3 ข้อเสนอขับเคลื่อนระบบ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ไทย

3 ข้อเสนอขับเคลื่อนระบบ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ไทย

"บอร์ด สปสช." รับทราบรายงานการศึกษาเรื่องการปฏิรูป "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ของประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สรุป 3 ข้อเสนอขับเคลื่อนระบบ ร่วมสร้างความยั่งยืนด้านการคลัง ยกระดับครอบคลุมทุกคน และเพิ่มประสิทธิภาพระบบอย่างต่อเนื่อ

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ "บอร์ด สปสช." เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai universal health coverage reform for sustainable development) ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายให้รับรายงานดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นสรุปผลการพิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ

 

สาระสำคัญของผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพรวม ในประเด็นเรื่องการรวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐและการบริหารจัดการเป็นแบบกองทุนเดียว (Single fund) พบว่า มีหน่วยงานไม่เห็นด้วย และมีความเห็นที่ค่อนข้างแตกต่างหลายหลาย 

 

3 ข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ 

 

อย่างไรก็ดี ในประเด็นเรื่องการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หน่วยงานส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ซึ่งมีข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ 3 ข้อ ได้แก่

 

1.ยกระดับการบูรณาการและความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง

2.ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคน

3. เพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของข้อเสนอการยกระดับการบูรณาการและความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง ด้านสิทธิประโยชน์ และด้านการบูรณาการนั้น มีการขับเคลื่อนในกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นเอกภาพ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านสาธารณสุข เช่น การบูรณาการสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การบูรณาการการดูแลผู้ป่วย โรคโควิด-19 การบูรณาการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ข้อมูลบริการสุขภาพร่วมกัน

 

ขณะเดียวกัน ก็เห็นด้วยกับการมีชุด สิทธิประโยชน์ หลักที่ครอบคลุมบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและเบิกจ่ายในรูปแบบเดียวกัน เพื่อยกระดับการบูรณาการความยั่งยืนด้านการเงินการคลังสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบ

 

นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการปรับระบบให้กองทุนต่างๆ มีการบริหารจัดการไปในทิศทางที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของกองทุนต่างๆ และเห็นด้วยกับการเน้นการจัดการด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เป็นประเด็นหลัก โดยบูรณาการงบ P&P ของหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่เห็นด้วยกับการรวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นกองทุนเดียว (Single fund) เนื่องจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เป็นผู้ที่ต้องร่วมจ่ายเงินผ่านการเก็บเงินสมทบ

ขณะเดียวกัน ก็เห็นด้วยกับแนวคิดการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ (Strategic purchasing) สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งรวมถึงธรรมาภิบาลของการใช้จ่ายงบค่าบริการสาธารณสุขที่รัฐจัดให้ การใช้ระบบงบประมาณปลายปิด มีกลไกเฝ้าระวังด้านราคาและควบคุมการเบิกจ่ายให้มีประสิทธิภาพ ขยายศักยภาพการประเมินความคุ้มค่า สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

 

รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลทางการแพทย์ที่ราคาเหมาะสม เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพในยุคสังคมดิจิทัล และสนับสนุนการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นด้วยกับการเพิ่มแหล่งเงินเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและมีความยั่งยืน โดยเน้นการจ่ายก่อนป่วย และคำนึงถึงความเป็นธรรม และมองว่าควรมีการบูรณาการระบบข้อมูลของหน่วยงานต่างๆอย่างจริงจัง

 

ส่วนการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ และคนต่างด้าว โดยเป็นประกันสุขภาพภาคบังคับ ร่วมจ่ายก่อนป่วย และบูรณาการการบริหารจัดการ (Unification) และรวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว (single fund) นั้น

 

ทั้งนี้ การขยายความครอบคลุมประกันสุขภาพภาคบังคับไปยังคนต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาในประเทศไทย เป็นเป้าหมายหนึ่งของกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านสาธารณสุข ส่วนระบบประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวที่กระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลอยู่ในขณะนี้ เป็นการดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามมติ ครม. ไม่มีกฎหมายระดับชาติ ขาดอำนาจในการบังคับและการกำกับติดตาม จึงเกิดช่องว่างในการหลีกเลี่ยงการซื้อประกันสุขภาพ

 

ดังนั้น ควรมีกฎหมายที่ชัดเจนรองรับการดำเนินการคู่ขนานไปกับระบบประกันสังคม หรืออีกทางหนึ่งคือ การแก้ไขมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ให้ครอบคลุมบุคคลที่ไม่ใช่คนไทยที่อยู่บนแผ่นดินไทย เพื่อให้มีอำนาจในการดูแลกลุ่มดังกล่าว

นอกจากนี้แล้ว ยังเสนอให้สถานประกอบการขึ้นทะเบียนลูกจ้างต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคม และควรให้บุคคลที่ไม่ใช่คนไทยทั้งหมดเข้าสู่ระบบประกันสังคม หรือ จัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ คนต่างด้าว คนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเป็นการเฉพาะและบริหารระบบเดียว


ขณะที่ข้อเสนอเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาและสนับสนุนการจัดบริการแบบเน้นคุณค่า (Value-based healthcare) นั้น หน่วยงานต่างๆให้การสนับสนุนและการจัดบริการแบบเน้นคุณค่า ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับกิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การปฏิรูปเขตสุขภาพฯ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านสาธารณสุข โดยการพัฒนาการจัดบริการสาธารณสุขแบบเน้นคุณค่า ต้องคำนึงถึงภาพอนาคตของระบบสาธารณสุข ที่ต้องมีการนำนวัตกรรมใหม่และเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลมาใช้

 

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดบริการเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เน้นการรับบริการที่บ้าน การเปิดโอกาสให้ประชาชนรับผิดชอบดูแลตนเองและคนในครอบครัวมากขึ้น และการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การจัดบริการแบบเน้นคุณค่า  ขณะนี้บางส่วนอยู่ในระหว่างการพัฒนาต้นแบบและวิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องพัฒนาการจ่ายชดเชยค่าบริการแบบเน้นคุณค่า (Value based payment) ควบคู่กันไปด้วย