5 ข้อต้องรู้ เลือก ATK ยี่ห้อไหนดี พร้อมเผยวิธีใช้ชุดตรวจ ATK อย่างถูกต้อง
เปิดวิธีตรวจโควิดด้วย ATK อย่างไรให้ถูกต้อง ได้ประสิทธิภาพ พร้อมเช็ค 5 ข้อควรระวังในการใช้ ATK หลังยอดโควิด-19 ในไทย พุ่งเกือบครึ่งแสน ทำนิวไฮ 3 วันติด
เฝ้าระวังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งทะยาน ทำนิวไฮ 3 วันติด โดย ณ วันที่ 25 ก.พ. 65 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 24,932 ราย ซึ่งถ้ารวมกับผลตรวจโควิดด้วย ATK อีก 22,509 ราย ก็จะเท่ากับ 47,441 ราย
โดยเฉพาะเมื่อวันนี้ โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทย สายพันธุ์หลัก คือ “โอมิครอน” เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้เร็วมาก ติดง่าย ติดไว กว่า “เดลตา” ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักตัวก่อนหน้านี้
ส่งผลให้หลายๆ คนเริ่มมีคนใกล้ตัว คนรอบข้าง ทยอยแจ้งผลการติดเชื้อโควิดกันมากขึ้น ยิ่งระยะนี้ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง บางคนก็มีอาการไอ เป็นไข้ คัดจมูก ซึ่งใกล้เคียงกับอาการโควิด จนร้อนๆ หนาวๆ และมองหาซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อมาตรวจเช็คกันให้แน่ใจ
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงจะพาไปดูข้อควรรู้ และระมัดระวัง สำหรับการตรวจโควิด-19 ด้วย ATK ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องทั่วไป ที่ใครๆ ก็ตรวจกัน แต่ทราบหรือไม่ว่า หากตรวจไม่ถูกวิธี ก็สามารถให้ “ผลลวง” ได้ เราไปดูกันว่า ข้อควรทราบ ทั้งหมด 5 ข้อนี้ คืออะไรบ้าง
1. เลือก ATK ที่ได้มาตรฐาน และได้รับอนุญาตจาก อย.
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เคยให้ข้อมูลไว้เมื่อ เดือน พ.ย.64 โดยระบุว่า สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจโควิด 19 ด้วยการใช้ชุดตรวจ ATK ซึ่งขณะนี้เริ่มมีราคาถูกลง แต่ทั้งนี้ ราคาไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินคุณภาพของ ATK แต่ต้องเลือกยี่ห้อที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. (อย่าลืมเช็ควันหมดอายุ)
โดยปัจจุบัน ชุดตรวจ COVID-19 ประเภท Rapid Test Antigen หรือ Antigen Test Kits (ATK) แบบตรวจด้วยตัวเอง ที่วางขายในไทย แบ่งออกเป็น ตรวจโดยแยงจมูก และ ตรวจด้วยน้ำลาย ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 22 ก.พ.65 พบว่า มีทั้งสิ้น 251 ผลิตภัณฑ์ มีทั้งที่ผลิตในจีน, เกาหลีใต้, เยอรมนี, สหรัฐ, สหราชอาณาจักร, ไต้หวัน, สวิตเซอร์แลนด์, อินเดีย, ตุรกี, สวีเดน รวมถึงที่ผลิตในไทย โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. และ บริษัท แอฟฟิโนม จำกัด ที่ได้รับอนุญาตจากอย.
ผู้ที่สนใจ สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้โดย คลิกที่นี่
2. วัน-เวลาตรวจ ATK ที่ถูกต้อง หลังเสี่ยงสัมผัสเชื้อ
เมื่อเลือกชุดตรวจโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. มาได้แล้ว วันที่ทำการตรวจ ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อผลการตรวจ ว่า พบ หรือ ไม่พบเชื้อ โดย นพ.ศุภกิจ มีคำแนะนำว่า ให้ตรวจหลังมีความเสี่ยงรับเชื้อแล้ว 3-5 วัน หากตรวจทันทีอาจไม่พบเชื้อ เนื่องจากปริมาณไวรัสยังมีน้อย แต่กรณีที่มีอาการไข้และอาการระบบทางเดินหายใจให้ตรวจทันที
3. เก็บตัวอย่างตรวจ ATK อย่างไร ให้ถูกต้อง
ส่วนคำถามที่ว่า นพ.ศุภกิจ กล่าวอธิบายว่า ชุดตรวจ ATK แบบที่ใช้สารคัดหลั่งจากทางโพรงจมูก ให้ใช้ไม้ swab ที่ให้มากับชุดตรวจเก็บตัวอย่างในจมูกทั้ง 2 ข้าง โดยสอดลึก 2-3 เซนติเมตร แล้วปั่นข้างละ 5 รอบ เพื่อให้ได้สารคัดหลั่งมากพอ
ส่วนชุดตรวจที่ใช้น้ำลาย ก็ให้เก็บน้ำลายตามวิธีที่ชุดตรวจกำหนด
สำหรับการอ่านผลตรวจ ตลับชุดตรวจต้องมีแถบสีเกิดขึ้นบริเวณตัว C จึงใช้ได้ หากมีแถบขึ้นที่ตัว T ร่วมด้วย หมายถึงผลบวก หากไม่มีแถบขึ้นที่ตัว T คือผลลบ
4. ประสิทธิภาพ ATK ความแม่นยำ และ ผลบวกลวงที่อาจพบ
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า คุณสมบัติของชุดตรวจ ATK แต่ละประเทศกำหนดแตกต่างกัน โดยประเทศไทยกำหนดความไวเชิงวินิจฉัย มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย มากกว่าหรือเท่ากับ 98% และความไม่จำเพาะน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10%
5. ข้อผิดพลาดที่มักเจอในการอ่านผล
“ชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐาน อย.จะเกิดผลบวกลวงน้อยมาก ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลบวกลวง คือ ชุดตรวจที่ไม่ผ่านมาตรฐาน อย. มีคุณภาพต่ำ หรือ อาจมีการปนเปื้อนเชื้ออื่น หรือ ทิ้งผลตรวจไว้นานเกินไปแล้วมาอ่านค่าภายหลัง หรือ สภาพการตรวจไม่เหมาะสม จึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านี้ให้ดี ส่วนผลลบลวงเกิดได้หากตรวจหลังจากวันที่รับเชื้อเร็วเกินไป ปริมาณไวรัสจะยังไม่มากพอ หรือ เก็บสิ่งส่งตรวจไม่ถูกต้อง หรือ วิธีการตรวจไม่ถูกต้อง หรืออ่านผลเร็วเกินไป” นพ.ศุภกิจกล่าว
- เปิดขั้นตอนตรวจ ATK พบเชื้อ ผลเป็นบวก ทำอย่างไรต่อ ?
ทั้งนี้ หากตรวจโควิดด้วย ATK และได้ผลบวก จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข อัปเดต ณ วันที่ 24 ก.พ.65 ระบุไว้ดังนี้
- ตรวจ ATK เป็นบวก
- นำผลไปแสดงที่โรงพยาบาล (ARI Clinic) เจ้าหน้าที่ทำการตรวจซ้ำ
- หรือ โทร.สายด่วน สปสช. 1330 , Line @สปสช , กรอกแบบฟอร์ม Support Covid-19 , คอลเซ็นเตอร์ จังหวัด/อำเภอ EOC 50 เขต กทม.
- เจ้าหน้าที่ประเมินอาการ
หากไม่มีอาการ หรือ อาการเล็กน้อย ให้อยู่ Home Isolation แต่หากไม่สะดวกอยู่บ้าน ให้ไปอยู่ที่ Community Isolation หรือ Hotel Isolation
ผู้ป่วยสีเหลือง และ สีแดง ให้เข้ารับการรักษาตัวที่ Hospitel, รพ.สนาม, รพ.หลัก
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข