"โรคอ้วน" กระทบเศรษฐกิจ 13.2% ของงบประมาณสาธารณสุขทั่วโลก
4 มี.ค. “วันโรค อ้วนโลก” หรือ World Obesity Day ถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 โดย World Obesity Federation ที่เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรซึ่งขึ้นตรงกับองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีความมุ่งหวังที่จะ “หยุดการเพิ่มขึ้น” ของ วิกฤติโรคอ้วน (Obesity Crisis)
ทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2025 รายงานจาก World Obesity Federation ปี 2565 พบว่าทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วน ประมาณ 800 ล้านคน ในจำนวนนี้ 39 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีกประมาณ 340 ล้านคน เป็นเด็กและวัยรุ่นอายุ 5-19 ปี
ประเทศไทย ปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” หรือคนที่เดินเข้ามา 3 คน จะมีคนที่มีภาวะอ้วน 1 คน และมีคนไทยที่มีรอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง”กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่มเสี่ยงป่วนเป็นโรค NCDs
นอกจากนั้นในภูมิภาคอาเซียน ไทยมีความชุกของโรคอ้วนในประชากรเป็นอันดับ 2 รองมาจากประเทศมาเลเซีย
ขณะที่ข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วนในผู้ใหญ่ ในปี 2564 อยู่ที่ 47.2% เพิ่มขึ้นจาก 34.7% ในปี 2559
กรุงเทพมหานคร มีความชุกภาวะอ้วนลงพุงมากที่สุด (56.1%) รองลงมาคือภาคกลาง (47.3%), ภาคใต้ (42.7%), ภาคเหนือ (38.7%), และภาคอีสาน (28.1%)
ที่น่ากังวลคือ เด็กก็พบปัญหาโรคอ้วน และน้ำหนักเกินเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ในปี พ.ศ.2564 ความชุกของโรคอ้วน และน้ำหนักเกินในเด็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 9.07% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 5.7%
- “โรคอ้วน”ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก กล่าวว่า โรคอ้วน ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอีกด้วย 13.2% ของงบประมาณสาธารณสุขทั่วโลก คิดเป็นเงิน 9.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 29 ล้านล้านบาท สูญเสียไปกับปัญหาน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งเศรษฐกิจประเทศไทยก็โดนผลกระทบเช่นเดียวกัน
โดยปัญหานี้ก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็น มูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท หรือ 1.27% ของ GDP ทั้งประเทศ และถ้าปัญหานี้ยังไม่ถูกแก้ไข ในอีก 40 ปีข้างหน้า อาจกระทบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้สูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท หรือ 4.88% ของ GDP ซึ่งนับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อประเทศไทย
ความสูญเสียนี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายทางตรง (Direct cost) สำหรับการรักษาพยาบาล เกือบ 5 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายทางอ้อม (Indirect cost) 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงของแรงงาน (Productivity losses; absenteeism and presenteeism) คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนที่ 2,970 บาท และอาจสูงถึง 45,450 บาทต่อคน ในปี พ.ศ. 2603 ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข
- สำรวจตนเองก่อนเกิด “โรคอ้วน”
ขณะที่ พญ.กัลยาณี พรโกเมธกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 คนกลุ่มจะมีภาวะแทรกซ้อน ลงปอดและอันตรายมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า และดัชนีมวลกาย BMI ที่เพิ่มทุกๆ หนึ่งหน่วยมีผลต่อความเสี่ยงจะเกิดความรุนแรงของโควิด-19 มากขึ้น 12%
โรคอ้วน เกิดจากที่ร่างกายมีภาวะไขมันส่วนเกินสะสมในร่างกายเกินความจำเป็น ซึ่งจะมีวิธีการคำนวณง่ายๆ โดยใช้น้ำหนัก(กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร ยกกำลัง 2 เช่น 95หารด้วย1.75 ยกกำลัง 2 เท่ากับ 31 (ค่าดัชนีมวลกาย BMI)
- หากค่า BMI น้อยกว่า 18.5 อยู่ในเกณฑ์ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เสี่ยงต่อโรคมากกว่าคนปกติ
- หากค่า BMI เท่ากับ 18.5-22.9 อยู่ในเกณฑ์ สมส่วน เสี่ยงต่อโรค เท่ากับคนปกติ
- หากค่า BMI เท่ากับ 23.0-24.9 อยู่ในเกณฑ์ น้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อโรค อันตรายระดับ 1
- หากค่า BMI เท่ากับ 25.0-29.9 อยู่ในเกณฑ์ โรคอ้วน เสี่ยงต่อโรค อันตรายระดับ 2
- หากค่า BMI เท่ากับ 30 ขึ้นไป โรคอ้วนรุนแรง เสี่ยงต่อโรค อันตรายระดับ 3
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่โรคอ้วนแล้วนั้น จะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา และส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรังที่จะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันเกาะตับ นิ่วในถุงน้ำดี และโรคมะเร็ง ถ้าเป็นโรคอ้วนจะมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ มากกว่าคนไม่อ้วน
- “โรคอ้วน” ป้องกันได้ต้องรักษาแต่เนิ่นๆ
ผศ.พญ.ศานิต วิชานศวกุล อาจารย์ประจำหน่วยโภชนศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า อ้วนเป็นโรคที่ป้องกันได้ และควรได้รับการรักษาก่อนจะมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ ไม่เฉพาะคนไข้ ครอบครัว ระบบสาธารณสุขต้องเข้ามาช่วยเหลือ รักษาตั้งแต่เนิ่น
เมื่อตระหนักว่าเป็นโรคอ้วน แรกเริ่ม ต้องมาจากตัวเอง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ ควบคุมอาหารโดยหลีกเลี่ยงของมัน ของทอด ไม่ควรบริโภคอาหารประเภทที่ให้ High calorie High Fat
แต่ควรจะรับประธานอาหารประเภท High Fiber Low Fat Low calorie รวมถึงควรออกกำลังกาย อย่าง แอโรบิก ประมาณ 250 นาที ต่อสัปดาห์ หากปรับพฤติกรรมแล้ว น้ำหนักยังเกินอยู่ ควรจะปรึกษาทีมแพทย์เฉพาะทางในการรักษาโรคอ้วน
- “โรคอ้วนในเด็กสะท้อนเหลื่อมล้ำ”
สถานการณ์โรคอ้วนในเด็ก ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะอ้วนและโรคอ้วน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ12.4 ในปี 2564 ซึ่งในกลุ่มนี้ตั้งเป้าภายในอีก 3 ปี ต้องลดภาวะเด็กอ้วนไม่เกินร้อยละ10 นอกจากนี้ เด็กอายุ 10-14 ปี ที่มีภาวะอ้วนร้อยละ 8 มีความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK)สถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคอ้วนในเด็กไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการส่งต่อทางกรรมพันธุ์อีกต่อไป แต่เกิดจากการส่งต่อของพ่อแม่ในการเลี้ยงดู รวมถึงสิ่งแวดล้อม สถานที่เรียน
“สังคมที่หล่อหลอม ทำให้เด็กอ้วนมีพฤติกรรมเสี่ยง 3 เรื่อง คือ การกิน การเล่น สุขภาพจิตและการพักผ่อน ที่ไม่สมดุล ซึ่ง 3 ประเด็นนี้ต้องร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการเพื่อไม่ให้ปัญหารุนแรงบานปลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนที่มีโรครุมเร้า” ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าว
ดังนั้น ทุกคนควรให้ความร่วมมือลงมือแก้ไขในทุกระดับ ทั้งภาคการปฏิบัติเชิงนโยบายการวางแผน บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ชุมชน และครอบครัว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์