อย่าชะล่าใจ "สงกรานต์2565" ป้องกันโควิด19 ชะลอระบาด
แม้ศบค.จะผ่อนคลายมาตรการให้สามารถจัดงานสงกรานต์2565 ก็เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า “การเตือนภัยโควิด19ยังอยู่ในระดับ4” เกือบสูงสุด การใช้ชีวิตช่วงนี้จึงมิอาจชะล่าใจ จะต้องร่วมมือเต็มที่ในการป้องกันช่วยชะลอระบาด ให้ระบบสาธารณสุขรองรับไหว
โควิดสายพันธุ์โอมิครอนก่อโรครุนแรงน้อยในคนทั่วไป แต่แพร่ได้เร็ว จึงมีโอกาสสูงด้วยที่เชื้อจะไปติด"กลุ่มเปราะบาง"ที่เสี่ยง หากรับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งกว่า 90%ของผู้เสียชีวิตคือกลุ่มนี้ ขณะที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุไม่ถึง 40 % ถือว่ายังน้อยมาก!! และในจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันที่รายงานวันละกว่า 20,000 รายนั้น เป็นผู้สูงอายุราว 10 % นั่นแปลว่ามีผู้สูงอายุที่เสี่ยงจะอาการรุนแรงติดเชื้อวันละกว่า 2,000 ราย นับว่าไม่น้อย!!
การใช้ชีวิตช่วง สงกรานต์2565 จึงต้องอยู่บนความเข้าใจอย่างสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการป้องกันโควิด19 หากอิงตามคำแนะนำในการเตือนภัยโควิด19 ระดับ 4 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ช่วงสงกรานต์นี้ ควรที่จะ “งดไปสถานที่เสี่ยง งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ เน้นทำงานที่บ้าน และชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ถ้าไม่จำเป็น”
แต่สำหรับผู้ที่มีแผนเดินทางกลับภูมิลำเนาและเยี่ยมพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ควรที่จะ self clean up ตัวเอง คือ ทำให้ตัวเองปลอดภัยให้มากที่สุดอย่างน้อยก่อนเดิมทาง 1 สัปดาห์ ด้วยการไม่รวมกลุ่มปาร์ตี้ ไม่ไปที่แออัด ไม่พบปะผู้คนจำนวนมาก ตรวจATK 1 ครั้งตอนกลับไปบ้าน ทั้งหมดเพื่อลดความเสี่ยงในการนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้สูงอายุ
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อการระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบด้วย กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยหนัก มี 3 กลุ่ม คือ
1.ผู้สูงวัย ที่ไม่ค่อยออกนอกบ้าน กลุ่มติดเตียง อาจรับเชื้อจากผู้ดูแล ญาติในบ้าน ผู้ที่มาเยี่ยม
2.กลุ่ม 608 ที่ยังทำงานได้ เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้อื่น ทั้งเพื่อน คนรู้จัก ญาติ รวมทั้งไปในสถานที่แออัด /พลุกพล่าน เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
3.เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จากข้อมูลเสียชีวิต 60% มีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัวและญาติ อีก 40% ไม่สามารถระบุได้ อาจจะมีการพาออกไปข้างนอกแล้วติดเชื้อ ลูกหลานแรงงานต่างด้าวหลายรายติดเชื้อป่วยและรับการรักษาไม่ทัน นอกจากนี้ ในส่วนเด็กวัยเรียนมีการติดเชื้อสูงแต่ลดลงจากปิดเทอม และวัยทำงานที่ติดเชื้อสูงมาก ซึ่ง 2 กลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อแล้วอาจแพร่ต่อไปยัง 3 กลุ่มเสี่ยงได้
สถานที่เสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยง ต่อการแพร่โรควงกว้าง คือ
1.ดื่มเหล้า รับประทานอาหารร่วมกัน เนื่องจากไม่ได้สวมหน้ากาก ในสถานที่ปิดที่การระบายอากาศไม่ดี รวมถึงการรับประทานร่วมกันในบ้าน ดังนั้น แม้คนในบ้านจะไม่ค่อยออกนอกบ้านก็ต้องฉีดวัคซีน
2.การร่วมงานหรือกิจกรรมที่มีผู้คนแออัด ไม่มีมาตรการควบคุมโรคไม่ดีหรือรัดกุมไม่เพียงพอ
3.ขนส่งสาธารณะ รถโดยสารที่แออัด อาจทำให้ติดเชื้อได้
แม้วัยทำงานและวัยเรียนที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่มีอาการ แต่อาจนำเชื้อกลับไปแพร่คนอื่นต่อได้ การปฏิบัติตัวสำคัญคือมาตรการทำความสะอาดในขนส่งสาธารณะ การไปพบผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง สวมหน้ากากอนามัย ตรวจ ATK ว่าลบจะได้มั่นใจมากขึ้น การโดยสารขนส่งสาธารณะในช่วงที่ไม่สวมหน้ากากค่อนข้างนาน เช่น ดื่มน้ำนานไป ก้มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพระาฉะนั้น การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคขณะโดยสารเป็นสิ่งสำคัญ
ในช่วงสงกรานต์จึงมี 4 ช่วงหลัก คือ
1.เตรียมตัวก่อนร่วมงานก่อนเดินทาง ขอให้ฉีดวัคซีน เพราะหากป่วยจะไม่ป่วยหนัก ให้ผลตรวจ ATK เป็นลบก่อนไปรวมงานกิจกรรมที่มีคนมาก จะได้ไม่เอาเชื้อไปแพร่ให้คนอื่น หากบวกก็จะต้องหยุดอยู่กับบ้านเพื่อกักตัว สวมหน้ากากอนามัยและสังเกตว่าสถานที่ที่ไปหรือไปร่วมมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคดี เช่น เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนล่วงหน้า หรือตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมงาน มีการทำความสะอาดที่ดี
2.ระหว่างเข้าร่วมงานสงกรานต์ สถานที่จัดงานส่วนใหญ่มักมีมาตรการควบคุมโรค ที่ห้ามตอนนี้คือประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ที่ทำให้ใกล้ชิดกันเกินไป รวมถึงการดื่มเหล้าทานข้าวร่วมกันจำนวนมากมีความเสี่ยงสูง
3.กิจกรรมในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน ให้สวมหน้ากากมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ระหว่างทานข้าวก็เว้นระยะห่างมากขึ้น รวมถึงใช้เวลาให้สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยงแพร่ต่อบุคคลอื่น
4.หลังกลับจากสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเองช่วง 5-7 วันแรกก่อนกลับไปทำงานว่าไม่ป่วย งดพบปะผู้คนจำนวนมาก และตรวจ ATK ผลเป็นลบ สำหรับสถานประกอบการที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก อยากให้พิจารณาพนักงาน Work From Home (WFH)เป็นชุดๆ หรือบางส่วน 5-7
ที่สำคัญ ขอความร่วมมือประชาชน 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1.ผู้สูงวัย เด็ก 5 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว รีบไปฉีดวัคซีน
2.ก่อนพบกลุ่ม 608 ให้สวมหน้ากากและมีATKเป็นลบ
3.เลี่ยงพาผู้สูงวัย เด็กเล็ก ไปสถานที่พลุกพล่าน แออัด
4.เลี่ยงทานข้าว ดื่มสุรา ร่วมกันเป็นเวลานาน
5.เตรียมคัวให้พร้อมก่อนเดินทาง สังเกตมาตรการที่จัดงาน
6.สถานประกอบการ พิจารณาให้พนักงาน WFH 5-7 วัน ก่อนกลับทำงานและมีATKเป็นลบ
ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด ระลอกนี้ จำนวนผู้ติดเชื้ออาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาสถานการณ์มากนัก แต่จะมุ่งดูที่จำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต รวมถึงอัตราครองเตียง ทว่า ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.2565 บางเขตสุขภาพมีอัตราครองเตียงระดับ 3 ระดับที่ดูแลผู้ป่วยหนักที่สุด อยู่ในระดับสีเหลืองแล้ว คือ 50 %ขึ้นไปแล้ว ประกอบด้วย
- เขตสุขภาพที่ 4 อัตรา 70.4%
- เขตสุขภาพที่ 7 อัตรา 68.3%
- เขตสุขภาพที่ 8 อัตรา 58.2%
- เขตสุขภาพที่ 10 อัตรา 68.3%
- เขตสุขภาพที่12 อัตรา 55.3%
หากช่วงสงกรานต์ใช้ชีวิตแบบชะล่าใจ ไม่ระวังตัวเองขั้นสูงสุด ก็เป็นไปได้สูงมากที่หลังสงกรานต์ จะเข้าสู่การเตือนภัยโควิด19 ระดับ 5 เป็นระดับสูงสุด โดยเฉพาะหากอัตราครองเตียงขึ้นไปถึง 80 %