ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ วอน กทม. เร่งดำเนินการสวัสดิการหนังสือในบ้านเด็กเล็ก
เครือข่ายวัฒนธรรมการอ่าน ผนึกกำลังออกแถลงการณ์ 5 ข้อ วอน กทม. เร่งดำเนินการสวัสดิการหนังสือในบ้านเด็กเล็ก เสริมพัฒนาการเด็กไทยสมวัย หยุดภาวะ learning Loss
หนังสือและกิจกรรมการอ่านคือเครื่องมือและกระบวนการสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก เพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จัก “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. ) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และภาคีเครือข่าย กว่า 10 องค์กร จัดเสวนา “พลังการอ่านฟื้นวิกฤติเด็กปฐมวัย” รวมพลังชุมชนเมือง สร้างวิถีวัฒนธรรมการอ่านเพื่ออนาคต
โดยมีการรวบรวมข้อมูล และสะท้อนถึงสถานการณ์การอ่านหนังสือของเด็กไทย ซึ่งพบว่า มีความเหลื่อมล้ำสูง เด็กเข้าไม่ถึงหนังสือที่เหมาะสมตามช่วงวัย กลายเป็นการขาดโอกาสในการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง
โดยเฉพาะการระบาดของโรคโควิด 19 ยิ่งส่งผลให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำขยายออกไปมากขึ้น ด้วยสถานศึกษา สถานเลี้ยงเด็กถูกปิดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ดังนั้น เพื่อเป็นการหยุดซ้ำเติมภาวะความรู้ การเรียนถดถอย (learning Loss) แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และภาคีเครือข่าย กว่า 10 องค์กร
โดยมีนางอังคณา ขาวเผือก ผู้แทนคณะทำงานสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ ( สอช. ) และเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ผนึกกำลังออกแถลงการณ์เจตนารมณ์ ข้อเรียกร้องจากข้อเรียกร้องจากเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ต่อกรุงเทพมหานคร
- วอนกทม.จัดสวัสดิการหนังสือในบ้านเด็กเล็ก
ทั้งนี้ ใจความในแถลงการณ์ ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีความเจริญ เป็นเมืองแห่งโอกาสที่ทำให้ผู้คนจากภูมิภาคต่าง ๆ มุ่งเข้ามาไขว่คว้าหาโอกาสในชีวิต ทั้งการศึกษา การงานเลี้ยงชีพ ปัจจุบันมีประชากร 5,588,222 ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อย ๆ เพียง 77,312 คน ต่อปี
เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ แต่เด็ก ๆ ในกรุงเทพฯ กลับต้องเผชิญภาวะมลพิษจากสิ่งแวดล้อม ความเร่งรีบของวิถีชีวิตครอบครัวในเมือง รวมถึงผลกระทบครั้งใหญ่จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เด็กเล็กในชุมชนเปราะบางขาดการพัฒนาในทุกมิติ ยิ่งซ้ำเติมพัฒนาการล่าช้า ที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การมีหนังสือและกิจกรรมการอ่าน จะเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยา และพัฒนาเด็กและครอบครัวในสถานการณ์วิกฤตินี้ โดยเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านฯ
พบว่า การอ่านหนังสือช่วยให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นทุกมิติ ทั้งสุขภาพด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมถึงทักษะการสื่อสาร และยังทำให้คนทุกวัยในชุมชนเข้ามาให้ความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพของชุมชนด้วย
- ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ ส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านการอ่าน
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตของสมองกว่า 80 % ของชีวิตมนุษย์ เป็นช่วงวัยที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนสูงที่สุด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพ เครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านฯ จึงขอแสดงเจตนารมณ์ เรียกร้องต่อหน่วยงานต่าง ๆ และกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1. ขอให้กรุงเทพมหานครกำหนดนโยบาย งบประมาณ และปฏิบัติการทางสังคมให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จัดซื้อ จัดหาหนังสือดี มีคุณภาพ เหมาะสมวัยให้เด็ก 0-3 ปี มีสวัสดิการหนังสือในบ้านอย่างน้อย 3 เล่ม และหนังสือหมุนเวียนทุกครั้งของการฉีดวัคซีน
2. ขอให้กรุงเทพมหานครจัดให้มีการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่มีภารกิจด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย อาทิ บุคลากรสาธารณสุข ครูพี่เลี้ยง ครูในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ - 6 ปี
3. จัดให้มีห้องสมุดระดับชุมชน ห้องสมุดของกรุงเทพฯ ที่มีหนังสือนิทาน หนังสือภาพสำหรับเด็กจำนวนมากขึ้น มีความหลากหลาย เพียงพอ รวมถึงสามารถขอยืมได้สะดวก ยืมได้ทีละหลาย ๆ เล่ม มีระยะเวลาการยืมที่นานขึ้น
รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้มุ่งพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function หรือ EF) ในเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้คนเราสามารถควบคุม ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และหรือมีบริการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเคลื่อนที่สู่ชุมชน
เพื่อให้เด็กและครอบครัวเห็นคุณค่า ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการอ่านในวิถีชีวิต สามารถเข้าถึงหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างสม่ำเสมอ
4. สนับสนุน ส่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะการจัดให้มีธรรมนูญชุมชนเพื่อสร้างระบบการปกป้อง ดูแล พัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกัน
5. ขอให้กรุงเทพมหานครจัดให้มีความร่วมมือกับสื่อมวลชน สื่อออนไลน์ สื่อชุมชน ฯลฯ เพื่อสื่อสารรณรงค์ จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อร่วมสร้างวิถีวัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัยทุกมิติ ในการวางรากฐานการเติบโตเป็นพลเมืองสร้างสรรค์
ทั้งนี้ เครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย กรุงเทพมหานคร พร้อมสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนร่วมพัฒนาเด็กปฐมวัยและครอบครัวอย่างมุ่งมั่น
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.happyreading.in.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่เพจ "อ่านยกกำลังสุข"