เปิดข้อมูล"เด็กติดโควิด" ฉีดวัคซีนยังต่ำ-ไม่มีวัคซีนรองรับ
นายกฯ ห่วงเด็กติดโควิด19 เชิญชวนผู้ปกครอง นำบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว สธ.เผยยอดฉีดในกลุ่มเด็ก5-11ปียังต่ำ ขณะที่แนวโน้มเสียชีวิตช่วงอายุ 0-4ปีมากกว่าระลอกก่อน เหตุไม่มีวัคซีนรองรับ
วันนี้ (6 เม.ย. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย และยังเป็นห่วงกลุ่มเด็กเล็กที่พบมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือผู้ปกครองเฝ้าระวังและสังเกตอาการเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการป่วยผิดปกติจากคนในบ้านเป็นผู้ป่วยโควิด-19 หรืออยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องรีบนำพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว รวมทั้งยังแนะนำให้ผู้ปกครองให้เร่งพาบุตรหลาน กลุ่มวัยเรียนอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เข้ารับวัคซีนจะช่วยป้องกันการป่วยหนักได้อย่างดี เพราะกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันก็มีเด็กที่เสียชีวิตเพราะไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน
นายกรัฐมนตรียังฝากเตือนผู้ที่ติดเชื้อไปแล้วนั้น ต้องหมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองให้ดี แม้ว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้วก็ตาม ยังอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อยตามตัว ไอเรื้อรัง มีภาวะวิตกกังวล อาจเป็นภาวะที่เรียกว่า ลองโควิด (Long Covid) จึงยังควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย และทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
เด็กเล็กเสียชีวิตมากกว่าระลอกก่อน
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อในเด็ก 0-14 ปี เมื่อเทียบ 2 ระลอก ระหว่างเม.ย.2564 กับม.ค.2565 พบว่า
ช่วงอายุ0-4 ปี
เม.ย.2564 ป่วยยืนยัน 76,714 ราย อาการรุนแรง 1,438 ราย เสียชีวิต 23 ราย
ม.ค.2565 ป่วยยืนยัน 60,682 ราย อาการรุนแรง 515 ราย เสียชีวิต 27 ราย
ช่วงอายุ5-9 ปี
เม.ย.2564 ป่วยยืนยัน 87,064 ราย อาการรุนแรง 173 ราย เสียชีวิต 9ราย
ม.ค.2565ป่วยยืนยัน57,703 ราย อาการรุนแรง 101 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ช่วงอายุ10-14 ปี
เม.ย.2564 ป่วยยืนยัน 90,031 ราย อาการรุนแรง 179 ราย เสียชีวิต 13 ราย
ม.ค.2565 ป่วยยืนยัน 56,833 ราย อาการรุนแรง 125 ราย เสียชีวิต 3 ราย
รวม 0-14 ปี
เม.ย.2564 ป่วยยืนยัน 253,809 ราย อาการรุนแรง 1,790 ราย เสียชีวิต 45 ราย
ม.ค.2565 ป่วยืนยัน 175,218 ราย อาการรุนแรง 741 ราย เสียชีวิต 32 ราย
“กลุ่มเด็ก 0-4 ปี เสียชีวิตระลอกนี้ 27 รายมากกว่าระลอกเม.ย.64 ซึ่งเสียชีวิต 23 ราย เนื่องจากโอมิครอนแพร่เชื้อเร็ว และเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว จึงไม่ค่อยสังเกตุอาการเด็ก เมื่อเด็กป่วยพ่อแม่จึงรู้ช้า อีกทั้งเป็นวัยที่ยังไม่มีวัคซีนรองรับในกลุ่มนี้”นพ.จักรรัฐกล่าว
กลุ่มเด็กเล็กฉีดวัคซีนต่ำ
ขณะที่พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก 5-11 ปี เข็มที่ 1 คิดเป็น 45.7 % เข็ม 2 คิดเป็น 1.3 % ยังน้อย ขณะนี้ช่วงที่โอมิครอนระบาด มีรายงานเด็กติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ช่วงปิดเทอมขอความร่วมมือผู้ปกครองพาเด็กเล็ก 5-11 ปีไปรับวัคซีนให้ได้มากขึ้น ช่วงนี้มีวัคซีนได้รับอนุมัติความปลอดภัยในเด็กเล็ก คือ วัคซีนเชื้อตาย ทั้งซิโนแวค ซิโนฟาร์ม วัคซีนmRNA เป็นไฟเซอร์ฝาสีส้ม โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน มีมติเด็ก 5-11 ปีสามาถรับวัคซีนได้ 3 สูตร ประกอบด้วย สูตรแรก ไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ ,สูตรไขว้ ซิโนแวค/ซิโนฟาร์มเข็ม 1 และไฟเซอร์ฝาสีส้มเข็ม 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ และสูตรเชื้อตาย 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ และรับเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์ ห่างจากเข็ม 2 ช่วง 4 สัปดาห์
“ใน 3 สูตร จะเพิ่มภูมิฯได้ไวขึ้นคือ 2 สูตรหลัง เพราะมีระยะห่างระหว่าง 2 เข็ม แค่ 1 เดือน ถ้าเป็นไฟเซอร์ ห่างกัน 2 เดือน ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองพาไปฉีดวัคซีนสามารถสอบถามสถานพยาบาลใกล้บ้านมีวัคซีนตัวไหน สามารถฉีดได้ให้รีบไปฉีด จะได้ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต”พญ.สุมนีกล่าว