ปั้น “นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ” จุดเปลี่ยนสังคมสุขภาพด้วยโลกการเรียนรู้
ในการทำงานปฏิเสธไม่ได้ว่า “คน” เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเสมอ แม้แต่การทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ สสส. เองก็เป็นอีกหน่วยงานที่ถูกขับเคลื่อน ภายใต้พลังสำคัญคือ “คน” ที่รู้จักกันในนามของ “ภาคีสุขภาพ”
“คน” มักเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเสมอ แม้แต่การทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจากประสบการณ์ขององค์กรด้านการสร้างเสริมด้านสุขภาวะอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เองก็เป็นอีกหน่วยงานที่ถูกขับเคลื่อน ภายใต้พลังสำคัญคือ “คน” ที่รู้จักกันในนามของ “ภาคีสุขภาพ” ที่เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จมาโดยตลอด
นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ
“เราเชื่อว่าการพัฒนาคนจะทำให้งานสร้างเสริมสุขภาพยกระดับประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการทำงานที่เติบโต เป็นการเปลี่ยนความผิดพลาดล้มเหลวมาเป็นการเรียนรู้ และสรุปเป็นบทเรียนต่อยอด เพื่อพัฒนาคนอื่น ๆ ให้ก้าวเร็วขึ้น และดีขึ้น” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เผยถึงแนวคิดการพัฒนาบุคลากรของ สสส. ว่ามิได้จำกัดแต่เพียงแค่พนักงานภายในองค์กร หากแต่ สสส.ยังทำงานร่วมกับภาคีทั่วประเทศ ซึ่งจากประสบการณ์ขับเคลื่อนงานสุขภาพมาตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้ง สสส. ตระหนักเสมอว่า ปัจจัยที่ช่วยให้งานประสบความสำเร็จมาต่อเนื่องนั้น ไม่ได้เกิดจากการให้ทุนอย่างเดียว แต่หนึ่งในพลังที่ช่วยเขยื้อนภูเขานั้น มักมี “คนทำงาน” เหล่านี้ เป็นฟันเฟืองสำคัญเสมอ
“สสส. มีเครือข่ายภาคีที่ร่วมทำงานส่งเสริมสุขภาพทั่วประเทศไทย แม้เราจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุน แต่งานที่เราขับเคลื่อนนั้นจะประสบความสำเร็จมากน้อย ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของนักสร้างเสริมสุขภาพที่เรามี ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้ว่า การสร้าง นักสร้างเสริมสุขภาพมือที่เป็นอาชีพ จะเป็นกำลังสำคัญในการก่อให้เกิดสังคมสุขภาวะทั้งในระดับประเทศและระดับสากล”
ความตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของการจัดตั้ง “สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ ThaiHealth Academy ขึ้นที่ชั้น 34 อาคาร SM Tower เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ความรู้พื้นฐานที่จำเป็น ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพโดยรวม ทั้งระดับบุคคลและองค์กร และยังเป็นอีกมิชชั่นสำคัญหนึ่งของ สสส.ที่ได้วางเป็นโรดแมประยะยาว
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า เป็นความตั้งใจมานานแล้วของ สสส. ที่จะจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคล เนื่องจากการได้พบ “ช่องว่าง” สำคัญว่า ความรู้ที่เป็นวิชาการพื้นฐานทั่วไป ยังไม่เพียงพอสำหรับการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ เราต้องหาเครื่องมือ กลไก หลักสูตรที่จะตอบโจทย์ ซึ่งกว่าจะรวบรวมมาได้ต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ สกัดและสังเคราะห์ จนมาเป็นรูปแบบสถาบันในวันนี้ เพราะอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพวันนี้ คือการปรับมายด์เซ็ตใหม่ เพื่อเปลี่ยนนิยามการทำงานสร้างเสริมสุขภาพที่ร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งทำให้อาจต้องมีการทำงานที่ต่างกว่าเดิม “สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะต่อยอดการเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพครบวงจร ที่จะสามารถตอบโจทย์การพัฒนา “คน” ให้เป็น “นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ”
ฮับการเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพครบวงจร
สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็นหน่วยงานลักษณะพิเศษใน สสส. ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2563 ประกาศเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 แต่เพิ่งได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เป้าประสงค์การจัดตั้ง เกิดขึ้นด้วยเหตุผลสองประการสำคัญ คือ
- ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของ สสส. ในการสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถ (Competency Development) ของภาคีเครือข่าย สสส. ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญ (Partner) ที่ร่วมขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในประเทศ
- มุ่งขยายฐานผู้รับประโยชน์ไปยังกลุ่มบุคคล หน่วยงาน และองค์กรภาคสังคมต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชน
รศ. ดร.นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สถาบันฯ มีทิศทางและยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นองค์กรรูปแบบกึ่งธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีพันธกิจในการพัฒนาศักยภาพและให้คำปรึกษาภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับขีดความสามารถนักสร้างเสริมสุขภาพ บทบาทของสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ จึงเป็นการร่วมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมให้บุคคลสามารถดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว รวมถึงสนับสนุนผลักดันให้สังคม สิ่งแวดล้อม อยู่ในสภาวะที่เอื้อต่อการทำให้มีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลทางสุขภาพ และเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพพึงประสงค์
“เราพบว่าจุดเด่นเราคือ health promotion เป้าหมายที่ต้องการ เราอยากขยายฐานมากขึ้น ซึ่งทำให้ในช่วงห้าปีแรก เราจะพยายามร่วมมือกับภาคีด้านต่างๆ เกี่ยวกับงานสร้างเสริมสุขภาวะ เข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรของแต่ละหน่วยงาน ให้สามารถทำงานสร้างเสริมสุขภาวะได้ดีทั้งในระดับบุคคล องค์กร ชุมชน จนถึงในระดับประเทศ ส่วนเป้าหมายอีกห้าปีต่อไป เราก็มองความร่วมมือในระดับนานาชาติ ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ กับประเทศเพื่อนบ้าน และขยายต่อไปในระดับนานาชาติ”
แนวคิดการออกแบบหลักสูตร
“สิ่งที่หลักสูตรนี้มอบให้คือการ up skills มาเติมเสริมพลังต่อยอดให้งานที่เขาทำได้ไกลขึ้น กว้างขึ้น ซึ่งนอกจากมีอบรมแบบออนไลน์ ออนไซต์ แล้วยังมีไมโครเลิร์นนิ่ง ซึ่งเป็นการถูกปรับเพื่อให้เหมาะกับบริบทของผู้เรียน เป็นหลักสูตรที่พัฒนาศักยภาพคนให้ไปทำงานให้ดีขึ้น” รศ.ดร.นพ.นันทวัช กล่าว
แต่อีกจุดแข็งที่สถาบันเน้นหนักอย่างมากคือ การลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เพราะมองว่าการพัฒนาความรู้ต้องเชื่อมโยงกันกับประสบการณ์จริง ซึ่ง สสส. มีต้นแบบชุมชนที่ทำงานมานาน ซึ่งสามารถถอดบทเรียน เป็นชุดความรู้ที่ครอบคลุมเรื่องสุขภาพในทุกมิติ
“ในกระบวนการออกแบบหลักสูตร กว่าจะมาเป็นแต่ละหลักสูตรมีการทำเซอร์เวย์ ทั้งหา pain point รวมทั้งทำ focus group เพราะเราต้องการตกผลึก เรายังมีการค้นหา Gap Analysis ก่อนว่าสิ่งที่หายไปคืออะไร เสร็จแล้วเราเอาความรู้เหล่านี้มาออกแบบหลักสูตร ร่วมกับวิทยากรฝ่ายวิชาการ ซึ่งหลักสูตรเราเน้นปัญญา 3 ฐานคือ Hand Heart Head เนื่องจากมองว่าผู้เรียนต้องได้รับทั้งความรู้ ทักษะ เจตคติ เพราะหากมีแค่ความรู้ มันเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้ผล” รศ.ดร.นพ.นันทวัช อธิบาย
ดร.สุปรีดา เผยถึงการคัดสรรหลักสูตรว่า จุดเด่นของหลักสูตร เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้พัฒนามาจากองค์ความรู้วิชาการอย่างเดียว แต่ยังผสานกับการทำงานจริง ซึ่งเกิดขึ้นจริงในเมืองไทย หลักสูตรที่นี่จึงเป็นหลักสูตรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
“จริงๆ แล้วประเด็นเกี่ยวกับความรู้ที่เฉพาะเจาะจงด้านสุขภาพ ที่ผ่านมาแทบทุกแผนเรื่องเฉพาะด้านของ สสส. มีการพัฒนาองค์ความรู้โดยภาคี สสส. อยู่แล้ว อย่างเช่นเรื่องยาสูบ เรามีศูนย์วิจัยจัดการความรู้ควบคุมยาสูบที่ ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินการ ทั้งงานวิจัยวิชาการและการพัฒนาอบรม เป็นต้น ทำให้เราไม่เริ่มที่ความรู้เฉพาะเจาะจงแต่ด้านสุขภาพ แต่สิ่งที่ยังจำเป็นต้องเติมเต็ม คือการพัฒนาทักษะพื้นฐานของนักสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต้องมีร่วมกัน” ดร.สุปรีดากล่าว
การออกแบบหลักสูตรจึงเน้นการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ ด้วยเพิ่มทักษะที่จำเป็นต้องมี ซึ่งหลักการพื้นฐานที่ สสส. วางไว้เป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์ความรู้ คือ 5+2 Core Competency ประกอบไปด้วย 5 สมรรถนะหลัก คือ การสร้างเสริมสุขภาวะ, การบริหารโครงการสุขภาวะ, การสื่อสารเพื่อสังคมสุขภาวะ, การสร้างและบริหารเครือข่าย, ผู้นำและทักษะในการจัดการในงานสุขภาวะ และอีก 2 สมรรถนะคือ การจัดการความรู้ และการจัดการความยั่งยืน
ไฮไลท์หลักสูตรในปี 2565
สำหรับในปี 2565 มีการพัฒนาหลักสูตรตามสมรรถนะหลักที่จำเป็นในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Core Competency) การจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การประชุมวิชาการ ตลอดจนให้บริการทางวิชาการ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ และการสร้างพันธมิตรความร่วมมือเพื่อการขยายหลักสูตรหรือขยายฐานกลุ่มเป้าหมายผู้รับประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเกิดหลักสูตร งานพัฒนาศักยภาพภาคี 21 หลักสูตร งานพัฒนาหลักสูตร หน่วยงานภายนอก 30 หลักสูตร อาทิ หลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพ เน้นหลักสูตรครอบคลุมทั้งภาคีเครือข่ายสุขภาพ องค์กรภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรนักประเมินภายในมืออาชีพเป็นการประเมินภายใน (Internal Evaluation) เครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ทำงานขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะสามารถยกระดับคุณภาพการทำงานได้ทันต่อสถานการณ์และปัญหา หลักสูตรกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรสุขภาวะ (Transformation Strategies for Well-being Organization) สำหรับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน หลักสูตรการผลักดันนโยบายสาธารณะ (Policy Brief / Policy Advocacy) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และหลักสูตรถอดรหัสองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Thriving & Enchanted Organization) สำหรับองค์กรภาคเอกชน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้สภาวะของการเป็นผู้นำองค์กร (Leadership) สร้างการเรียนรู้ร่วมกันของคนในองค์กร (Team Learning) ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และทักษะร่วมกัน และสร้างทัศนคติต่อบุคลากรให้มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา สร้างแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) และสร้างฐานความรู้ที่เข้มแข็ง (Core Competence) ให้องค์กรเท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ยังมีการออกแบบหลักสูตรเฉพาะเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทขององค์กรนั้นๆ อีกด้วย
ประเดิมด้วยหลักสูตรฮ็อต “สื่อสารระหว่างGen”
ในส่วนของการจัดงานเปิดตัว สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ OPEN HOUSE: ThaiHealth Academy เป็นทางการครั้งแรกนี้ ยังมีการเปิดตัวหลักสูตรการอบรมกิจกรรม Workshop 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร Communication across generations - การสื่อสารเพื่อความเข้าใจ รองรับ Gen ใหม่ เข้าใจGen เก่า เนื้อหาเน้นการเข้าใจวิธีการสื่อสารระหว่างบุคคลในองค์กรทุกระดับ และ Thriving & Enchanted Organization – ถอดรหัสองค์กรแห่งการเรียนรู้ หลักสูตรมุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนรู้สภาวะของความเป็นผู้นำ ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และ ทักษะร่วมกัน กระตุ้นให้เกิดการแสดงมุมมองที่หลากหลายในองค์กร พร้อมเป็นองค์กรที่ทุกคนทางานด้วยใจ กาย และใช้ศักยภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้รับผิดชอบโครงการอาหารปลอดภัย หนึ่งในภาคีที่สมัครสนใจเข้าร่วมหลักสูตรแรกของปีนี้ เผยถึงเหตุผลการเข้าร่วมว่า เดิมเป็นภาคีทำงานร่วมกับ สสส.มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจากการเป็นภาคีของ สสส.ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมการอบรมมาโดยตลอด ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมกับ สสส. เธอยังนำไปถ่ายทอดต่อให้กับเครือข่ายและภาคี เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานต่อเนื่อง
“พอ สสส. เปิดตัวสถาบันฯ เราอยากมาดูว่า Thaihealth Academy มีอะไรน่าสนใจ จะเป็นอย่างไร และหลักสูตรมีความเข้มข้นแค่ไหน ซึ่งมองว่าหลายหลักสูตรเป็นสิ่งที่เราสนใจ และเป็นหลักสูตรที่ยังไม่เคยมีมาก่อน และเนื้อหาดูน่าสนใจทันเหตุการณ์ ส่วนหนึ่งเรามองว่าการที่เราเป็นนักวางแผน นักบริหาร แต่พอไปปฏิบัติแล้ว เรายังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือสร้างความเข้าใจต่อผู้อื่น เช่น เราจะทำยังไงให้สิ่งที่เราพยายามสื่อสาร สามารถสื่อสารไปในวงกว้าง ซึ่งยอมรับว่าดิฉันใช้สื่อก็ไม่เป็น ยิ่งสื่อสมัยใหม่ หรือสื่อออนไลน์ โซเชียล ติ๊กต่อกก็ไม่เป็น อินโฟกราฟิคก็ไม่เป็น จึงอยากมาเรียนรู้ประสบการณ์ตรงนี้ เพราะอยากรู้เข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่าง Gen”
เช่นเดียวกับ เบญจวรรณ ภู่โต และกัลยกร โคตุธา จากสถาบันแอลพีเอ็น เผยถึงแรงบันดาลใจในการเข้าร่วมอบรมว่า ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการสื่อสารองค์กรและฝึกอบรม ที่สถาบันฝึกอบรมเอ็นพีแอล ในองค์กรจะมีหลายบริษัทและมีพนักงานในเครือหลากหลาย ทั้งยังมีความแตกต่างในเรื่องหลายเจเนอเรชั่น เรามองว่าหลักสูตรนี้ตรงมีเนื้อหาในเรื่องการสื่อสารระหว่างวัย
“ก่อนหน้านี้ แอลพีเอ็นมีนโยบายในการสร้างเสริมชุมชนน่าอยู่ และยังเคยทำงานร่วมกับ สสส. มาหลายโครงการ มองว่าเรื่องการสื่อสารเจนเนอเรชั่นสามารถเอาไปปรับใช้ได้ จึงสนใจสมัครเข้ามาอบรม อีกส่วนเราอยากมาดูแนวทางการทำเวิร์คช็อป” กัลยากรกล่าว
แม้วันนี้ยังจะเป็นเพียงก้าวเริ่ม แต่หากถามว่าปลายทางความสำเร็จของการจัดตั้งสถาบันฯ ครั้งนี้ มองเห็นอะไร รศ.ดร.นพ.นันทวัช เอ่ยว่า เราอยากสร้างนักพัฒนาสังคม นักเปลี่ยนแปลงสังคม นักทรานสฟอร์มตัวเอง หรือ social Changer ซึ่งสุดท้ายกลายเป็น World Changer ที่ช่วยกันทำให้โลกดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น ที่สำคัญทุกคนมีสุขภาวะมากขึ้น นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของสถาบัน