เปิดประสิทธิภาพ"ยาฟาวิพิราเวียร์"รักษาโควิด19

เปิดประสิทธิภาพ"ยาฟาวิพิราเวียร์"รักษาโควิด19

สธ.ยัน"ยาฟาวิพิราเวียร์"มีประสิทธิภาพรักษาติดโควิด19ไม่รุนแรง ช่วยให้อาการดีขึ้น มีความปลอดภัย ขออย่าด้อยค่าจนผู้ป่วยเสียโอกาส

 เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 ประเด็น "ประโยชน์ของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด19 " นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า หลักการในการนำยามารักษาคนไข้ คือ มีประสิทธิภาพดี ไม่มีผลข้างเคียง และมีความเหมาะสมกับคนไข้ แต่ในกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก สิ่งที่ต้องพิจารณาต้องมีมากขึ้น อย่างเช่น ยารักษาสามารถทำให้ผู้ป่วยหายได้ ดีกว่าไม่ให้ยาราว 30-40% ถือว่าดีมากแล้ว ปลอดภัย ไม่ทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลง รวมถึง สถานการณ์การระบาด ความสามารถในการจัดหา ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่สามารถจัดหามาได้ และจากการศึกษาเบื้องต้น จากประสบการณ์การรักษาของแพทย์ พบว่า ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ได้รับยาเร็ว โอกาสอาการรุนแรงลดลง และมีการรวบรวมข้อมูล ประเมินมาโดยตลอด

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า มีคณะผู้เชี่ยวชาญทำวิจัยเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิด19 ร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ ยกตัวอย่าง การศึกษาของศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิจัยการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้ป่วย 62 ราย ได้รับยาตามสูตรมาตรฐานปกติที่รักษาผู้ป่วย คือ ขนาด 1,800 มิลลิกรัม(มก.) วันละ 2 ครั้งในวันที่ 1 ต่อด้วยขนาด 800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันต่อมา และกลุ่มที่ 2 จำนวน 31 รายไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยผู้ป่วยในโครงการจะได้รับยาเฉลี่ย 1.7 วันหลังเริ่มมีอาการป่วย

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น 79% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนั้น 2 กลุ่มนี้ จะเห็นว่าการให้ยาทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้คณะผู้วิจัยมีความมั่นใจว่ายาฟาวิพิราเวียร์ทำให้อาการดีขึ้น จึงได้ข้อสรุปว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ให้วันละ 1,800 มก.วันละ 2 ครั้งในวันแรก และต่อด้วยขนาด 800 มก.วันละ 2 ครั้งในวันต่อมานานอีก 4 วัน เป็นยาที่ควรเริ่มเร็วและช่วยลดอาการป่วยได้สำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญกว่าการไม่รับยา

นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับยาอาการจะดีขึ้น 79% เทียบกับกลุ่มไม่ได้รับยาอาการจะดีขึ้นเพียง 32.3% กลุ่มที่ได้รับยาจะมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และวันที่ 13 และวันที่ 28 จะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา จึงเป็นที่มาที่คณะแพทย์มีความเชื่อมั่นการใช้ยานี้ และรูปแบบการใช้ยาก็กินง่าย ไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องกังวล เพียงแต่มีข้อจำกัดในผู้ป่วยรักษาช้า หรือมีอาการหนัก ประสิทธิภาพอาจไม่ดีนัก สธ.จึงมีคำแนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ที่มีอาการไม่หนัก และรักษาเร็ว

เปิดประสิทธิภาพ\"ยาฟาวิพิราเวียร์\"รักษาโควิด19

"ที่ผ่านมารักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยไปเป็นล้านคนแล้ว ขอยืนยันให้เชื่้อมั่นในยาที่ใช้รักษา ขอความกรุณาอย่าด้อยค่ายาที่รักษา เคยมีปัญหาด้อยค่าวัคซีน ทำให้หลายคนเสียโอกาสการรับ บางคนกลัวการรับวัคซีน จนหลายรายน่าเสียใจที่ต้องเสียชีวิต เนื่องจากไม่ได้รับวัคซีน" นพ.โอภาส กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นศาลปกครองกลางฟ้องนายอนุทิน ชาญวีรกูล ริงนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฐานใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ ในการผลักดันการจัดซื้อจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มเติมแบบไม่หยุดหย่อน ทั้งที่ยาดังกล่าวประเทศผู้ผลิตยังไม่อนุมัติให้ใช้ เพราะอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
เปิดประสิทธิภาพ\"ยาฟาวิพิราเวียร์\"รักษาโควิด19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม(อภ.)สามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้ภายในประเทศ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ภายใต้ชื่อ ฟาเวียร์ (200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) และได้มีการปรับแผนขยายการผลิตเพิ่มเพื่อลดการจัดหาจากต่างประเทศ โดยในเดือนส.ค.2564 ดำเนินการผลิตแบบบรรจุแผง จำนวน 2.5 ล้านเม็ด และจะเพิ่มการผลิตแบบบรรจุใส่ขวด ในเดือนก.ย.2564 ผลิตยาได้ จำนวน 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนต.ค.2564  สามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน

ทั้งนี้ โรงงานยาของอภ. 2 แห่ง คือ โรงงานที่ถนนพระรามที่ 6 และโรงงานผลิตยาขององค์การเภสัชกรรมเองที่คลอง 10  อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี มีศักยภาพสามารถผลิตยาได้ถึง 2,000 ล้านเม็ดต่อปี หรือเดือนละไม่น้อยกว่า 160 ล้านเม็ดต่อเดือน พร้อมนำมาปรับใช้สำหรับขยายกำลังการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้ถ้ามีความต้องการเพิ่มขึ้น