แพทย์เตือนเลิกสูบบุหรี่ ลดความรุนแรงโรคเรื้อรัง ลดโรคแทรกซ้อนได้
เกือบ 3 ใน 10 ของสิงห์อมควันไทย ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 5 โรค เบาหวาน ความดันสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ชี้เลิกสูบบุหรี่ดีที่สุด ลดความรุนแรงของโรค ลดโรคแทรกซ้อนได้
วันนี้ (27 ก.พ.2565)ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี หัวหน้าโครงการการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจสุขภาพคนไทยพบว่า 27.0% ของผู้สูบบุหรี่ไทยที่มี 9.9 ล้านคน หรือ 2,679,184 คน มีโรคเรื้อรัง โรคใดโรคหนึ่งใน 5 โรค คือ เบาหวาน ความดันสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
ซึ่งหากรวมผู้สูบบุหรี่ที่มีโรคเรื้อรังอื่น ๆ ทั้งหมด อาทิ โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม วัณโรค สัดส่วนผู้สูบบุหรี่ไทยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวอาจสูงถึง 1 ใน 3 ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า แม้จะเป็นเรื่องดีที่อัตราการสูบบุหรี่ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะต่ำกว่าในประชากรไทยทั่วไป ซึ่งอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยในการสำรวจนี้เท่ากับ 29.5% ผู้ป่วยเบาหวาน 21.0% โรคหัวใจ 16.2% ความดันสูง 27.4% แต่ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวทุกโรค
- เลิกสูบบุหรี่ลดความรุนแรงโรคเรื้อรัง
การสูบบุหรี่จะทำให้การรักษาโรคที่เป็นอยู่ยากขึ้น เกิดโรคแทรกซ้อนเร็วและรุนแรงขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น คนเป็นโรคเบาหวาน การสูบบุหรี่จะทำให้คุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น ต้องใช้ยามากขึ้น มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจหรือสมองตีบ ไตวายเกิดเร็วขึ้น หรือคนที่ความดันสูงแล้วสูบบุหรี่ ต้องใช้ยามากขึ้นในการคุมความดัน และจะเกิดโรคหัวใจ และเส้นเลือดสมองเร็ว ไตวาย และรุนแรงขึ้น
คนที่มีโรคประจำตัวทุกโรค การเลิกสูบบุหรี่มีความสำคัญที่สุดที่จะลดความรุนแรงของโรค ลดการเกิดโรคแทรกซ้อน ผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกชนิด จึงต้องพยายามเลิกบุหรี่ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ ขณะที่ครอบครัวต้องช่วย ด้วยการให้กำลังใจผู้สูบบุหรี่ในการที่จะเลิก
"สิ่งที่สำคัญคือ ผู้สูบบุหรี่และครอบครัวต้องร่วมกันกำหนดให้ไม่มีการสูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ผู้สูบบุหรี่สูบน้อยลง และทำให้เลิกสูบง่ายขึ้น” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
- วางแนวทางการรักษาพยาบาลติดบุหรี่
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ กำหนดให้ผู้ให้บริการสุขภาพทุกคน ต้องมีการซักประวัติการสูบบุหรี่ ลงบันทึกการวินิจฉัยโรคว่ามีภาวะติดนิโคติน และต้องวางแนวทางการรักษาพยาบาลด้วยวิธีการต่าง ๆ
รวมถึงการให้ครอบครัวผู้ป่วยมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งสถานพยาบาลและผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่นี้ เพื่อให้ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ทุกคนได้รับการรักษาเพื่อเลิกบุหรี่ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลผู้ป่วย
การเลิกสูบบุหรี่จะส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งผู้ป่วยด้วยโรคอื่น ๆ และผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จึงขอประชาสัมพันธ์มาตรฐาน HA ใหม่นี้ เพื่อสถานพยาบาลผู้ป่วยและครอบครัวมีความเข้าใจตรงกัน และให้ความร่วมือในการปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่นี้