สธ.จัดหา"ยาโมลนูพิราเวียร์"เพิ่ม 20 ล้านเม็ด รักษาโควิด19
สธ.จัดหา"ยาโมลนูพิราเวียร์"เพิ่มอีก 20 ล้านแคปซูล อภ.อยู่ระหว่างเจรจาแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ คาดส่งมอบได้ใน 2 สัปดาห์หลังจากทำสัญญา ล็อตแรก 10 ล้านแคปซูล
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.)เร่งดำเนินการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน เพื่อใช้ในการรักษาโรคโควิด19 ตามแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นทางเลือก ในการปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด19 ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์ ช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรง
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งแผนความต้องการให้อภ. ดำเนินการจัดหายา โมลนูพิราเวียร์ เพื่อรักษาผู้ป่วย จำนวน 20 ล้านแคปซูล ขณะนี้อภ. ได้คัดเลือกแหล่งที่มีคุณภาพไว้แล้ว อยู่ระหว่างเจรจากำหนดส่งมอบและราคา ซึ่งผู้ผลิตมีความพร้อมในการส่งมอบ คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากทำสัญญา สามารถจัดส่งยาให้อภ. ล็อตแรก จำนวนประมาณ 10 ล้านแคปซูล โดยอภ. เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งกระจายให้กับหน่วยบริการแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ ตามแผนกระจายยา ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ไทยได้มีการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จากบริษัท เอ็มเอสดี ประเทศไทย (บริษัทในเครือของ บริษัท เมอร์ค แอนด์ คัมปานี อินคอร์ปอเรท เมืองเคนิลเวิร์ธ มลรัฐนิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา)
จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา หรือ 2 ล้านเม็ด และมีการส่งมอบเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2565
โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 แคปซูล ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วันจนครบ (40 แคปซูล) ยาโมลนูพิราเวียร์จะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตหรือเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ในผู้ป่วยที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรง หากได้รับยาภายใน 5 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ
นอจากนี้ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2565 ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด กับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา ซึ่งมีกำหนดส่งมอบก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 โดยจะต้องให้ยาเร็วที่สุดภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ ซึ่งยาแพกซ์โลวิด ประกอบด้วยยา 2 ชนิด คือ เนอร์มาเทรลเวียร์และริโทนาเวียร์ ขนาดรับประทานวันละ 6 เม็ดต่อวัน แยกเป็นยาเนอร์มาเทรลเวียร์ 4 เม็ด และริโทนาเวียร์ 2 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน รวม 30 เม็ดต่อคอร์สการรักษาต่อคน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในผู้ป่วยโควิด 100 คน ไม่ต้องกินยาอะไรเลย 70-80% ตามรายงานผู้ติดโอมิครอน 50 % ไม่มีอาการ ไม่ต้องกินยา อีก 50 % ที่มีอาการ การให้ยาขึ้นกับความเสี่ยง เช่น อายุ โรคร่วม ประวัติวัคซีน หากฉีดครบแล้ว ไม่มีโรคร่วม แพทย์ก็จะพิจารณาเป็นราย อาจจะ จ่ายยาฟ้าทะลายโจร ที่ตอนนี้ผู้ป่วยกว่า 20% ที่รักษาใช้ฟ้าทะลายโจร อีก 20% กว่าใช้ยาตามอาการ หรือใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยข้อมูลวิจัยของศิริราช รายงานว่าฟาวิพิราเวียร์สามารถลดการมีอาการได้ ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้เร็ว จึงจะพิจารณายาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้
ยาโมลนูพิราเวียร์ ในเบื้องต้น จะมีการพิจารณาใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยกลุ่ม 607 คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรครื้อรัง 7 โรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม อาจมีการพิจารณาใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปเพิ่มเติมเข้ามาในอนาคต หากมีจำนวนยาที่มากขึ้น
“ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์รับยาแพกซ์โลวิดจะคล้ายกับโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งในแนวทางรักษาผู้ป่วยที่กรมการแพทย์ประกาศ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 จะจ่ายยาในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคร่วม ประวัติการฉีดวัคซีนไม่ครบ คือไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว หรือ รับวัคซีนเพียง 1 เข็ม”นพ.สมศักดิ์กล่าว