4 ข้อควรระวัง ใช้เจลแอลกอฮอล์-สเปรย์แอลกอฮอล์
กรมวิทย์เผย 4 ข้อควรระวัง ใช้เจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ แนะวิธีเลือกให้ปลอดภัย หลังยังพบผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพ พบไม่ได้มาตรฐานอยู่บ้าง
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หนึ่งในมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 และหากไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่และน้ำได้ ทั้งนี้แนะนำให้ใช้ เจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ที่เรียกโดยรวมว่า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องล้างน้ำออก จัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางควบคุมมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ เนื่องจากมีแอลกอฮอล์ ส่วนประกอบสำคัญ ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ คือ เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ ในปริมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร และอาจมีสารฆ่าเชื้อ เช่น ไตรโคลซาน สารที่ทำให้เกิดสภาพเจล เช่น คาร์โบเมอร์ สารให้ความชุ่มชื้น ลดการแห้งของผิว เช่น ว่านหางจระเข้ ทีทรีออยล์ กลีเซอรอล สีและน้ำหอม เป็นส่วนผสม
สำหรับข้อควรระวังและปัญหาที่มักพบในการใช้เจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ มีดังนี้
1. ระเหยเร็ว การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต้องระมัดระวัง เนื่องจากเป็นสารที่ระเหยง่าย เมื่อหยดหรือฉีดลงบนฝ่ามือแล้ว ควรยื่นให้ออกห่างจากใบหน้าและลำตัว เพื่อป้องกันไอระเหยเข้าสู่จมูกและตา หรือหันหน้าออกไม่ให้รับไอระเหยโดยตรง ถูให้ทั่วทั้งฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้ว และเล็บ แล้วปล่อยให้ระเหยหรือแห้งหมดก่อนที่จะไปสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกาย และควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เพื่อป้องกันการระเหย ของแอลกอฮอล์ และการเปิดภาชนะบ่อยๆ อาจทำให้ปริมาณความเข้มข้นแอลกอฮอล์ลดลง จนส่งผลให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อลดลง
2. ติดไฟง่าย ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ซึ่งสามารถติดไฟได้ ดังนั้นการใช้ ควรอยู่ให้ห่างจากเปลวไฟ โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ ควรระวังเป็นพิเศษ
3. ระคายเคืองผิวหนังและดวงตา ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กับเด็กทารก และบริเวณผิวบอบบาง เช่น รอบดวงตา และบริเวณที่ผิวอักเสบ มีสิว มีบาดแผล เมื่อหยดเจลแอลกอฮอล์หรือฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ ลงบนฝ่ามือแล้ว ไม่ควรสัมผัสใบหน้า จมูก และตา
4. เครื่องสำอางปลอม หากมีการนำเมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอล์ มาผสมในผลิตภัณฑ์มากกว่าร้อยละ 5 จะจัดเป็นเครื่องสำอางปลอม เนื่องจากเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรม และห้ามใช้กับร่างกาย อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น การสัมผัสทางผิวหนัง จะทำให้เกิดการสูญเสียชั้นไขมันของผิวหนัง แห้ง แตก เกิดผื่นแดง การหายใจรับไอระเหยของเมทานอลอาจทำให้หลอดลม ลำคอ และเยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจ หรือสัมผัสในปริมาณมาก อาจทำให้ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก การมองเห็นผิดปกติและอาจตาบอดได้ เนื่องจากลักษณะภายนอกของเมทิลแอลกอฮอล์และแอลกอฮอล์ที่อนุญาตให้ใช้ได้ ไม่มีความแตกต่างกันจึงไม่สามารถตรวจสอบได้จากลักษณะ สี หรือกลิ่น ต้องทดสอบด้วยเทคนิค ทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น
“ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ มาตรวจวิเคราะห์ที่สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ก่อนขอจดแจ้งกับ อย. ซึ่งยังคงตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่บ้าง ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ นั้น ผู้บริโภคต้องดูฉลากผลิตภัณฑ์ ระบุข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วิธีใช้ คำเตือน และต้องสังเกตเลขจดแจ้งที่ฉลาก หรือหากไม่แน่ใจ สามารถตรวจสอบเลขจดแจ้งผลิตภัณฑ์ฯ ได้ที่เว็บไซต์ของ อย.” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว