สปสช. เปิดรับสมัคร “คลินิกเวชกรรม” ทั่ว กทม. ให้บริการสุขภาพคนกรุง
ใกล้บ้านใกล้ใจ เจ็บป่วยที่ไหนก็สามารถใช้บริการได้ สปสช. เปิดรับสมัคร “คลินิกเวชกรรม” ทั่ว กทม. หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรมในระบบบัตรทอง รองรับผู้เจ็บป่วยในกทม.เข้าถึงบริการสุขภาพ ตั้งเป้าอีก 500 แห่ง คาดเริ่มให้บริกร 1 ต.ค.นี้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการประเมินหน่วยบริการ (สถานพยาบาล)ในพื้นที่ต่างๆ พบว่า บางพื้นที่ยังมีหน่วยบริการ ที่ไม่เพียงพอต่อประชาชน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีประชากร 7.8 ล้านกว่าคน และหากรวมประชากรแฝง จะมีประชากรประมาณ 10 กว่าล้านคน ขณะที่หน่วยบริการ (สถานพยาบาล) มีประมาณ 270 แห่ง
"สปสช." จึงมีนโยบายเพิ่มคลินิกเวชกรรมเข้ามาเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรมในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้ามารองรับประชาชนที่เกิดเจ็บป่วยเล็กน้อยในบริการแบบผู้ป่วยนอกโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่าผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่กทม.มีจำนวนมาก แต่อัตราการใช้บริการของประชาชนถือว่าต่ำมาก โดยในต่างจังหวัด ผู้ป่วยนอก จะใช้บริการประมาณ 4 ครั้งต่อคนต่อปี แต่ในกทม.ใช้ไม่เกิน 1.5 ครั้งต่อคนต่อปี
ทั้งนี้ สิทธิบัตรทองปัจจุบันนี้ พื้นที่ กทม. ถือเป็นพื้นที่นำร่อง ถ้าประชาชนเจ็บป่วยสามารถเข้าไปใช้บริการ ณ ที่ใกล้ๆ ที่เจ็บป่วยได้ สามารถใช้บริการหน่วยบริการ (สถานพยาบาล)ใน กทม.ได้ ไม่ต้องกลับไปยังจังหวัดของตนเอง
- เปิดรับคลินิกเวชกรรม ทั่ว กทม.ในระบบบัตรทอง
จากการตรวจสอบร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พบว่ามีคลินิกเวชกรรมประมาณ 5,000 แห่ง ทั่ว กทม. เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นคลินิกเสริมความงามก็จะเหลือประมาณกว่า 2,000 แห่งที่เป็นคลินิกทั่วไป ขณะเดียวกันตอนนี้ก็มีคลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 200 แห่ง
"สปสช.เปิดรับสมัครคลินิกเวชกรรม ทั่ว กทม.เป็น หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรมในระบบบัตรทอง เนื่องจากขณะนี้มีหน่วยบริการไม่เพียงพอ ยังต้องการอีกจำนวนมาก ซึ่งตั้งเป้าว่าถ้าได้ประมาณ 500 แห่งน่าช่วยแบ่งเบากรณีที่มีผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการใกล้บ้านได้ โดยจะดูการกระจายตัว หรือความหนาแน่นในบางพื้นที่ให้สามารถรองรับผู้เจ็บป่วยได้ทันที ทุกคนได้เข้าถึงการบริการทางการแพทย์ สุขภาพมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน " พญ.ลลิตยา กล่าว
- เช็กหลักฐานการสมัครหน่วยบริการในระบบบัตรทอง
สำหรับหลักฐานในการสมัครนั้นจะต้องมีเอกสารดังนี้
- สำเนาใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล (สพ.7)
- สำเนาใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล (สพ.19)
- กรณีนิติบุคคล สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรงพาณิชย์ ซึ่งรับรองไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ออก
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนาม
- รายชื่อบุคลากรผู้ปฎิบัติงาน พร้อมสำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ/ ใบวุฒิการศึกษาของบุคลากรและสำเนาบัตรประชาชน
- ภาพถ่ายสถานที่ตั้งสถานบริการสาธารณสุข(ด้านนอกและด้านใน)
- แผนที่ตั้งของสถานบริการสาธารณสุข
- สำเนาหน้าแรก (Book Bank)ของบัญชี ธ. กรุงไทย หรือ ธอส.
- ย้ำเกณฑ์การเข้าร่วมกับสปสช. ไม่ยาก
ทั้งนี้ สำหรับเกณฑ์ในการเข้าร่วมนั้น หากคลินิกเวชกรรมได้ขึ้นทะเบียนกับ สบส.แล้วสามารถสมัครเข้าได้ทันที เพราะถือเป็นคลินิกเวชกรรมที่ถูกกฎหมาย มี พ.ร.บ.สถานพยาบาลรองรับอยู่แล้ว
พญ.ลลิตยา กล่าวต่อไปว่าผู้มาใช้บริการคลินิกเวชกรรม และหน่วยบริการต่างๆ ตามสิทธิบัตรทอง จะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาใดๆ โดยทางสปสช.จะจ่ายให้ทางคลินิกเวชกรรม และหน่วยบริการ ผ่านระบบการจ่ายค่าบริการแบบรายรายการ หรือ Fee schedule ซึ่งเป็นการจ่ายเมื่อเกิดบริการที่ในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 4,000 รายการในระบบ
ทาง สปสช.ได้ปรับปรุงระบบการบันทึกและจ่ายเงินที่เป็นปัจจุบัน (Real time) ซึ่งในส่วนนี้จะมีโปรแกรมฟรีให้กับคลินิกด้วย รวมไปถึงมีระบบการพิสูจน์ตัวตน และมีระบบส่งข้อมูลรายการที่ให้บริการ ฉะนั้นการเบิกจะไม่เป็นอุปสรรคเหมือนในอดีต
- คาดเริ่มบริการได้ในวันที่ 1 ต.ค.65
อย่างไรก็ตาม การเปิดรับคลินิกเวชกรรมเข้ามาเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรมนั้น ตั้งใจให้เริ่มบริการได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่
ขณะนี้จะมีการเสนอรายละเอียดให้กับคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) กทม.และหลังจากนั้นจะเริ่มประกาศผ่านสื่อเพื่อให้มีหน่วยบริการเข้ามาเสริมกลไกดังกล่าว ตั้งเป้าว่าวันที่ 1 ต.ค. จะเริ่มเปิดตัว และคาดว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถเปิดรับสมัครได้
ทั้งนี้ สำหรับคลินิกเวชกรรมที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ