สิทธิสตรีในมุมมอง “ดร.ยุ้ย” ถอดรหัสแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำสังคมไทย
8 มีนาคมของทุกคน ถือเป็นวันสตรีสากล (International Women's Day) ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบัน “ผู้หญิง” ได้มีบทบาทและพลังอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ
วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จะพูดคุยกับ หญิงเก่งและแกร่ง “ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” ในฐานะกรรมการและกรรมการบริหาร บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ และผู้จัดทำผู้จัดทำนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ถึงบทบาทของผู้หญิงไทย ในยุคดิจิทัล ยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- สิทธิชาย-หญิงมีอยู่จริง แต่บางคนไม่ได้รับ
“ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิเท่าเทียมกันในหลายๆ ด้าน แต่ทั้งนี้ด้วยบริบทของสังคมก็ต้องยอมรับว่า ความเท่าเทียมบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นจริง ยิ่งในกลุ่มของผู้หญิงที่ต้องอยู่ภายใต้การพึ่งพาของผู้ชาย อำนาจผู้ชายเป็นใหญ่ย่อมเกิดขึ้นให้เห็น รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ความหดหู่ที่เกิดขึ้นแก่ผู้หญิง
ดร.ยุ้ย เล่าว่า ตอนนี้หากมองผู้หญิงในเมืองไทย จะเห็นได้ว่าผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในเกือบทุกแวดวง อย่าง นักธุรกิจในเมืองไทย มีผู้หญิงเก่งๆ ในระดับCEO เต็มไปหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางอาชีพ ที่ยังเห็นผู้หญิงน้อยมาก อาทิ นักการเมิอง หรือข้าราชการระดับสูง ในไทยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย
ตรงนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องของความเท่าเทียม หรือไม่เท่าเทียม เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากความเป็นผู้หญิง และผู้ชายร่วมด้วย เพราะผู้ชายชอบความเสี่ยง ความท้าทาย ต้องใช้ต้นทุนในการแข่งขันสูง ขณะที่ผู้หญิงมีความไม่ชอบเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย และไม่ชอบอะไรที่ไม่แน่นอน ดังนั้น ทำให้ ผู้หญิงไทย เข้าสู่บางอาชีพน้อย
- ลดพึ่งพารายได้ ลดความรุนแรง
“ไทยมีประชากรผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เช่น กทม. มีประชากรผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ6 % แต่การที่ผู้หญิงถูกจำกัดในบงอย่างส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เกิดจากตัวแปรของผู้หญิงเอง ที่อาจจะไม่กล้า มองว่าคงไม่เหมาะกับการจะทำอย่างนี้ สิ่งนี้ และอาชีพสส. นักการเมือง หลายคนอาจมองว่าทำแล้วไม่ได้ หรือ อาชีพวิศวะโยธา หลายคนก็มองว่าจะให้ผู้หญิงไปคุมไซต์งานได้กี่ครั้ง ทั้งที่ทุกอาชีพ ผู้หญิงเลือกที่จะทำได้ เพียงแต่บางคนเลือกไม่ทำ ไม่อยากทำ” ดร.ยุ้ย กล่าว
ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีอยู่ในทุกพื้นที่ ไทยมีผู้หญิงทำงาน การศึกษาดี ฐานะทางสังคมดี รายได้ดี แต่อีกมุมหนึ่งก็มีผู้หญิงที่อยู่ในชุมชนแออัด ต้องพึ่งพาแต่ผู้ชาย
ดร.ยุ้ย เล่าต่อว่าผู้หญิงมีหลาย segment และปัญหาการทำร้ายผู้หญิงยังคงมีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ 90% ถูกทำร้ายจนคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องพึ่งพารายได้จากผู้ชายจากรายได้ ก็จะไม่กล้าต่อสู้ จะยอมให้ผู้ชายกดขี่ข่มเหง ฉะนั้น ถ้าเกิดจะแก้ปัญหานี้ ต้องทำให้ผู้หญิงมีโลกของตนเอง ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้ชาย พวกเขาก็อยู่ได้ ต้องมีที่พึ่งให้พวกเขาสามารถยืน อยู่ได้ด้วยตนเอง
ในฐานะแม่ เมื่อมีลูกทุกคนต่างอยากเลี้ยงลูก แต่หลายคนเมื่อท้องต้องออกจากงาน เพราะไม่มีใครเลี้ยงลูกให้ ต้องพึ่งเฉพาะรายได้จากสามี ดังนั้น สามีจะทำอะไรกับภรรยาก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำร้ายร่างกาย หรือบางครอบครัวพอไม่มีเงินก็ไปกินเหล้า ไปยุ่งกับยาเสพติด ล้วนเกิดให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น และผลเสียส่วนหนึ่งจะตกอยู่กับผู้หญิง
- ความปลอดภัยเชิงกายภาพ -รายได้แก่ผู้หญิง
"การมีศูนย์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้ที่ทำงานอำนวยความสะดวกแม่ เช่น มุมให้นมเด็ก จึงจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้หญิงมีทางเลือก และเชื่อมั่นในตัวเอง ทำงานเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้” ดร.ยุ้ยกล่าว
ความรุนแรงในครอบครัว พ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง ลูกฆ่าแม่ พ่อตบตีแม่ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความยากจน เหล้า และยาเสพติด เพราะเมื่อขาดความมั่นคงทางรายได้ในชีวิต ย่อมขาดความมั่นคงในเชิงสังคม หญิงชายจึงเสมอภาค มีสิทธิเท่าเทียมกันในบางกลุ่ม
ดร.ยุ้ย กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว ไม่มีเวทมนตร์ที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ทันที แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ได้ สิ่งที่ควรจะมีในสังคม คือ ความปลอดภัย ทั้ง ความปลอดภัยในเชิงกายภาพ เช่น ให้ทุกถนนมีแสงสว่าง รถขนส่งสาธารณะครอบคลุมคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่มีเพียง 55% เพราะถ้าผู้หญิงต้องกลับบ้านดึกๆ ก็อันตราย
รวมถึงต้องมีความปลอดภัยในเชิงรายได้ ถ้าเราบอกว่าเราไม่มีรายได้ บ้านไม่มี และเราโสด ก็น่ากลัวเหมือนกัน ทำอย่างไรให้ทุกคนรู้สึกว่ามีชีวิตที่ปลอดภัย หรือมั่นคง มีรายได้ที่ทำให้ตัวเองไม่เป็นคนไร้บ้าน ทำอย่างไรให้คนไทยสามารถซื้อบ้านได้แต่วัยทำงาน เพราะไทยไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ถ้าไม่มีรายได้ ทำงานไม่ได้ เงินหลังเกษียณ 600 บาท คงไม่เพียงพอ
- ยกระดับ “สตรีไทย” ด้วยการศึกษา
“การศึกษา” เป็นหนทางหลักที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียมของชายหญิงในหลายมิติ เช่น มิติการทำงาน มิติการมีค่าของคนในสังคม ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ชาย-หญิง มีความแตกต่างกัน แต่ทุกคนต้องเคารพกัน ผู้ชายผู้หญิงต่างมีคุณค่าของตัวเอง
“เราถูกสอนว่าผู้ชายแข็งแรง มีกำลังมากกว่าผู้หญิง เช่นเดียวกันสารที่ผู้หญิงรับรู้ ผู้ชายก็จะรับรู้ ดังนั้น ในบางกลุ่มผู้หญิงกับผู้ชายไม่ได้เท่าเทียมกันจริงๆ ผู้หญิงกับเด็กมักถูกทำลายโดยคนใกล้ตัว การข่มขืน ร้อยละ 90 เกิดขึ้นจากคนในครอบครัว และเมื่อไปฝากความหวังไว้กับกฎหมาย อาจจะช่วยได้ แต่บางทีก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ดังนั้น จำเป็นต้องมีอาสาสมัครสังคมที่จะคอยสอดส่องช่วยดูแลเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ คนในชุมชน เพราะต้องป้องกันต้นเหตุไม่ให้เกิด”ดร.ยุ้ย กล่าว
- “ผู้หญิง”มีได้หลายบทบาท ทำได้ทุกอย่าง
ดร.ยุ้ย กล่าวว่า จริงๆ แล้ว บทบาทของผู้หญิงสามารถทำได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะผู้หญิงไทย เราอยู่ในประเทศประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิและมีเสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะหญิง หรือชาย รายได้ต่ำหรือสูง ซึ่งเมื่อเราอยู่ที่ประเทศประชาธิปไตย เราควรจะมีสิทธิ การแสดงออกภายใต้ขอบเขตที่มีประโยชน์ ต้องมีความคิดของตัวเอง ทำในเรื่องที่ถูกที่ใช้ เพราะวิถีประชาธิปไตยแม้จะมีหลายครั้งที่เป็นปัญหา แต่ถือเป็นวิถีที่ทุกประเทศมองว่าดีที่สุด
“คนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่เก่งเขามีข้อมูลและสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ได้หลากหลาย ฉะนั้น อย่ากระทำสิ่งใดที่เป็นลักษณะพวกรากไป คนอื่นมองว่าถูกเราก็ว่าถูก แต่ต้องมีความคิดเป็นของตนเอง และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น” ดร.ยุ้ย กล่าว
นอกจากบทบาทของ CEO ผู้บริหาร นักธุรกิจหญิง แม่ ภรรยา แล้ว “ดร.ยุ้ย” ยังมีบทบาทของผู้จัดทำนโยบายเพื่อกรุงเทพฯที่ดีกว่า เมืองน่าอยู่ รวมถึงแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่หญิงชายทั้งสิ้น
ดร.ยุ้ย กล่าวต่อไปว่าบทบาทของนักธุรกิจ เราจะสามารถทำหน้าที่ให้ได้ เช่น ให้สิ่งของ ให้อาหาร ให้ทุนต่างๆ แต่การที่เรามาร่วมกับทีมจัดทำนโยบายผู้ว่ากทม. ส่วนตัวไม่ได้มองตัวเองเป็นนักการเมือง และคนรอบตัวส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ แต่อยากออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง และเป็นคนกรุงเทพฯ เห็นปัญหามากมาย อยากช่วยแก้มากกว่าให้เพียงอย่างเดียว
ดังนั้น ไม่ว่าจะบทบาทหน้าที่ไหน ตนก็จำทำอย่างเต็มที่ ผู้หญิงทุกคนล้วนมีศักยภาพของตนเอง ต้องไม่ตัดสินว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่ขอให้ลองทำ ลองพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น