วิธีรับมือ "พายุฤดูร้อน" บางพื้นที่ยังเจอฝนตกหนัก ต้องเลี่ยงจุดเสี่ยง

วิธีรับมือ "พายุฤดูร้อน" บางพื้นที่ยังเจอฝนตกหนัก ต้องเลี่ยงจุดเสี่ยง

เมื่อ "พายุฤดูร้อน" ยังคงถล่มประเทศไทยอย่างหนักในบริเวณภาคเหนือและอีสาน บางพื้นที่พบพายุลูกเห็บขนาดใหญ่ สร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือน ปภ. แนะวิธีรับมือพายุฤดูร้อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

"พายุฤดูร้อน" ยังคงพัดถล่มประเทศไทยต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ (19 เม.ย.) กรมอุตุฯ รายงาน พยากรณ์อากาศ ระบุว่า พบความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมบริเวณดังกล่าว ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน

ทำให้ "ภาคกลาง" (ฝั่งตะวันตก) และ "ภาคใต้" (ตอนบน) มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ มีลูกเห็บตก และมีฝนตกหนักบางแห่งใน "ภาคเหนือ"

จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจเกิดอันตรายจากลมกระโชกแรงและฟ้าผ่าได้

ส่วนทางด้าน "เกษตรกร" ควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

จากรายงานข้างต้น พื้นที่ที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือ "ภาคเหนือ ภาคกลาง(ฝั่งตะวันตก) และภาคใต้" ที่พบว่าได้รับผลกระทบจาก "พายุฤดูร้อน" ค่อนข้างหนัก ทั้งฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชก ลูกเห็บตก และน้ำท่วมขังฉับพลัน ดังนั้น ประชาชนใน 3 พื้นที่ดังกล่าว จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและป้องกันตนเองไม่ได้รับอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองในช่วงนี้

โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ให้คำแนะนำวิธีรับมือและป้องกันอันตรายจาก "พายุฤดูร้อน" ไว้ดังนี้ 

1. ติดตามข่าวสาร ประกาศจากพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

2. ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะประตู หน้าต่าง และหลังคาบ้าน พร้อมจัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกสิ่งของพัดกระแทก 

3. ไม่ทำกิจกรรมต่างๆ กลางที่โล่งแจ้ง หลีกเลี่ยงการพกพาหรือสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า และงดเดินกลางแจ้งท่ามกลางพายุฝนฟ้าคะนอง แม้จะกางร่มก็ตาม

4. กรณีที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง ต้องระวัง ไม่เข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง หากพบเห็นเสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาที่มีสภาพทรุดโทรม ดูไม่มั่นคงแข็งแรง ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขหรือถอดเก็บออกไป

5. งดใช้เครื่องมือสื่อสาร-อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพื่อป้องกันอันตราย แม้โทรศัพท์มือถือจะไม่ใช่ชนวนล่อ "ฟ้าผ่า" ได้โดยตรง แต่อาจมีผลเหนี่ยวนำให้แบตเตอรี่ในมือถือเกิดการลัดวงจรและระเบิดได้

6. ขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่ควรอยู่บริเวณดาดฟ้าหรือระเบียงเพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า

7. ขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ควรรีบปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรง ที่พัดกระแทกบานประตู-บานหน้าต่าง

8. ในกรณีที่ต้องขับรถสัญจร ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนขณะเดินทางผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เพราะถนนลื่น วิสัยทัศน์ไม่ชัดเจน เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและเสี่ยงต่อฟ้าผ่า

9. ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

--------------------------------------

อ้างอิง : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)