ไทยเจอโควิดไฮบริด"เดลตาครอน" 73 ราย คาดเป็นช่วงเดลตาปะทะโอมิครอนธ.ค.-ม.ค.
กรมวิทย์เผยโอมิครอนครองไทยทั้งหมด เจอโควิดไฮบริด “เดลตาครอน” 73 ราย หายดีแล้ว ย้ำยังไม่น่าตกใจ ฮูยังจัดชั้นเป็นแค่สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม ยังไม่ใช่สายพันธุ์น่าสนใจ จับตา “เดลตาครอน”แพร่ต่อได้เร็วแค่ไหน
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 ประเด็น “ความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด19 ในประเทศไทย รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(12-18 มี.ค.2565) มีการสุ่มตรวจเกือบ 2,000ราย พบว่า
เป็นเดลตาเพียง 1 ราย คิดเป็น 0.05 % ที่เหลือเป็นโอมิครอนทั้งหมด คิดเป็น 99.95 % ขณะนี้สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยเรียกได้ว่าเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด 100 %
เมื่อตรวจสอบ สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน พบว่า
- โอมิครอน BA.1 จำนวน 406 ราย
- โอมิครอน BA.2 จำนวน 1,479 ราย
และยังไม่พบBA.3ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยBA.2 เจอเป็นส่วนใหญ่มีสัดส่วนอยู่ที่ 78.5 % จากที่5-6สัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 18.5 % เนื่องจากแพร่ได้เร็วกว่าโอมิครอนBA.1 ประมาณ 1.4 เท่า เพราะฉะนั้น ในเวลาถัดไปจะเห็นสัดส่วนของBA.2มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนว่าBA.2รุนแรงกว่าBA.1หรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อมูล ไม่ได้มีความแตกต่าง เพียงแต่แพร่เร็วกว่า การติดจะทำให้ตรวจพบการติดเชื้อได้จำนวนมากกว่า โดยพบกระจายในทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศและมีสัดส่วนมากกว่าBA.1 โดยมีสัดส่วนBA.2 ตั้งแต้ 50-90 % ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 9 ที่การตรวจตัวอย่างจำนวนน้อย จึงเกิดสัดส่วนที่อาจจะคลาดเคลี่อน
ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอนย่อยBA.2
สัดส่วนกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มตรวจสายพันธุ์และสายพันธุ์ย่อยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แยกเป็น
- ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 76.49 %
- กลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศ 11.76 %
- กลุ่มที่อาการรุนแรงหรือเสียชีวิตทุกราย 6.43 %
- กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 3.49 %
- กลุ่มที่สงสัยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เช่น ค่าCtต่ำกว่าปกติ 1.37 %
- คลัสเตอร์ใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 คนขึ้นไป 0.14 %
- กลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ 0.3 %
“ทุกกลุ่ม BA.2 ก็เป็นสายพันธุ์หลัก เปอร์เซ็นต์ไม่ได้แตกต่างกัน โดยในคนที่เสียชีวิตเจอ BA.2 อยู่ที่ 60% ซึ่งไม่ได้มากกว่าสัดส่วนภาพรวมที่อยู่ 80% และคนที่เสียชีวิต อาจจะเป็นคนติดเชื้อเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ต้องไปดูสัดส่วน BA.2ในช่วงนั้นเช่นกัน แต่สรุปเบื้องต้น BA.2ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ทำให้เสียชีวิตมากขึ้นแต่อย่างใด”นพ.ศุภกิจกล่าว
ส่วนเมื่อแยกย่อยสายพันธุ์ย่อยของBA.2 เป็นBA.2.2 และBA.2.3 ซึ่งจนถึงวันที่ 23 มี.ค.ใน GISAID ยังไม่เจอ หมายความยังไม่ถูกกำหนดเป็นสายพันธุ์ที่ชื่อว่า BA.2.2 เพียงแต่รับรู้รับทราบว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นข้อมูลจะบอกว่าแพร่กระจายเร็ว หรือรุนแรง หนีวัคซีนได้ดีหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ฮ่องกงก็ยังไม่ได้ยืนยันว่าที่เสียชีวิตมากขึ้นเป็นเพราะBA.2.2หรือไม่
สำหรับในประเทศไทยจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวสัปดาห์ละ 500-600 ราย พบBA.2.2 14 รายติดเชื้อในประเทศ จากต่างประเทศ 8 ราย BA.2.3 เจอ ในประเทศ 27 ราย จากต่างประเทศ 34 ราย ซึ่งสอดคล้องกับที่มีการรายงานเข้าไปใน GISAID ที่พบBA.2.2 น้อยกว่า BA.2.3 แต่เนื่องจากการกลายพันธุ์ตรงนี้ไม่ได้มีผลมากมาย ท้ายที่สุดอาจจะหายไป ไม่ได้มีประเด็นอะไรมากมาย
ไทยเจอเดลตาครอน 73 ราย
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนเดลตาครอน ต้องทำความเข้าใจว่ากรณี 2 เชื้อมาอยู่ด้วยกัน มี 2 กรณี คือ 1. ตรวจพบ 2 สายพันธุ์ในคนเดียว แต่เชื้อแต่ละตัวจะเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ และ 2. เชื้อ 2 ตัวมาเจอกันเกิดผสมพันธุ์กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มี 2 สายพันธุ์ในตัวเดียว หรือเรียกว่าไฮบริจด์ ขณะนี้สิ่งที่เจอคือสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมาจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ส่วนเดลตามาจากสายพันธุ์ย่อย AY4 เกิดเป็นเดลตาครอน ซึ่งมีรายงานเข้าไปที่ GISAID ประมาณ 4 พันกว่าราย แต่ที่ยอมรับและสรุปว่าเป็นเดลตาครอนจริงแล้วมี 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย ที่เหลือกระจายประเทศอื่นๆ เล็กน้อย ส่วนอีก 4 พันกว่ารายรอการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าใช่เดลตาครอนหรือไม่
“ในจำนวน 4,000 รายเป็นรายงานที่ประเทศไทยส่งไปด้วย 73 ราย แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะถ้าเดลตาลดลงเรื่อยๆ โอกาสที่จะมาผสมกับโอมิครอนก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีเดลตาเหลือให้ผสมแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าเจ้าเดลตาครอนที่พบแล้วนั้นมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไรหรือไม่ เช่น แพร่เร็ว อนาคตก็อาจจะเห็นการแพร่แทนโอมิครอน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นวี่แววว่าเป็นแบบนั้น ในส่วนความรุนแรงก็ไม่ได้มีข้อมูล ขณะที่องค์การอนามัยโลกหรือฮูก็ยังจัดชั้นเดลตาครอนว่าเป็นสายพันธุ์ที่ต้องตามดูข้อมูล ยังไม่ได้จัดชั้นว่าเป็นสายพันธุ์น่าสนใจ หรือน่าห่วงกังวล แต่ก็ต้องติดตามดู”นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า สรุป สถานการณ์การระบาดของไทยปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นโอมิครอน สายพันธุ์ย่อยเป็น BA.2 เกือบ 80 % และน่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์ BA.2.2 และ BA.2.3 เจอประปรายจากการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ส่วนเดลตาครอนทั่วโลกยืนยัน 64 รายอีก 4,000รายรอสอบข้อมูล ส่วนไทยส่งไป 73 ราย ซึ่งเป็นตัวอย่างช่วงที่ยังมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาอยู่มาก ปัจจุบันเดลตาลดลงมาก องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์ต้องเฝ้าระวัง ยังไม่มีข้อมูลแพร่เร็ว รุนแรงหรือหลบภูมิฯมากกว่าเดิม ดังนั้นมาตรการทั่วไปที่ทำอยู่ปัจจุบันก็ยังใช้ได้ในการป้องกัน แต่ต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ก่อนสงกรานต์
“อยู่กับโควิดมายาวนานต้องมีการปรับตัวอยู่ร่วมได้ การใช้ชีวิตปกติให้ได้มากที่สุดและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และตั้งเป้าไม่ควรมีคนเสียชีวิต แต่ป่วยได้ ติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางรับวัคซียให้มีภูมิมากพอก็จะช่วยป้องกัน ซึ่งเมื่อมีคนติดเชื้อเพิ่ม โอกาสคนเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นได้ตามสัดส่าวน เพียงแต่ถ้าป้องกัน กลุ่ม608 ก็จะป้องกันได้ แม้มีติดเชื้อสูงแต่เสียชีวิตไม่มาก ดังนั้นกิจกรรมบางอย่างที่ติดเชื้อได้มาก แพร่เชื้อเร็ว ขอให้หลีกเลี่ยง กิจกรรมที่รวมกลุ่ม ไม่ใส่หน้ากาก สัมผัสรับเชื้อง่ายขอให้หลีกเลี่ยง ช่วยให้ภาพรวมประเทศเดินไปได้ ถ้าติดเชื้อ 1-2 แสนต่อวัน ก็จะลำบากในการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ”นพ.ศุภกิจกล่าว
เดลตาครอน 73 รายหายดี
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเจอเดลตาครอนในประเทศไทย 73 ราย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เดลตาครอนที่ได้รับการยอมรับจาก GISAID แล้ว ทั่วโลกประมาณ 64 ราย ที่เหลืออีก 4,000 ราย รอตรวจสอบข้อมูล จริงๆที่ได้ยินข่าวเจอที่อังกฤษมาก แต่ยังไม่ได้มีการส่งข้อมูลเข้าไป ส่วนของไทยเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว เมื่อเปรียบเทียบกันพบ 73 รายเข้าข่ายว่าเป็น เดลตาครอน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องช่วยกันดูว่าสรุปแล้วใช่จริงหรือไม่ ทั้งหมดส่วนใหญ่ตัวอย่างทีได้มาเจอเป็นเดลตาครอน มีส่วนของเดลตาก็มักจะเกิดในช่วงที่เดลตากับโอมิครอนชุลมุนกันมาก ไม่ใช่ตัวอย้งที่เกิดใน1-2สัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่ จะเป็นตัวอย่างตั้งแต่ธ.ค.2564 -ม.ค2565 ตอนนั้นมีทั้งเดลตาและโอมิครอนอยู่ด้วยกัน
“คนไข้ทั้งหมด 73 ราย หายเรียบกร้อยดีแล้ว ไม่มีเสียนชีวิต อาจจะเป็นพันธุผสมอันหนึ่งที่ไมได่หนักนานจและถ้าไม่แพรเร็วส อีกสักระยะก็จบ แม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์หนักแต่ไมแพร่เร็วเหมือนเบตา ที่หายไปแล้ว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า เท่าที่เห็นโอมิครอนคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือ หลบภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดี จะเห็นคนติดเดลตามาแล้ว ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดโอมิครอนซ้ำ จึงเป็นอีกได้ เพราะฉะนั้นวัคซีนไม่ว่าอะไรฉีด 2 เข็มนานพอควร ภูมิฯจะตก ป้องกันติดเชื้อไม่ได้จะต้องมากระตุ้น แต่ช่วยป้องกันป่วยตายได้พอสมควร แต่ถ้าภูมิฯยิ่งสูงยิ่งช่วยได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ซึ่งอัตราการติดเชื้อเสียชีวิตยังสูง