"สถานทูตญี่ปุ่น" หนุนทุนกลุ่มรากหญ้า พลิกชะตาหลังโควิด
"เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย" ลงนามข้อตกลง 3 โครงการ ช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางคนไทย และเมียนมาตามแนวชายแดน รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงของมนุษย์
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะสนับสนุนเงินทุนให้กับโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงกลุ่มเปราะบางชาวเมียนมา ผ่านความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ (จีจีพี) ในปี 2565
วันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้ลงนามข้อตกลงระหว่าง ตัวแทนจากองค์กรผู้ดำเนินโครงการ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางผ่านความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐาน และความมั่นคงของมนุษย์
นายนะชิดะ กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อโอกาสและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนระดับรากหญ้า รวมถึงเด็กไทย และเมียนมาที่อาศัยตามแนวชายแดน ถ้าในสถานการณ์ปกติ การเรียนการสอนก็คงเกิดขึ้นได้ตามปกติและประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง
"ก่อนหน้านี้ เด็กเมียนมามีโอกาสได้ข้ามมาเรียนหนังสือในฝั่งไทย แต่โควิด-19 และสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ เป็นโจทย์ใหญ่ให้ได้พวกเราได้คิดและช่วยเหลือเพื่อเติมเต็มฝันของเด็กๆ กลุ่มนี้ให้เป็นจริงอย่างไร" เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นกล่าว และเสริมว่าโชคดีที่มีองค์กรดูแลได้เห็นข้อดีข้อเสีย มาร่วมมือกันช่วยเหลือเด็กๆ ที่ไม่สามารถข้ามกลับไปประเทศเค้าได้ ได้เรียนรู้ภาษาไทย เมียนมา และอังกฤษ ติดอาวุธทางปัญญา เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับพวกเขาได้ใช้ในอนาคต
โดยรายละเอียดของโครงการมีดังนี้
1.โครงการก่อสร้างศูนย์การศึกษาเด็กชุมชนด้อยโอกาสในพื้นที่ของ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมอบให้กับมูลนิธิสุวรรณนิมิตได้ดำเนินโครงการ มีมูลค่าทั้งสิ้น 3,345,700 บาท
2.โครงการจัดหารถโมบายเคลื่อนที่เพื่อช่วยการตรวจหาเชื้อเอชไอวี และรถจำหน่ายอาหารสำหรับกลุ่มคนทำงาน ผู้ค้าบริการทางเพศ ผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร และพัทยา ซึ่งมอบให้มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) มีมูลค่า 2,656,600 บาท
3.โครงการสร้างอาคารเรียนสำหรับเด็กชุมชนด้อยโอกาส ในพื้นที่ของ จ.พังงา โดยมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (FED) เป็นดูแล มีมูลค่า 3,780,000 บาท
รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนโครงการในประเทศไทยผ่านความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ มาตั้งแต่ปี 2532
ปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนอย่างหลากหลาย เมื่อรวมกับ 6 โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วในปีนี้ จะมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนรวมทั้งจำนวน 409โครงการ