ร้อนนี้ เลือกบริโภคน้ำแข็ง อย่างไร? อย่างปลอดภัย
อย. ห่วงใยสุขภาพประชาชนในช่วงหน้าร้อน ขอให้ระมัดระวังการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะน้ำแข็ง ควรเลือกที่มีภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท สะอาด มีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วน และมีวิธีการขนส่งเก็บรักษาที่เหมาะสม
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อน ประชาชนมีการบริโภคน้ำแข็งเป็นจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ด้านการกำกับดูแลสุขาภิบาลอาหารและน้ำ
สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย หน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit) ทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
จากการตรวจติดตามการประเมินสุขลักษณะของสถานที่ผลิตน้ำแข็งในเขตกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องพบว่าสถานที่ผลิตน้ำแข็งผ่านเกณฑ์การผลิตอาหารที่ดี (Good Manufacturing Practice : GMP) ตามกฎหมาย และจากการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์น้ำแข็งทั้งชนิดที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท และน้ำแข็งชนิดที่ตักแบ่งหรือกดจากตู้จำหน่าย
- วิธีเลือกซื้อน้ำแข็งให้ปลอดภัย ห่างจุลินทรีย์ปนเปื้อน
โดยการสุ่มตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ด้านจุลินทรีย์ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นจากแหล่งจำหน่ายในบริเวณชุมชน เช่น ตลาดนัด ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ สถานีขนส่งสาธารณะ สถานีรถไฟ และสนามบิน เป็นต้น ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 53 รายการ เป็นน้ำแข็งชนิดที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท จำนวน 37 รายการ
พบว่าได้มาตรฐานทั้งหมด ส่วนน้ำแข็งชนิดที่ตักแบ่งหรือกดจากตู้จำหน่าย จำนวน 16 รายการ พบว่าไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 13 รายการ และผลการตรวจวิเคราะห์น้ำแข็งทั่วประเทศจาก 12 เขตบริการสุขภาพ พบว่าน้ำแข็ง จำนวน 210 รายการ ได้มาตรฐาน จำนวน 152 รายการ (ร้อยละ 72.38) และไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 58 รายการ (ร้อยละ 27.62)
ทั้งนี้ อย. ยังคงดำเนินการตรวจเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง และพัฒนาทักษะมาตรฐานการตรวจสอบสถานที่ผลิตของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมกับการปฏิบัติงานจริง (On the Job Training) รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับผู้บริโภคและผู้จำหน่ายในการเลือกซื้อและ
การจำหน่ายน้ำแข็งอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การเลือกซื้อน้ำแข็ง
- ควรเลือกที่มีภาชนะบรรจุสะอาดและปิดสนิทแน่นหนา
- ไม่ฉีกขาด น้ำแข็งต้องใสสะอาด
- ไม่มีคราบ สี หรือกลิ่นที่ผิดปกติ
- ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง
- มีการแสดงฉลากภาษาไทย ระบุรายละเอียดของชื่ออาหาร เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม
- ต้องมีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน
- ผู้จัดจำหน่ายน้ำแข็งปนเปื้อนจุลินทรีย์มีโทษตามกม.
สำหรับการเลือกซื้อน้ำแข็งบดหรือน้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งหรือกดจากตู้จำหน่าย หรือเสิร์ฟตามร้านอาหาร ที่ไม่มีฉลาก
- เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนนี้ โอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์มีมากขึ้น
- ผู้บริโภคควรหมั่นสังเกตลักษณะของน้ำแข็งที่จะบริโภคให้มากขึ้น
- สถานที่เก็บรักษา และภาชนะที่บรรจุต้องสะอาด
- ผู้จำหน่ายควรมีวิธีการตัก และเก็บน้ำแข็งอย่างเหมาะสม เช่น การเก็บในภาชนะที่สะอาด มีการล้างทำความสะอาดภาชนะอย่างสม่ำเสมอ และการไม่แช่สิ่งของอื่นร่วมกับน้ำแข็งที่จะบริโภค เป็นต้น
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า หาก อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ