จับตาโควิด19โอมิครอน ลูกผสม BA.1+BA.2
หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาฯ ระบุจับตาโอมิครอน ลูกผสม BA.1+BA.2 เท่าที่ดูข้อมูลยังไม่พบการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คนที่ติดไม่มีอาการรุนแรง ไม่ต่างจากโอมิครอนทั่วไป
เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการพบสายพันธุ์ลูกผสม (Recombination) ระหว่างเดลตากับโอมิครอนเป็นเดลตาครอนและลูกผสมโอมิครอนด้วยกันระหว่าง BA.1+BA.2 ว่า เดลตาครอนขณะนี้ส่วนใหญ่พบในฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ อังกฤษมีบ้าง เท่าที่ดูข้อมูลยังไม่พบการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คนที่ติดไม่มีอาการรุนแรง ไม่ต่างจากโอมิครอนทั่วไป
ข้อมูลในฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISAID พบสายพันธ์ุเดลตาครอนมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละพื้นที่ จำนวนไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ แสดงว่าเดลตาครอนเปรียบเหมือนเด็กที่เกิดมาเป็นเด็กไม่แข็งแรงสมบูรณ์หรือพิการ เพราะฉะนั้นก็จะแพร่ระบาดสืบทอดลูกหลานได้ไม่ดี ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ุที่น่ากังวล (Variants of concern-VOC) เพียงแต่ WHO ออกมาเตือนล่วงหน้าว่ามีสายพันธ์ุลูกผสมนี้เกิดขึ้น เพื่อให้ระมัดระวัง
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นโอมิครอนครองพื้นที่ส่วนใหญ่ อาจจะเกิดเดลตาครอนได้ยาก หากจะมีเกิดขึ้นน่าจะเป็นการนำเข้าจากประเทศอื่นมากกว่า แต่ไม่่ว่าจะเกิดประเทศใดก็ตามหากมีการระบาดก็สามารถแพร่กระจายได้ทั่วโลก แม้แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีการล็อคดาวน์ เชื้อก็ยังหลุดเข้าไปได้ผ่านสิ่งของวัสดุภัณฑ์ เพราะเชื้อไวรัสสามารถอยู่บนพื้นผิวได้ 7-8 วัน เป็นธรรมชาติ แม้จะควบคุมอย่างไรก็สามารถหลุดเข้าไปได้เพราะไวรัสเป็นนักฆ่าเพื่อความสมดุล
ส่วนลูกผสมโอมิครอนด้วยกันระหว่าง BA.1+BA.2 เป็นตัวที่น่าจับตามากกว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่มีการคำนวณผ่านระบบคอมพิวเตอร์คร่าวๆ จากรหัสพันธุกรรมที่ถอดได้กับระยะเวลาที่พบเชื้อพบอัตราการติดเชื้อที่แพร่ได้มากขึ้นจาก BA.2 ในสัดส่วน 126% แต่การคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ในธรรมชาติหรือหน้างานต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักพัก อย่างไรก็ตาม นอกจากพบในอิสราเอลตามที่ปรากฎข่าว ใน GISAID มีรายงานการพบที่อังกฤษและไอร์แลนด์ 267 ราย เท่าที่ดูข้อมูลรหัสพันธุกรรมยังไม่มีการนำส่วนสำคัญที่สร้างโปรตีนหนามสไปค์มาแลกเปลี่ยนกันเป็นลูกผสม
ความรุนแรงก็อาจจะยังไม่ต่างจากสายพันธ์ุย่อยโอมิครอน อย่างไรก็ตามยังต้องจับตามองว่าท้ายที่สุดจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกที่ 6 หรือไม่ โดยพิจารณาหากผสมกันแล้วมีอัตราการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเหนือกว่าตัวอื่นอย่างมากจนชนะ ขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถระบุเป็นฆาตกรหรือคนดี จนกว่าจะเห็นพฤติกรรมความรุนแรง ทั้งนี้ WHO ได้ออกมาเตือนถึงการมองโอมิครอนจะเป็นสายพันธ์ุสุดท้าย ทำให้คนการ์ดตก หรือมองว่ากำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น
ซึ่ง WHO มองว่าน่าจะมีสายพันธ์ุที่กลายพันธ์ุได้มากกว่าโอมิครอนที่อาจจะเป็นการระบาดระลอกที่ 6 ซึ่งโอมิครอนกลายพันธ์ุไปจากอู่ฮั๋นประมาณ 100 ตำแหน่ง ตัวที่ 6 จะต้องกลายพันธ์ุมากกว่าโอมิครอนหลายตำแหน่ง แต่จะร้ายกาจรุนแรงหรือไม่ยังไม่รู้ ลูกผสม BA.1+BA.2 เป็นแคทดิเดตหนึ่งที่ต้องจับตา สำหรับประเทศไทยที่ศูนย์จีโนมฯ ยังไม่พบลูกผสม BA.1+BA.2 แต่หากพบก็ไม่น่าประหลาด เพราะไวรัสสามารแพร่มาได้ทุกทางหากการ์ดตก จึงต้องพยายามฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วโลก