“Long Covid” ส่งผลให้ป่วยโรคอื่นๆ ตามมา แม้จะรักษาโควิด-19 หายแล้ว

“Long Covid” ส่งผลให้ป่วยโรคอื่นๆ ตามมา แม้จะรักษาโควิด-19 หายแล้ว

ชวนทำความรู้จักกับภาวะ “Long Covid” ที่เกิดขึ้นหลังจากรักษาโควิด-19 จนหายดีแล้ว ภาวะนี้มีสาเหตุมาจากอะไร แล้วมีวิธีใดที่จะช่วยป้องกันผลกระทบจากภาวะนี้ได้บ้าง? รู้ครบที่นี่!

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย สถานการณ์โดยรวมยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะยอดผู้ติดเชื้อช่วงนี้ แม้จะคงที่ประมาณ 20,000 กว่าราย แต่กลับมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หลายคนจึงกังวลถึงภาวะ "Long Covid" หรืออาการที่ต่อเนื่องจากการเคยติดเชื้อ "โควิดระยะยาว"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ ภาวะ “Long Covid” สาเหตุมาจากอะไร และจะทำให้เกิดลักษณะอาการแบบไหน วิธีใดที่จะช่วยป้องกันผลกระทบเหล่านี้ได้บ้าง?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

1. ภาวะ Long Covid คืออะไร?

ภาวะ Long Covid หรือโควิดระยะยาว เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยได้ติดโควิด-19 และรักษาหายเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นผลกระทบหรือร่องรอยของโรคที่ทิ้งไว้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนทำให้เกิดเป็นอาการอื่นๆ ตามมา 

ทั้งนี้การเกิดภาวะ Long Covid ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่บ่งบอกได้ชัดเจน แต่อาจสันนิษฐานได้จากอาการต่างๆ ดังนี้

  • เกิดภาวะสมองล้า หายใจหอบ หายใจถี่ หรือเหนื่อยง่าย 
  • การทำงานของภูมิคุ้มกันผิดปกติไปจากเดิม โดยส่วนมากมักเกิดกับคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงปกติดี
  • ซากเชื้อบางส่วนที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้วในร่างกาย อาจไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เกิดการต่อต้าน จนมีอาการป่วยได้ 

 

2. เช็กอาการ Long Covid ที่พบได้บ่อย 8 อย่าง

ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด เมื่อรักษาหายแล้วอาจมีโอกาสเป็น “Long Covid” ได้ถึงประมาณ 30-50 % หลังรับเชื้อมาแล้วเป็นเวลา 4-12 สัปดาห์ โดยมากพบในผู้หญิงวัยทำงานมากกว่าผู้ชาย มีอาการดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • หายใจถี่ หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจไม่ทัน
  • แน่นหน้าอก
  • มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ
  • การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนไป
  • ปวดตามข้อต่อต่างๆ
  • นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ 
  • ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร มีภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล

3. แนวทางช่วยป้องกันการเกิดภาวะ Long Covid

เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากภาวะ “Long Covid” ควรหมั่นทำให้สุขภาพของตนแข็งแรงตามคำแนะนำตามนี้

  • ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนแบบ mRNA 
  • สวมใส่หน้ากากให้มิดชิด ล้างมือให้สะอาด และรักษาระยะห่างจากผู้อื่นประมาณ 1.5 - 2 เมตร
  • หากมีโรคประจำตัวให้พยายามดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด
  • หมั่นออกกำลังกายและกินอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • พยายามรักษาภาวะจิตใจให้สดชื่น ไม่เครียด หรือวิตกกังวล

-------------------------------------

อ้างอิง: โรงพยาบาลพระรามเก้า, รามาแชนแนล, ศครินทร์