ปลดล็อกเทคนิค "สุขภาพดี" ง่ายๆ แค่เปลี่ยนพฤติกรรม
ปัจจุบัน คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค โดยเฉพาะ "โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" หรือ NCDs ซึ่งมีเทคนิคง่ายๆ แค่เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีระยะยาว
ปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพกำลังมาแรง จะเห็นได้ว่าผู้คนหันมาสนใจ และใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ทำให้เป็นบ่อเกิดของ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-communicable diseases)
จากรายงานปี พ.ศ. 2563 จาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO พบว่าในแต่ละปี ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจาก กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ประมาณ 41 ล้านคน คิดเป็น 71% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับประเทศไทย ในปีพ.ศ.2562 ที่มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 76.58% หรือประมาณ 351,880 คนต่อปี เฉลี่ยสูงถึง 44 คนต่อชั่วโมง
การเจ็บไข้ได้ป่วยคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากพบเจอ เพราะนอกจากจะเสียสุขภาพกาย สุขภาพจิตแล้ว ยังต้องเสียเวลา เสียงานเสียการ กระทบไปถึงเงินในกระเป๋าอีกด้วย การป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ การหันมาใส่ใจเริ่มต้นสะสมสุขภาพที่ดีจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นกุญแจที่สำคัญที่สุด ของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สุขภาพหัวใจดี เริ่มต้นที่ตัวเรา
ศ.นพ. เซอร์จิโอ ฟาซิโอ ศาสตราจารย์วุฒิคุณด้านโรคหัวใจ ประจำ Stanford University กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ Health Brings Wealth เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา จัดโดย BDMS Wellness Clinic โดยอธิบายถึง ความสำคัญของ หัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เคยได้หยุดพัก การดูแลสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา ด้วยการหันมาใส่ใจการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การเลือกรับประทานอาหารที่ดี คือ ไม่หวานจัด ไม่เค็มจัด และอาหารที่ไม่มีไขมันอิ่มตัวสูง
"พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ลดความเครียด อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และอีกหลายวิธี เพื่อรักษาหัวใจให้อยู่ด้วยกันกับเราไปนานๆ"
อาหารดี นอนพอ สุขภาพดี
สำหรับ การดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันโรค นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์) ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) ระบุว่า การเน้นการดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนเจ็บป่วย ด้วยหลักการของเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) เพื่อทำการป้องกันและชะลอการเกิดโรค จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle Medicine)
ทั้งในเรื่องของการรับประทานอาหารในแต่ละวันที่ได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยอาหารที่ดีต้องมาจากธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป ควบคู่กับการตรวจเชิงลึกทางห้องปฏิบัติการบวกการเจาะรหัสพันธุกรรม เพื่อไขความลับสุขภาพดีที่ลงลึกไปถึงระดับเซลล์ เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล
"สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การนอน เพราะการนอนที่เพียงพอจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายที่ดีขึ้น มีความสดชื่นและตื่นตัวตลอดทั้งวัน ช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี"
ดูแลสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์
ขณะเดียกวัน ความสำคัญของ สมอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบประสาททำหน้าที่ควบคุมและสั่งการ การเคลื่อนไหว พฤติกรรม รวมไปถึงการรักษาสมดุลในร่างกาย
ศ.นพ. คีธ แบล็ค ศัลยแพทย์ระบบประสาท หัวหน้าแผนกศัลยกรรมประสาทและผู้อำนวยการสถาบันศัลยกรรมประสาท Maxine Dunitz ของศูนย์การแพทย์ Cedars-Sinai อธิบายว่า สมองมีการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันและชะลอไม่ให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ เพราะในปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมสูงถึง 50 ล้านคน และเพิ่มจำนวนขึ้นเกือบ 10 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์สูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
การดูแลสมองจึงเป็นเรื่องที่ต้องดูแลและให้ความใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การนอน การมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม รวมไปถึง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้สมองได้ทำงาน ตลอดจน การนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นการเปิดสมองอีกแนวทางหนึ่ง
ออกกำลังกาย สุขภาพดีระยะยาว
ท้ายนี้ ศ.นพ.จีรี ดโวชัค ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยซูริค ในฐานะผู้ชำนาญการทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและเวชศาสตร์ป้องกัน เผยว่า ข้อดีของ การออกกำลังกาย เพียงแค่บริหารเวลาให้ดี แบ่งเวลามาออกกำลังกาย 30 นาที 5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เป็นประจำ สม่ำเสมอ ก็ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงได้ในระยะยาว ส่วนผู้ที่ร่างกายมีข้อจำกัดหรือมีอาการบาดเจ็บ ก็สามารถออกกำลังกายได้โดยการรักษาและดูแลที่เหมาะสม