"กรม สบส." สั่งระงับโฆษณา รพ.เอกชน ย่านบางปะกอก อวดอ้างแจกยาฟาวิฯ ฟรี

"กรม สบส." สั่งระงับโฆษณา รพ.เอกชน ย่านบางปะกอก อวดอ้างแจกยาฟาวิฯ ฟรี

กรม สบส. สั่งระงับโฆษณา "รพ.เอกชน" ย่าน "บางปะกอก" หลังพบเบาะแสมีการอวดอ้างว่าแจก "ยาฟาวิพิราเวียร์" โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ชี้การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ห้ามแจกจ่ายเอง ใช้อย่างไม่ระวัง เสี่ยงเกิดผลข้างเคียงหญิงตั้งครรภ์-การทำงานของตับ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ กรม สบส.ได้รับข้อมูลว่ามีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง กระทำการโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนรับ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้

 

เนื่องด้วยการจ่าย "ยาฟาวิพิราเวียร์" นั้นต้องผ่านดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้ ดังนั้น กรม สบส.จึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมาย ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ พบว่ามี รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ในย่าน บางปะกอก ดำเนินการโฆษณาแจกยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านเว็บไซต์ โดยระบุให้ผู้รับบริการแสกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ส่งประวัติการป่วยให้กับโรงพยาบาล ก็สามารถได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ภายใน 48 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

 

\"กรม สบส.\" สั่งระงับโฆษณา รพ.เอกชน ย่านบางปะกอก อวดอ้างแจกยาฟาวิฯ ฟรี

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมก็พบว่าการโฆษณาข้างต้น มิได้มีการขออนุมัติจาก กรม สบส. รวมทั้ง มีโฆษณาอื่นๆ ของโรงพยาบาลที่เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงมีหนังสือคำสั่งให้ระงับการโฆษณา และเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมารับทราบการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในเรื่องของการโฆษณา ได้แก่

 

1.สถานพยาบาลกระทำการเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศฯ โดยไม่ได้ขออนุมัติ และได้รับอนุมัติจากผู้อนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา

 

2.สถานพยาบาลกระทำการโฆษณาหรือประกาศ อันเข้าข่ายเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา นอกจากนี้ ยังถือเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการโฆษณายาฟาริพิราเวียร์อีกด้วย

นพ.ธเรศฯ กล่าวต่อว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ถือเป็นยาสำคัญที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็มิใช่จะจ่ายให้สำหรับผู้ป่วยทุกราย โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ก็ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส เพราะสามารถหายเองได้ ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ การจะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

 

หากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ ช่วงไตรมาสแรก การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กทารกในครรภ์ได้ และในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับก็การใช้ยาก็อาจจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้นได้ จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 19 ทุกท่าน เข้ารับการวินิจฉัยและประเมินอาการจากแพทย์ เพื่อการรักษาและจ่ายยาที่เหมาะสมตามอาการ โดยไม่ควรจัดหาหรือซื้อยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้เองโดยเด็ดขาด