ผ่อนคลายเดินทางเข้าประเทศ 1 เม.ย. ส่งสัญญาณสู่ Post COVID-19
แม้ว่าจำนวนผู้ติดโควิดโอมิครอนรายวันจะยังอยู่ในระดับสูง แต่ศบค.เคาะผ่อนคลายเดินทางเข้าประเทศ ตั้งแต่ 1 เม.ย.2565 นับเป็นการส่งสัญญาณการอยู่ร่วมกับโควิด19 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเข้าสู่แผนตามระยะของการกลายเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ
ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ อนุญาตให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว สามารถเข้าประเทศได้ โดยไม่ต้องกักตัว แต่จะต้องแสดงผลตรวจโควิด19 เป็นลบ ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทางภายใน 48 ชั่วโมง
เกาหลีใต้ กำหนดให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศ ไม่ต้องกักตัว 7 วัน เมื่อฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และลงทะเบียนการฉีดวัคซีนในเวบไซต์ ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้วมากกว่า 180 วัน จะต้องได้รับการประเมินว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่ เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 2565 ทว่าผู้ที่เดินทางมาจากประเทศ อุซเบกิสถาน เมียนมาร์ ปากีสภาน และยูเครนจะต้องเข้ารับการกักตัวแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว
ออสเตรเลีย จะมีขั้นตอนที่แตกต่างกันในแต่ละรัฐ ส่วนตัวอยู่เมลเบิร์น รัฐ วิคตอเรีย โดยก่อนกลับเข้ามาต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส และผลการตรวจ COVID 19 จาก PCR test เป็นลบ 72 ชั่วโมง หรือ ATK 24 ชม. ก่อนบิน โดยต้องที่มีใบรับรองจากแพทย์อย่างเป็นทางการ แล้วโหลดแอพพลิเคชั่นของออสเตรเลียเพื่อกรอกข้อมูลเข้าประเทศ เมื่อมาถึงแล้ว ก็ต้องตรวจ PCR หรือ ATK ภายใน 24 ชัวโมงหลังจากถึงเมลเบิร์น ส่งผลให้ทางภาครัฐอีกครั้ง
นอกจากนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค.2565 ยังมีอีก 11 ประเทศที่ยกเลิกตรวจหาโควิด19ก่อนเข้าประเทศแล้วในปี 2565 ได้แก่
1.เดนมาร์ก เริ่ม 1 ก.พ.
2.ฟินแลนด์ เริ่ม 1 ก.พ.สำหรับประเทศในสหภาพยุโรป เริ่ม 10 เม.ย.ประเทศอื่นๆ
3.สหราชอาณาจักร เริ่ม 11 ก.พ.
4.ฝรั่งเศส เริ่ม 12 ก.พ.
5.สวิตเซอร์แลนด์ เริ่ม 17 ก.พ.
6.ยูเออี เริ่ม 1 มี.ค.
7.เยอรมัน เริ่ม 3 มี.ค.
8.ซาอุดิอาระเบีย เริ่ม 5 มี.ค.
9.ไอร์แลนด์ เริ่ม 6 มี.ค.
10.ออสเตรีย เริ่ม 7 มี.ค.2565
และ11.สวีเดน เริ่ม 9 ก.พ.สำหรับประเทศในสหภาพยุโรป และเริ่ม 31 มี.ค.2565 ประเทศอื่นๆ
เช่นเดียวกับประเทศไทย ไม่ต้องแสดงผลตรวจก่อนเดินทางเข้าประเทศเช่นกัน โดย เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 ศบค.เห็นชอบการผ่อนคลายมาตรการผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.2565 ประกอบด้วย 1.ก่อนเดินทางเข้าไทย ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ทุกกลุ่ม 2. เมื่อเดินทางถึงไทย กรณี Test and Go และ Sandbox ตรวจ RT-PCR วันแรกเมื่อมาถึงไทย และ Self-ATK ในวันที่ 5 กรณี Quarantine กักตัว 5 วัน และตรวจ RT-PCR วันที่ 4-5กรณี ผู้ควบคุมยานพาหนะ ที่ไม่มีฐานปฏิบัติการในไทย กักตัว 5 วัน และตรวจ Self-ATK วันที่ 5 และ3.ประกันสุขภาพ คงไว้ที่ 20,000 ดอลลาร์เช่นเดิม
รวมถึง เห็นชอบแผนการเปิดรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ระยะเดือนเม.ย.และพ.ค.ด้วย คือ 1. ด่านทางบก วันที่ 1 เม.ย. เปิดเพิ่มจ.สตูล ระยะถัดไปเดือนพ.ค. เปิดเพิ่ม จ.ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และทุกจังหวัดที่มีความพร้อมตามการประเมิน 2.ท่าเรือ วันที่ 1 เม.ย. เปิดเพิ่ม ท่าเรือในจ.สุราษฎร์ธานี ระยะถัดไปเดือนพ.ค. เปิดเพิ่มท่าเรือในจ.กระบี่ และทุกท่าเรือที่มีความพร้อมตามการประเมิน 3. ประเภทเรือ วันที่ 1 เม.ย. เปิดเพิ่ม เรือของหน่วยงานราชการในประเทศไทย ลูกเรือสัญชาติไทย บนเรือสินค้า ระยะถัดไปเดือนพ.ค. เปิดเพิ่มเรือสำราญขนาดใหญ่ เรือทั่วไป เรือของหน่วยงานราชการในต่างประเทศ และ4. สนามบิน วันที่ 1 เม.ย. เปิดเพิ่มสนามบินหาดใหญ่ ระยะถัดไปเดือนพ.ค.ทุกสนามบินที่มีความพร้อมตามการประเมิน
อย่างไรก็ตาม เร ราชกาวี คนไทยที่อาศัยอยู่ที่ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 1 เม.ย.2565 ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวพอใจกับการผ่อนปรนมาตรการของทางรัฐบาลไทย ที่ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางทุกกลุ่ม ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปพอสมควร แต่ยังค่อนข้างกังวล เพราะยังไม่มีเวบไซต์ หรือประกาศอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนจากทางภาครัฐ หรือจากสายการบิน ทำให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศในวันที่ 1 เม.ย.นี้แบบตน ยังคงรอความชัดเจนอีกครั้ง
เนื่องจากในหลายๆครั้งมาตรการของทางภาครัฐ กับสายการบิน จะแตกต่างกันบ้างในบางเรื่อง อย่างเช่น บางครั้ง ประเทศไม่ต้องใช้ผลตรวจโควิด19 ในการเดินทางเข้าประเทศ แต่สายการบินยังกำหนดให้ต้องใช้เอกสารดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของสายการบิน ก็ทำได้ในฐานะเอกชน หากเป็นเช่นนี้ เท่ากับผู้ที่เดินทางยังจำเป็นต้องตรวจและแสดงผลโควิด19ก่อนเดินทางเช่นเดิม ดังนั้น มาตรของภาครัฐควรร่วมกำหนดกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ไปในทิศทางเดียวกันด้วย
“ในส่วนของโปรแกรม Test&Go คือ จองโรงแรม ตรวจ PCR และรอผล 1 คืน และส่งผล ATK ในวันที่ 5 นั้น ก็เหมาะสมดี แต่หากมีตัวเลือก โรงแรมที่ราคาถูกลงกว่าปัจจุบันก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกับ นักท่องเที่ยว ที่ต้องการเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น”เรกล่าว
จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายและแผนการดำเนินการที่จะทำให้ประเทศไทยผ่านช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด19 (Post COVID-19) ซึ่งกำหนดเป็นระยะ 3+1 โดยระยะที่ 1 เรียกว่า “Combatting” คือ จัดการไม่ให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงมาก เริ่มแล้วตั้งแต่ มี.ค. ในช่วงเม.ย.จะเข้าสู่ระยะที่ 2 เรียกว่าPlateau คือ ให้การติดเชื้ออยู่ในระนาบ และค่อยๆลดลง ไปจนถึงเดือนพ.ค. ในระยะนี้ส่วนของการเดินทางเข้าประเทศ จะกำหนดเรื่องการตรวจโควิด19 ดำเนินการด้วยวิธีATK ที่ตรวจด้วยบุคลากรทางการแพทย์ในวันแรกที่มาถึงไทยและวันที่ 5 ไม่ต้องตรวจRT-PCR และกักตัวเ 5 วันสำหรับผู้ไม่ได้รับวัคซีน
และเข้าสู่ระยะที่ 3 เรียกว่า Declining คือ ให้การติดเชื้อลดลงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในช่วงปลายพ.ค.-30 มิ.ย. ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจะตรวจหาเชื้อATKที่ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ ตรวจที่สนามบินเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน และระยะ Post pandemic ตั้งแต่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป คือ ออกจากการระบาดใหญ่เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ไม่มีการตรวจหาเชื้อทั้งวิธีATK และ RT-PCR
ตัวแปรสำคัญที่จะชี้ทิศทางว่าประเทศไทยจะเป็นไปสู่ Post COVID-19 ตั้งแต่ 1ก.ค. 2565 ได้ตามเป้าหรือไม่ สถานการณ์หลังเทศกาลสงกรานต์จะเป็นสิ่งกำหนด โดยเฉพาะอัตราผู้เสียชีวิต ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ “ไวรัสไม่มีการกลายพันธุ์ที่ก่อโรคให้รุนแรงขึ้นกว่าเดิม”