“วันไตโลก ปี 65” สปสช. ร่วมรณรงค์ “สร้างเสริมภูมิความรู้ควบคู่การดูแลไต”

“วันไตโลก ปี 65” สปสช. ร่วมรณรงค์ “สร้างเสริมภูมิความรู้ควบคู่การดูแลไต”

“วันไตโลก ปี 65” สปสช.รณรงค์ ”สร้างเสริมภูมิความรู้ควบคู่การดูแลไต” เผยปัจจุบัน “กองทุนบัตรทอง” ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทั้งล้างไตผ่านช่องท้องและฟอกไตกว่า 6.3 หมื่นคน พร้อมพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ป่วยไตต่อเนื่อง “เลือกล้างไตแบบที่ใช่”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันไตโลก’ หรือ ‘World Kidney Day’

โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม ภายใต้คำขวัญ ”สร้างเสริมภูมิความรู้ ควบคู่การดูแลไต” เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคและชะลอการเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องบำบัดโดยการล้างไตไปตลอดชีวิต

ในอดีตมีผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตลง เพราะด้วยค่าใช้จ่ายสูงจนเป็นอุปสรรคในการการรักษาและได้ขึ้นชื่อว่าเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวตกอยู่ในภาวะล้มละลาย

จากสถานการณ์ดังกล่าว สปสช. ได้บรรจุให้การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง โดยเริ่มในปี 2551 ด้วยขณะนั้นยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านงบประมาณ หน่วยบริการล้างไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียม และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแล

 

  • ผู้มีสิทธิบัตรทองเลือกฟอกไตในแบบที่ใช่

ดังนั้นระยะแรกจึงเป็นการดำเนินการนโยบาย “ล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก” (CAPD First Policy) ซึ่งการล้างไตวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ มีความสะดวก ไม่ต้องเดินทางไปรับบริการที่หน่วยบริการ

โดยดูแลควบคู่กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องฟอกไตและการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศได้เข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากให้การดูแลครอบคลุมบริการที่จำเป็นแล้ว เช่น การจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ผู้ป่วยที่บ้าน บริการยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง (EPO) เป็นต้น

ยังได้ยกระดับบริการโดยนำร่องบริการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยล้างไตขณะหลับช่วงเวลากลางคืนได้ และสามารถทำงานหรือเรียนเป็นปกติในช่วงกลางวันได้    

สำหรับในปีนี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สปสช. ได้เริ่มดำเนินการนโยบายตามมติ บอร์ด สปสช. ที่เปิดให้ “ผู้มีสิทธิบัตรทองเลือกฟอกไตในแบบที่ใช่” เพื่อเปิดทางเลือกให้ผู้ป่วยไม่ประสงค์จะล้างไตทางหน้าท้องแต่ต้องการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือด

สามารถร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไตร่วมกับแพทย์ได้ โดยแพทย์จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านให้ผู้ป่วยเข้าใจและตัดสินใจได้ใช้วิธีที่ถูกต้องในการรักษา เป็นการเคารพสิทธิการตัดสินใจของผู้ป่วย และลดภาระค่ารักษาให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

  • เน้นป้องกัน ชะลอภาวะเสื่อมของไต

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงปัจจุบันนี้ มีผู้ป่วยที่เปลี่ยนจากล้างไตทางช่องท้องมาเป็นฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 5,282 คน

ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 63,694 ราย แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 32,892 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 24,256 รายและผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO 6,546 ราย

จะเห็นได้ว่าภาวะโรคที่คุกคามสุขภาพประชาชน ในแต่ละปียังมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ เพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2565 นี้ สปสช.จัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 9,731.3395 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ เข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

วันไตโลกในปีนี้ เป็นการรณรงค์มุ่งเน้นการป้องกัน ชะลอภาวะเสื่อมของไตที่นำไปสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งภายใต้บัตรทองมีประโยชน์การบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ทีเป็นการดูแลสุขภาพประชาชน และนำไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังไตวายระยะสุดท้าย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso