ระวัง! ยามอมสาว "วัยรุ่นลิ้นฟ้า" เทรนด์อันตรายเสี่ยงต่อชีวิต

ระวัง! ยามอมสาว "วัยรุ่นลิ้นฟ้า" เทรนด์อันตรายเสี่ยงต่อชีวิต

การอวดลิ้นที่เปลี่ยนเป็นสีฟ้า กลายเป็นเทรนด์ขอวัยรุ่น ที่เผยแพร่ตามโลกโซเซียลมีเดีย ซึ่งการทำให้ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีฟ้านั้น ไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือ ขนม น้ำดื่มแต่อย่างใด แต่เป็นการใช้ "ยาลิ้นฟ้า" หรือ "ยาโรฮิบนอล" หรือที่รู้จักกันในนาม ยามอมสาว

หลังจากที่ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน โพสต์เฟซบุ๊ก “หมอแล็บแพนด้า ระบุว่า "ตอนนี้วัยรุ่นบางกลุ่มชอบอัปคลิปตัวเองตอนเมา แล้วแลบลิ้นที่มีสีฟ้าออกมาซึ่งมันคือ "ยาโรฮิบนอล 542" หรือ "ยาลิ้นฟ้า" มันไม่ใช่จะซื้อขายกันได้ง่ายๆ เป็นยาควบคุมต้องเป็นหมอที่จ่ายยาให้ ไม่ใช่ขายกันตามออนไลน์ 

วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" จะพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับยาลิ้นฟ้า ยาที่ไม่ใช่เพียงทำให้มีอาการลิ้นเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเท่านั้น แต่เป็นยาอันตราย ที่หากใช้ผิดอาจจะนำมาสู่ผลเสียต่อจิตใจ และร่างกายได้ 

  • “ยาลิ้นฟ้า” หรือ “ยาโรฮิบนอล” คืออะไร?

 "ยาลิ้นฟ้า" คือ "ยาโรฮิบนอล" ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของยาในกลุ่มฟลูนิแทรซิแพม (Flunitrazepam) หรือ อาจเป็นกลุ่มยาลักษณะเดียวกัน จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถือเป็นยาควบคุม ไม่มีขายทั่วไป ต้องจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น

“ยาลิ้นฟ้า” มีประโยชน์ทางเภสัชวิทยา คือ มีฤทธิ์บรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับ สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ คลายกล้ามเนื้อ ต้านการชัก และกดระบบการหายใจ

โดยประโยชน์ทางการแพทย์ flunitrazepam เป็นยานอนหลับ มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับและสูญเสียความทรงจำชั่วขณะ จึงนิยมใช้เป็นยานอนหลับ ยานำสลบ และสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : "ยาลิ้นฟ้า" ระบาด สั่งตำรวจ ปส. ลุยสถานพยาบาล-ผู้แอบขาย ฟันโทษหนักถึงจำคุก

                         สธ. เตือน "ยาลิ้นฟ้า" ผู้ขาย-ผู้เสพ โทษติดคุก 7 ปี ปรับสูงสุด 7 แสนบาท

                        "หมอแล็บแพนด้า" เตือนเทรนด์ วัยรุ่นลิ้นฟ้า "ยาลิ้นฟ้า" อันตรายอย่าหาทำ

                        รู้จัก "ยาเสียสาว" (Alprazolam) ระวังตัวเองอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

                        เตือนภัยยาเสียสาว (GHB) ฤทธิ์รุนแรง อันตรายถึงตาย

 

  • ยาโรฮิบนอล รู้จักในนาม ยามอมสาว

โรฮิบนอลจะถูกใช้ด้วยการนำไปละลายในน้ำดื่มหรือเครื่องดื่ม โดยยาตัวนี้จะมีลักษณะเป็นเม็ดสีเขียวและเมื่อใส่ลงไปในน้ำเม็ดยาจะละลายกลายเป็นสีฟ้าทำให้สังเกตเห็นได้โดยง่ายหากใส่ลงไปในน้ำเปล่า ส่วนยาอีกรุ่นหนึ่งจะมีลักษณะเป็นเม็ดสีขาว พิมพ์คำว่า “ROCHE” บนตัวยา ยาตัวนี้จะไม่ปรากฏสีใดๆ ไม่มีกลิ่น หรือรสชาติ

เมื่อใส่ลงไปในเครื่องดื่มหรือน้ำเปล่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ มีวิธีการใช้ยาหลายวิธี เช่น กินทั้งเม็ด บดเป็นผงเพื่อผสมน้ำ หรือสูดผงผ่านทางจมูก เป็นต้น

  • การออกฤทธิ์ของยาลิ้นฟ้าที่ควรรู้

flunitrazepam ออกฤทธิ์เร็วหลังรับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทำให้นอนหลับ ภายในเวลา 20-30 นาทีหลังการรับประทานยา และฤทธิ์จะอยู่นานประมาณ 8-12 ชั่วโมง

เนื่องจากมีการนำยานี้ไปใช้ในทางที่ผิดอยู่บ่อยๆเช่นใช้นำไปมอมผู้หญิงเพื่อให้เหยื่อ หมดแรงต่อสู้และจำอะไรที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ หรือมอมสุภาพบุรุษเพื่อปลดทรัพย์หรือก่ออาชญากรรม อื่นๆเป็นต้น

โดยส่วนใหญ่ใช้ผสมในเครื่องดื่มโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เพื่อทำให้ flunitrazepam ออกฤทธิ์กดประสาทแรงขึ้น บริษัทยาที่ผลิตจึงเปลี่ยนรูปแบบจาก เม็ดกลมขนาดเล็กสีขาวเป็นเม็ดรูปรีขนาดใหญ่สีเขียวซึ่งเมื่อนำมาผสมเครื่องดื่มจะเห็นตะกอน ของตัวยาไม่สำคัญตกอยู่ก้นแก้วและเครื่องดื่มก็จะมีสีเขียวเพื่อให้ผู้ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เห็นชัดเจนขึ้น

ขนาดความแรงชนิดเม็ด 1มก./เม็ด

 

  • ผลกระทบของการใช้ยาลิ้นฟ้าทั้งระยะสั้น และระยะยาว

ยาโรฮิบนอลออกฤทธิ์ทำให้ผู้ใช้ยามีอาการง่วงซึมและผ่อนคลาย แต่ก็มีผู้ใช้ยาอีกจำนวนหนึ่งที่เกิดอาการตื่นตัว กระสับกระส่าย และก้าวร้าว โดยยาจะออกฤทธิ์หลังจากการเสพประมาณ 15 – 20 นาที และจะมีฤทธิ์ค้างอยู่ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง สำหรับการใช้ปริมาณที่มากขึ้นอาจทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานถึง 12 ชั่วโมง

การใช้ยาในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมตัวเอง เป็นลมหมดสติ และความจำเสื่อมชั่วขณะได้ นอกจากนี้ การใช้ยาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดอื่นๆ จะทำให้ผู้ใช้เป็นลมหมดสติและสูญเสียความทรงจำในช่วงเวลาที่ยาออกฤทธิ์

ผลกระทบระยะสั้น มีดังนี้

  • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
  • อาเจียน
  • เกิดอาการสับสน
  • มีอาการสั่น ชัก
  • ฝันร้าย
  • พูดไม่ชัด พูดตะกุกตะกัก หรือมีปัญหาในการพูด
  • ระบบการทำงานของสมองและการคิดตัดสินบกพร่อง
  • ระบบการควบคุมแขนขาและกล้ามเนื้อผิดปกติ
  • ความจำเสื่อม

แม้ยาโรฮิบนอลเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นยามอมสาว แต่หลายคนใช้ยาชนิดนี้เพื่อให้พวกเขามีอาการเมายา บางคนมีการใช้ยานี้มาเป็นระยะเวลานานจนเกิดอาการดื้อยา ทำให้พวกเขาต้องใช้ยาในปริมาณมากยิ่งขึ้น และแน่นอนที่การใช้ยาอย่างเป็นประจำในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ นั้นคืออาการเสพติดยานั่นเอง

ผลกระทบระยะยาว มีดังนี้

  • ความบกพร่องทางเพศ
  • นอนไม่หลับ
  • มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ
  • เกิดภาวะซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ 

 

  • เสพมากอันตรายต่อชีวิต เหมือนยาเสพติด เลิกได้ยาก

การใช้ยาโรฮิบนอลทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดและเลิกยาได้ยาก การเลิกแบบหักดิบอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการสั่น มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ เป็นลมชัก เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากการเลิกยาที่รุนแรง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือนักบำบัดยาและขอคำแนะเกี่ยวกับวิธีการเลิกที่ถูกต้องเหมาะสม วิธีการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยค่อยๆ เลิกยาโดยที่ไม่ต้องกดดันตัวเองมากเกินไปจนทำให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ การร่วมกิจกรรมหรือเข้ากลุ่มบำบัดถือเป็นวิธีการที่ดีวิธีหนึ่งเช่นเดียวกัน

  • ข้อควรปฎิบัติ  หลีกเลี่ยงการใช้ยาโรฮิบนอล

การปฏิเสธการใช้ยา เป็นทางเลือกที่ดี หากมีคนชักชวนให้คุณลองใช้ยา แต่หากเผลอดื่มเครื่องดื่มที่ผสมยาเข้าไปแล้ว เนื่องจากยาบางรุ่นไม่มีสี กลิ่น หรือรสชาติ ทำให้คุณไม่สามารถสังเกตเห็นได้

  1. ลดความเสี่ยงจากการใช้ยาโดยไม่รู้ตัว
  2. เพิ่มความระมัดระวังเมื่อไปเที่ยวยามราตรีหรือไปงานเลี้ยงกับเพื่อนๆ
  3. ไม่ควรรับเครื่องดื่มใดๆ จากคนแปลกหน้าหรือจากคนที่คุณไม่ได้สนิทชิดเชื้อด้วย
  4. เมื่อต้องลุกไปไหนควรหยิบเครื่องดื่มของตัวเองไปด้วย อย่าวางทิ้งไว้ 
  5. เมื่อไปกับเพื่อน ควรต่างช่วยเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน และหากเพื่อนคนใดคนหนึ่งของคุณเป็นลมหมดสติไปจะต้องรีบนำเพื่อนของคุณส่งโรงพยาบาลโดยทันที
  6. หากคุณสังเกตเห็นว่ามีผู้ไม่หวังดีกำลังมอมยาใครสักคนเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศหรือเพื่อการข่มขืน คุณต้องรีบโทรแจ้งตำรวจ แม้ว่าคนๆ นั้นจะเป็นเพื่อนคุณ เพราะคุณควรเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องแม้ต้องเสียเพื่อนไปก็ตาม และหากคุณรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างแต่คุณไม่ยอมแจ้งตำรวจหรือบอกใคร คุณเองก็จะมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดด้วย
  • ลักลอบจำหน่ายยา เข้าข่ายผิดกฎหมาย

ปัจจุบัน ยาโรฮิบนอล (Rohypnol) ควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 จึงเป็นยาที่ไม่มีขายทั่วไป ต้องจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น

การจ่ายยาชนิดนี้  สถานพยาบาลใดจ่ายยาดังกล่าว ต้องทำรายงานส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อย่างไรก็ตาม flunitrazepam ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ผู้มีสิทธิสั่งจ่ายได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตว์แพทย์ เท่านั้น ห้ามมิให้จำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป และผู้ที่จะใช้ยานี้ได้ก็ต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการลักลอบซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้

  • ผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท
  • สำหรับการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จะต้องขอรับ "ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุ ออกฤทธิ์" ด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

 

อ้างอิง: กระทรวงสาธารณสุข , hd.co.th