ผ่อนคลายโควิดครบสูตร ยกเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"
จับตามาตรการควบคุม "โควิด-19" หลังศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เตรียมเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ผ่อนคลายการควบคุมโรคโควิด หวังเศรษฐกิจเดินหน้า ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกที่ยังเพิ่มขึ้น 8%
วันนี้ (18 มี.ค.) ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เตรียมเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ถึงมาตรการผ่อนคลายในหลายเรื่อง เช่น การปรับโซนสีพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อ-หายป่วยในแต่ละพื้นที่ งานสงกรานต์จัดได้ตามประเพณีแต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง ใช้กลไกของท้องถิ่นมาช่วยกำกับลงไปถึงระดับหมู่บ้าน จัดโซนนิ่งให้ทำกิจกรรมตามประเพณีภายใต้การควบคุมโรค
รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดสถานบันเทิงเพื่อให้กลับมาเปิดให้บริการแบบสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ และพิจารณาเรื่องการปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอีกด้วย
ก่อน ศบค.ชุดใหญ่ ประชุมลองไปทบทวนสถานการณ์โลกกันสักนิด วันก่อนองค์การอนามัยโลกแถลงว่าหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงกว่าหนึ่งเดือน แต่ระหว่างวันที่ 7-13 มี.ค. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า คิดเป็นตัวเลข 11 ล้านคน เสียชีวิตเพิ่ม 43,000 คนเศษ เพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นเดือน ม.ค. ที่เพิ่มมากสุดคือภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกของดับเบิลยูเอชโอ ที่รวมถึงเกาหลีใต้และจีน ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 25% เสียชีวิตเพิ่ม 27% ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่
1) สายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์ย่อย BA.2 ติดต่อกันได้ง่าย
2) การยกเลิกมาตรการสาธารณสุขและมาตรการควบคุมการเข้าสังคม
3) บางประเทศลดการตรวจหาเชื้อ
4) บางประเทศอัตราการฉีดวัคซีนต่ำส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้ข้อมูลบิดเบือน
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกถือว่ามองข้ามไม่ได้ ขณะเดียวกันพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ. ศปก.ศบค. ย้ำถึงความจำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการเพราะอยากให้เศรษฐกิจเดิน ให้ประชาชนมีงานทำมีรายได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยมีมาตรการที่ดีที่สุดออกมาช่วยควบคุม เพื่อให้ตัวเลขการติดเชื้อไม่มีอันตราย
เรื่องนี้ยอมรับว่าจริง ทุกประเทศรู้ดีว่ามาตรการคุมโควิดอาจสกัดโรคได้ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ส่งผลเสียหายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ ครั้นเจอสายพันธุ์โอมิครอน มาตรการเข้มงวดก็เอาไม่อยู่ หลายประเทศจึงพากันยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ให้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติรัฐบาลมีหน้าที่จัดฉีดวัคซีนให้ประชากร ซึ่งอัตราการฉีดวัคซีนรวมถึงเข็มกระตุ้นในประเทศเหล่านี้ถือว่าสูง
อีกคำถามที่ต้องถามคือถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะที่ผ่านมาฝ่ายรัฐยืนยันมาตลอดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำเป็นเพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันประชาชน
ถึงวันนี้ทุกคนทราบดีว่า วัคซีนต่างหากที่เป็นเครื่องมือป้องกันประชาชน จำนวนผู้ติดเชื้อแม้เพิ่มสูงแต่การเสียชีวิตยังไม่น่าห่วงเพราะคนได้รับวัคซีนไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะผ่อนคลายก็น่าจะผ่อนให้ครบสูตรเพราะโรคร้ายป้องกันได้ด้วยวัคซีน รักษาได้ด้วยยา ไม่ใช่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน