเชื้ออาการรุนแรง

สธ. "เตือนภัยระดับ4" ขอความร่วมมือประชาชน เลี่ยงการรวมกลุ่ม ชะลอเดินทางข้ามจังหวัด WFH หลัง "โอมิครอน" ระบาด ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ ห่วงสูงวัยกลุ่มเปราะบาง รับเชื้อ ทำให้อาการรุนแรง

วันนี้ (21 ก.พ. 65) ที่กระทรวงสาธารณสุข “นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าว อัพเดทสถานการณ์โควิด 19 และ เตือนภัยระดับ4 ทั่วประเทศ โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 สูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงเอเชีย คาดการณ์ว่าใน 1-2 สัปดาห์ แนวโน้มยังทรงตัวในระดับสูง ในประเทศไทย 1-2 สัปดาห์ อาจมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้โอมิครอน ความรุนแรงต่ำกว่าเดลต้า 10 เท่า แต่หากปล่อยให้ผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น โอกาสที่กลุ่มเสี่ยง สูงวัย โรคประจำตัวก็จะสูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่ ผู้ติดเชื้ออยู่ในวัยแรงงาน และเด็กมากขึ้น มีการรวมกลุ่ม ทานอาหาร จะนำเชื้อไปติดในกลุ่มเปราะบาง โอกาสทำให้ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวที่บ้าน สามารถได้รับเชื้อ ทำให้อาการรุนแรงได้

 

ผู้ป่วย 90% อาการเล็กน้อย

 

ทั้งนี้ เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องช่วยกันชะลอการกระจายเชื้อ โรคโควิดไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยคนเป็นพาหะ และทราบว่ามากกว่า 90% อาการเล็กน้อย และ มากกว่า 50% ไม่มีอาการ จึงทำให้ไม่ระวัง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคสำคัญ อย่างยิ่งในปัจจุบัน ในการชะลอการติดเชื้อไม่ให้แพร่ไปสู่กลุ่มเสี่ยง

 

หากพบว่ามีอาการ หรือเสี่ยง ขอให้กักตัว ให้คิดเสมอว่าอาจเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่ให้กับคนใกล้ชิดได้ หรือ คนรอบข้างอาจจะเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ดังนั้น การใส่หน้ากากอนามัย เป็นสิ่งสำคัญ หากออกจากบ้าน ไปชุมชน การเข้าในสถานที่แออัด ต้องเว้นระยะห่าง การสังสรรค์ งานบุญ หากไม่มีความจำเป็นขอให้เลี่ยง

เตือนภัยระดับ 4

 

นพ.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า ทุกจังหวัดจะเตือนภัยระดับ 4 โดยปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สถานที่เสี่ยง คือ เปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เกณฑ์จำนวนคนให้รวมกลุ่มได้ ตามระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรครายจังหวัด และ การเดินทางข้ามพื้นที่/จังหวัด ให้ WFH ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่

 

สธ. \"เตือนภัยระดับ4\" ห่วงสูงวัย เปราะบาง ติดเชื้ออาการรุนแรง

 

5 ระดับเตือนภัย 

 

สำหรับ ระดับเตือนภัยป้องโควิด19 ของประเทศไทย จะมีทั้งหมด 5 ระดับ ได้แก่ 

 

ระดับ 1 ใช้ชีวิตได้ปกติ แบบ COVID-19 Free Setting ประชาชนสามารถ โดยสารขนส่งสาธารณะได้ การเดินทางเข้าประเทศโดยปกติ  

 

ระดับ 2 เร่งเฝ้าระวัง คัดกรอง เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม 1,000 คนขึ้นไป  งดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ปิด/แออัด เลี่ยงร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท

 

ระดับ 3 จำกัดการรวมกลุ่ม ทำงานจากที่บ้าน 20 – 50% เลี่ยงกิจกรรมรวมกลุ่ม 200 คนขึ้นไป เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท งดไปต่างประเทศ 

 
ระดับ 4 ปิดสถานที่เสี่ยง ทำงานจากที่บ้าน 50 – 80% งดไปรับประทานร่วมกัน  งดดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เลี่ยงเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน คัดกรองก่อนเดินทาง  ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ ใช้ระบบกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ

 
ระดับ 5 จำกัดการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ ทุกคนงดออกนอกบ้าน หากจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต เช่น ตรวจ รักษา ซื้ออาหาร ของใช้ งดรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน งดใกล้ชิดกันในบ้าน  รวมถึงเคอร์ฟิว ซึ่งจะมีการกำหนดมาตตรการตามระดับเตือนภัยทั้ง 5 ระดับด้วย


 

“นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์” ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึง สถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้มีการติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน 15,981 ราย ในประเทศ 15,793 ราย ต่างประเทศ 188 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 จำนวน 507,763 ราย  ต้องติดตามการติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นในคลัสเตอร์ ในครอบครัว และชุมชน  โดยขณะนี้มีผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ 166,397 ราย โดยแบ่งเป็นรักษาใน HI และ CI และรพ.สนาม 89,326 ราย อยู่ในรพ.มีอาการน้อยๆ อยู่ที่ 76,275 ราย 

 

เสียชีวิตส่วนใหญ่ ยังเป็นกลุ่มสูงวัย


ในส่วนของ ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยวันนี้ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 796 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 202 ราย เสียชีวิตวันนี้ 32 ราย โดยเฉลี่ยเสียชีวิต 14 วันอยู่ที่ 25 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ 60% ไม่ฉีดวัคซีนสักเข็ม และไม่ฉีดบูสเตอร์โดส อย่างวันนี้เสียชีวิต 32 รายอยู่ในกลุ่ม 608 ซึ่งมี 16 รายไม่ฉีดวัคซีนสักเข็ม หรือฉีดเพียง 1 เข็ม จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้กลุ่มนี้รับวัคซีน


ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 13-19 ก.พ.65 กรณีผู้ติดเชื้อระลอก ม.ค. รวมจำนวน 115,917 ราย เป็นคนไทย 96.1% นอกนั้นต่างชาติประมาณ 3%  โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสถานที่เสี่ยงต่างๆ หรือเป็นคลัสเตอร์ ทั้งโรงเรียน ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน ร้านอาหาร อันนี้คือ 54% ส่วนอีก 44.5%  ผู้สัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว หรือกลุ่มใกล้ชิดเสี่ยงสูง

 

โอมิครอน ไม่มีอาการ 53.1%

 

"โควิดสายพันธุ์ โอมิครอน จากข้อมูลอาการป่วย 53,709 ราย พบว่า ไม่มีอาการ 53.1% มีอาการป่วย 46.9% ส่วนใหญ่เจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ต่ำๆ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 อาจกลายเป็นอาการหนัก เชื้อลงปอดได้" นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

ทั้งนี้ การติดเชื้อในกลุ่มเด็ก 0.9 ปี เริ่มพบมากขึ้นเรื่อยๆ และคนทำงาน พบปะคนก็มีโอกาสติดเชื้อสูง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ต้องเตือนภัยระดับ 4 เนื่องจากการติดเชื้อตอนนี้เราแบ่งสีเป็นส้ม และแดง โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 13-19 ก.พ.65) พบว่า ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศแล้ว เป็นพื้นที่สีแดงและสีส้ม โดยสีแดงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน

 

ส่วนสีส้มประมาณ 10-99 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งกลุ่มอายุที่ติดเชื้อพบว่า เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม แต่มากสุดคือ วัยทำงาน และวัยเด็ก  ดังนั้น การทำงาน การทานข้าวด้วยกัน การมีกิจกรรมร่วมกันยังเป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่วนอาการปอดอักเสบในกลุ่มวัยต่างๆ นั้น กลุ่มเด็กแม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ป่วยหนักไม่เพิ่มมาก ถ้าเทียบกับอายุ 60 ปีขึ้นไปอาการจะมากขึ้น ส่วนวัยทำงานถ้าอายุ 50 กว่าปี ที่มีโรคประจำตัวก็จะทำให้เพิ่มขึ้นได้ 

 

สธ. \"เตือนภัยระดับ4\" ห่วงสูงวัย เปราะบาง ติดเชื้ออาการรุนแรง

 

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าติดตาม คือ 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่มีอัตราติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ได้แก่ กทม. ชลบุรี ภูเก็ต กาญจนบุรี กระบี่ พังงา นนทบุรี ปทุมธานี ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางวัน เช่น กทม. จะมีเพิ่มขึ้น และลดลงบางวัน เพราะฉะนั้น การติดเชื้อ คลัสเตอร์ต่างๆ รวมถึงการสัมผัสใกล้ชิดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

 

“ทั้งนี้ จากการพยากรณ์โรค ผู้ติดเชื้อจริงในแต่ละวัน ทะลุการคาดการณ์เป็นที่เรียบร้อย ทำให้พบการติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตาม แม้จะไม่เยอะ แต่ยังต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเนื่อง” นพ.จักรรัฐ กล่าว