เมษายน "เดือนแห่งการตระหนักรู้ออทิสซึม" เพื่อผู้ป่วยออทิสติก
การทำความเข้าใจผู้ป่วยออทิสติกนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในบางสังคม เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดวันแห่งการตระหนักรู้ออทิสซึมขึ้นมาเพื่อให้สังคมเข้าใจผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น
สำหรับเดือนเมษายนนั้นไม่ได้มีวันสำคัญเพียงแค่วัน April Fool’s Day และวัน Fact Checking Day ของทางโลกตะวัน หรือเทศกาลสงกรานต์ของบ้านเราเท่านั้น แต่ยังมี “วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก” (World Autism Awareness Day) ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ให้เป็นวันที่ 2 เม.ย. ของทุกปี ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2550
ซึ่งมีบางประเทศจัดเป็นสัปดาห์ตระหนักรู้ออทิสติก ในช่วงสัปดาห์เดียวกับวันที่ 2 เม.ย. เช่น สหราชอาณาจักร หรือในบางประเทศจัดเป็นเดือนตระหนักรู้ออทิสติก ตลอดเดือนเมษายน เช่น สหรัฐอเมริกา แต่ไม่ว่าจะจัดเป็น วัน สัปดาห์ หรือตลอดทั้งเดือน ทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันก็คือ ต้องการสนับสนุนให้สังคมมีความเข้าใจและยอมรับในตัวของบุคคลที่เป็นออทิสติก
รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ป่วยออทิสติกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสิทธิเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป และที่สำคัญสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข
ทางด้านองค์กรออทิสติกแห่งอเมริกา ได้กำหนดให้ใช้ริบบิ้นรูปจิ๊กซอร์ (puzzle ribbon) เพื่อเป็นสัญลักษณ์สากลของการตระหนักรู้ออทิสติก โดยสามารถดัดแปลงมาทำเป็นเข็มกลัดติดเสื้อ แม่เหล็ก หรือสติกเกอร์ เพื่อแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการตระหนักรู้
นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์โดยใช้สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์อีกด้วย เช่น ใส่เสื้อผ้าสีฟ้า หรือตกแต่งสถานที่เป็นสีฟ้า ในช่วงเดือนแห่งการตระหนักรู้ออทิสซึม
- ทำความเข้าใจโรคออทิสติก
“โรคออทิสติก” (autistic disorder) หรือกลุ่ม “อาการออทิสติก” (autistic spectrum) เป็นความผิดปกติทางจิตเวชเด็กที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ ได้แก่ ภาษา สังคม และพฤติกรรม ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความพร่องทางพัฒนาการ
ซึ่งอาการแสดงพบได้ตั้งแต่ระดับรุนแรงเล็กน้อยจนถึงระดับรุนแรงมาก ในกลุ่มเด็กที่มีอาการออทิสติกนั้นจะมีพัฒนาการที่ล่าช้าอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านภาษาเพื่อสื่อสารทางสังคม และ ด้านพฤติกรรม
- ปัญหาด้านการสื่อสาร
ด้านภาษาเพื่อสื่อสารทางสังคม ผู้ป่วยจะมีปัญหาในส่วนของการพูดและการสื่อสารทางกาย ได้แก่ ในเด็กเล็ก เช่น การที่ไม่สบตา ไม่ยิ้มตอบ ไม่มองหน้าคน ไม่สนใจเวลามีคนเรียกชื่อ พูดได้ช้ากว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน หรือพูดไม่เป็นภาษา
และเมื่อโตขึ้น จะสังเกตได้ว่าเด็กไม่รู้วิธีเริ่มต้นบทสนทนากับผู้อื่น ขาดความสามารถในการเข้าหาเด็กคนอื่น มักจะเล่นตามลำพังหรือแยกตัวออกจากผู้อื่น และเมื่อเข้าวัยเรียน อาจมีปัญหาไม่เข้าใจสีหน้าท่าทางและอารมณ์ของผู้อื่น ส่งผลให้ไม่เข้าใจสถานการณ์ทางสังคม
- ปัญหาด้านพฤติกรรม
เด็กจะมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการสะบัดมือซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ ชอบมองพัดลมหมุน ๆ กินอาหารซ้ำ ๆ ไม่ยืดหยุ่น ต้องทำตามขั้นตอน หรือแบบแผนที่วางไว้
มีความไวต่อการรับรู้ทางประสาทสัมผัสมากหรือน้อยผิดปกติ เช่น ไม่ชอบเสียงบางอย่าง ชอบเข้าไปดมกลิ่นแปลก ๆ มากผิดปกติ
- การดูแลรักษาเด็กที่ป่วยเป็นออทิสติก
ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจดูแลรักษา ส่งเสริมพัฒนาการ รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมและฝึกทักษะในการเข้าสังคม โดยแพทย์และทีมสหวิชาชีพ หากสามารถพามารับการดูแลรักษาได้เร็ว
โดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบปีแรก จะช่วยส่งผลให้มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ โดยจะช่วยทำให้เด็กสามารถปรับตัวกับสังคม เข้าโรงเรียน ช่วยเหลือตัวเองได้ ถึงอย่างไรก็ดี ออทิสติกนั้นเป็นเพียงภาวะหนึ่งที่ทำให้คนเรามีความแตกต่างกัน
ดังนั้นถ้าหากคนในสังคมมีความตระหนักถึงกลุ่มเด็กที่มีอาการออทิสติก ยอมรับ เข้าใจ และให้โอกาส ก็จะมีส่วนร่วมส่งเสริมให้กลุ่มเด็กที่มีอาการออทิสติกมีโอกาสได้รับการศึกษา ประกอบอาชีพ และ สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปมากที่สุดอย่างมีความสุข
อ้างอิงข้อมูล : หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่