รวบรวมทุก “อาชีพผู้สูงอายุ” หาเงินอย่างไร? ให้มีความสุข
ปัจจุบันผู้สูงอายุในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนทางกับอัตราการเกิดกลับลดลงและมีอัตราที่ช้ามาก สถานการณ์เด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยขณะนี้ต่ำกว่า 600,000 รายต่อปี และในปีนี้ก็มีอัตราการเกิดไม่ถึง 0.5% ด้วยซ้ำ อยู่ที่ 0.18% ถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อย
โดยประชากรผู้สูงอายุ ปี 2565 นั้นมีมากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.5% แบ่งเป็น
- “ผู้สูงอายุวัยต้น” ช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวน 6,843,300 คน คิดเป็น 56.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
- “ผู้สูงอายุวัยกลาง” ช่วงอายุ 70-79 ปี มีจำนวน 3,522,778 คน คิดเป็น 29.1% และ
- “ผู้สูงอายุวัยปลาย” อายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1,750,121 คน คิดเป็น 14.4%
ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น และหลายคนยังมีไฟในการทำงาน มีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยม "กรุงเทพธุรกิจ" ได้รวบรวม "อาชีพผู้สูงอายุ" ที่เหมาะสบกับผู้สูงอายุ สามารถยืดหยุ่นกับเวลา งานหนักหรืองานเบาก็สามารถทำได้ ใช้เวลาว่าง ทำได้ทั้งที่บ้านหรือสถานที่ใกล้ๆ ให้ได้เลือก เริ่มด้วย
อาชีพ-ธุรกิจที่เหมาะกับสูงอายุ รายได้ดี ชีวิตมีความสุข ทำงานที่บ้าน ทำงานออนไลน์ แก้เบื่อแก้เหงา
1.ปลูกผักหรือทำสวน
ผู้สูงอายุหลายคนชอบการปลูกผัก ทำสวน เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะได้อยู่กับธรรมชาติ ได้ใช้แรงเป็นการออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายไปด้วยในตัว ซึ่งผลผลิตที่ได้มา ก็สามารถนำมากินเองโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ ถ้าผลผลิตเหลือ ก็สามารถเอาไปขายตามท้องตลาด หรือฝากขายตามร้านสะดวกซื้อ
2.ทำอาหารหรือทำขนมขาย
ผู้สูงอายุบางท่านมีฝีมือในการทำอาหาร ชอบทำให้ลูก ๆ หลานๆ กินเป็นประจำอยู่แล้ว ลองหันมาทำอาหารหรือขนมขาย แบ่งปันความอร่อยให้คนนอกบ้านบ้าง ก็ดีไม่น้อยนะคะ ยิ่งในยุคสมัยนี้ มีช่องทางการขายมากมาย ทั้งร้านค้าออนไลน์ ช่องทางเดลิเวอรี่ หรือจะเปิดร้านขายที่บ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
3.เป็นที่ปรึกษาให้องค์กร
ผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็อาจจะเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่าง ๆ เนื่องจากความรู้และประสบการณ์ที่มีมากมาย หลายองค์กรจึงนิยมเชิญผู้สูงอายุที่เกษียณอายุการทำงานไปเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยในการตัดสินใจต่าง ๆ
4.ธุรกิจปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์
เหมาะสำหรับคนที่มีที่ดิน บ้านพัก ห้องแถว คอนโด ที่ไม่ได้พักอาศัยสามารถนำมาปล่อยเช่าเพื่อหารายได้ยิ่งที่พักอยู่ในทำเลที่ดียิ่งได้ราคาสูง หรือใครที่มีที่พักอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวก็สามารถเปิดเป็นโฮมสเตย์ ได้เช่นเดียวกัน
5.รับสอนพิเศษ หรือติวเตอร์ ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
สำหรับอาชีพการสอนพิเศษในปัจจุบันสามารถเลือกสอนพิเศษได้หลากหลายรูปแบบทั้งการสอนตามสถาบันกวดวิชา หรือการรับสอนเสริมตามโรงเรียนทั่วไป ไปจนถึงอีกหนึ่งรูปแบบการสอนอย่างการสอนออนไลน์ที่ให้คุณสามารถเลือกสอนได้อย่างหลากหลาย ไม่เพียงแค่วิชาทางด้านวิชาการเท่านั้น ความรู้ทั่วไป ความรู้เฉพาะทาง หรือความรู้สำหรับการประกอบอาชีพ เช่น การทำอาหาร การซ่อม งานประดิษฐ์ การวาดภาพ การสอนดนตรี ก็สามารถทำได้
6.งานฝีมือหรืองานศิลปะ
ผู้สูงอายุท่านใดที่มีความชื่นชอบ หรือมีฝีมือในเรื่องของงานศิลปะ เช่น วาดรูป เครื่องปั้น ทอผ้า แกะสลัก หากลองนำงานศิลปะเหล่านี้ไปวางขาย ก็ช่วยสร้างรายได้ได้ดี
7.นักลงทุน
เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บอยู่แล้ว และอยากให้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะลงทุน ซื้อสลากหรือ พันธบัตรรัฐบาล ฝากประจำต่าง ๆ ก็ดีนะคะ แต่วิธีนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือศึกษารายละเอียดดี ๆ ให้รอบคอบก่อนการลงทุนนะคะ
8.ถ่ายภาพขาย
คนรักการถ่ายภาพ ลองนำภาพถ่ายเหล่านั้น มาขายบนเว็บไซต์ออนไลน์ เช่น Shutterstock Dreamstime Fotolia เพราะนอกจากจะได้รายได้ดีแล้ว ยังได้ทำงานอดิเรกที่ชอบ และยังได้ท่องเที่ยวไปหาไอเดีย หรือสถานที่ถ่ายรูปต่าง ๆ ช่วยแก้เบื่อแก้เหงาได้ด้วย
9.ขายของออนไลน์
ในยุคนี้ คนหันมานิยมซื้อของบนช่องทางออนไลน์กันมากมาย เพราะสะดวกและประหยัดเวลา ผู้สูงอายุอาจจะลองใช้ช่องทางออนไลน์นี้ขายสินค้าดู ไม่ต้องเสียค่าแผง หรือเหนื่อยกับการยืนขายทั้งวัน เพราะแค่นั่งอยู่ที่บ้านก็สามารถขายได้
10.นักเขียนหรือนักแปล
ผู้สูงอายุที่มีความชื่นชอบในการเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิต หรือชื่นชอบที่จะแบ่งปันความความรู้ ความสนใจ ลองนำสิ่งเหล่านั้น มากลั่นกรองเป็นตัวหนังสือดูสิคะ แล้วอาจจะเผยแพร่ผ่านบล็อก เว็บไซต์ หรืออาจจะส่งสำนักพิมพ์ ผู้สูงอายุสามารถทำได้
11.เปิดบ้านพักโฮมสเตย์
หากบ้านมีพื้นที่เหลือ ไม่รู้จะทำอะไรดี หรือมีบ้านพักตากอากาศที่ว่าง ไม่ค่อยได้ไปพักผ่อนบ่อย ๆ ลองหันมารีโนเวทให้เป็นบ้านพักโฮมสเตย์ก็ดีไม่น้อยนะคะ โดยเฉพาะหากเป็นบ้านที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว นอกจากจะไม่ต้องออกแรงอะไรมากแล้ว ยังได้กำไรมากมายอีกด้วย
12.รับแปลงาน แปลภาษา ล่าม
อาชีพนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้และความสามารถทางด้านภาษา เพราะคุณสามารถรับงานแปลภาษา หรือแปลงาน ที่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบและประสบการณ์ในการแปลภาษา เพื่อให้ได้ภาษาที่สละสลวยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบการออกไปข้างนอก คุณอาจมองหาอาชีพล่าม นอกจากคุณได้ใช้ความรู้ด้านภาษาแล้วยังได้พบปะผู้คนอีกด้วย
ตรวจสอบสิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ
ปัจจุบันมีสิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย ผู้สูงอายุ หรือลูกหลายสามารถศึกษาสิทธิและสวัสดิการที่พึงได้รับ เพื่อช่วยลดหย่อนค่าใช้จ่ายบางอย่าง และช่วยเหลือผู้สูงร่วมด้วย
1.สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาลยามป่วย อีกทั้งการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข จะมีช่องทางเฉพาะที่จัดไว้อำนวยความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง สามารถใช้สิทธิของบัตรทอง เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านได้อีกด้วยค่ะ
2.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ ดังนี้
อายุ 60 -69 ปี
- รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาท/เดือน
- รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 100 บาท/เดือน
- รวมเป็น 700 บาท/เดือน
อายุ 70 -79 ปี
- รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บาท/เดือน
- รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 150 บาท/เดือน
- รวมเป็น 850 บาท/เดือน
อายุ 80 -89 ปี
- รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 800 บาท/เดือน
- รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 200 บาท/เดือน
- รวมเป็น 1,000 บาท/เดือน
อายุ 90 ปีขึ้นไป
- รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาท /เดือน
- รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 250 บาท/เดือน
- รวมเป็น 1,250 บาท/เดือน
3.ลดหย่อนราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งผู้สูงอายุ จ่ายแค่ครึ่งราคาจากราคาค่าโดยสารเต็ม ส่วนเครื่องบินยังได้รับส่วนลดสูงสุด 35% (เฉพาะบางสายการบิน) อีกด้วย
4.สิทธิในการฝึกอาชีพ ซึ่งทางภาครัฐ ได้เปิดหลักสูตรทักษะประกอบอาชีพต่าง ๆ กว่า 100 หลักสูตร เพื่อเพิ่มทักษะให้ผู้สูงอายุ สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ เช่น ทักษะการใช้โซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ หลักสูตรการทำขนมไทย เป็นต้น
5.เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์และอุทยานแห่งชาติของหน่วยงานรัฐฟรี ให้ผู้สูงอายุสามารถท่องเที่ยวได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเลย
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการเหล่านี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย ซึ่งในสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ มีรายละเอียดและข้อตกลงที่แตกต่างกันไป โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ
ตลาดแรงงานที่ต้องการผู้สูงอายุเข้าทำงานมากที่สุด
ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า ตลาดแรงงานสำหรับผู้สูงอายุที่ธุรกิจบริการและค้าปลีกต้องการมากที่สุดมี 5 อันดับ ได้แก่
- แนะนำการขายสินค้า
- จัดเรียงสินค้า
- ประชาสัมพันธ์
- แม่บ้าน ช่างเทคนิค
- งานบริการต่าง ๆ
โดยผลตอบแทนที่ผู้สูงอายุจะได้รับนั้น คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดอัตราผลตอบแทนผู้สูงอายุเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ คือ
- ไม่ต่ำกว่า 45 บาท/ชั่วโมง
- ทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 6 วัน/สัปดาห์
สมัครลงทะเบียนผู้สูงอายุ เพื่อหางาน อยากทำงาน
หากผู้สูงอายุที่บ้านของทุกคน มีความต้องการหางานทำ กรมกิจการผู้สูงอายุได้รวบรวมช่องทางการรับสมัครงานผู้สูงอายุ มีดังนี้
1. กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จัดทำระบบขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)
โดยมีช่องทาง ดังนี้
ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย Smartjob Center กรุงเทพมหานคร
- เขตที่ 1 ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร สัมพันธงวงศ์ 02-223-2684-5
- เขตที่ 2 จตุจักร ดอนเมือง บางซื่อ บางเขน หลักสี่ 02-910-1183-4
- เขตที่ 3 ดินแดง พญาไท ราชเทวี ห้วยขวาง 02-617-6566-70
- เขตที่ 4 บางรัก ปทุมวัน ยานนาวา สาทร บางคอแหลม 02-211-7558, 02-211-7607
- เขตที่ 5 คลองสาน ธนบุรี บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางพลัด 02-437-5147 ,02-437-5855
- เขตที่ 6 ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม 02-422-3915-17
- เขตที่ 7 จอมทอง ทุ่งครุ บางขุนเทียน บางบอน ราษฎร์บูรณะ 02-427-4113 ,02-427-5432
- เขตที่ 8 คลองเตย บางนา ประเวศ พระขโนง วัฒนา สวนหลวง 02-398-7019 ,02-398-7447
- เขตที่ 9 คันนายาว บางกะปิ ลาดพร้าว วังทองหลาง บึงกุ่ม 02-510-3602 ,02-509-7945
- เขตที่ 10 คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง หนองจอก สายไหม 02-540-7005-7008
ลงทะเบียนผ่านเว็บไชต์
- ตู้งาน (Job Box)
- สายด่วน 1506
2. ตามนโยบายประชารัฐเพื่อสังคม มีสถานประกอบการให้ความร่วมมือรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน
บิ๊กซี (โครงการพี่ใหญ่ไฟแรง)
- คุณสมบัติผู้สมัคร ชาย/หญิง อายุ 60 ปีขึ้นไป
- สุขภาพแข็งแรงมุ่งมั่นในการทำงาน
- มีใจรักงานบริการ
- สามารถทำงานเป็นกะได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-655-0666
โลตัส (โครงการ 60 ยังแจ๋ว)
- คุณสมบัติผู้สมัคร ชาย/หญิง อายุ 60 ปีขึ้นไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-797-9000
ซีเอ็ด (โครงการ 60 ปีมีไฟ)
- คุณสมบัติผู้สมัคร ชาย/หญิง อายุ 50 ปีขึ้นไป
- วุฒิการศึกษา ม.3 ขึ้นไป
- มีใจรักงานบริการ ชอบทำงานร้านหนังสือ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-739-8555 ต่อ 8641 หรือ 08-6325-3354
3. หากผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ต้องการประกอบอาชีพอิสระ
สามารถกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพของกองทุนผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- การกู้ยืมรายบุคคล รายละไม่เกิน 30,000 บาท
- การกู้ยืมรายกลุ่ม กลุ่มละไม่น้อยกว่า 5 คน กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท
โดยการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ต้องชำระเงินคืนเป็นรายงวดทุกเดือน ระยะเวลา 3 ปี โดยไม่คิดอกเบี้ย
ติดต่อกองทุนผู้สูงอายุส่วนกลาง
- ติดต่อ : กลุ่มกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ
- ที่ตั้ง : กองทุนผู้สูงอายุ อาคารพิชเยนทรโยธิน ชั้น 1 ภายในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
- โทรศัพท์ : 0 2354 6100
ส่วนภูมิภาค
- ติดต่อ : ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด
หากมีข้อสงสัย กรุณาโทรติดต่อกลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ โทร 02 642 4337-9 ต่อ 317 ในวัน เวลาราชการ
ดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อเข้าสู่สูงวัย
เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยผู้สูงอายุ พลังกำลัง ร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย ดังนั้น นอกจากเรื่องของการทำงานแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญมากๆ คือ การดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง โดยวิธีการดูแลตนเองที่ง่ายและสามารถทำได้ทุกวัน อาทิ
- ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน แต่อย่าออกกำลังกายที่หนักเกินไป เพราะจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีควรออกกำลังกายเบา ๆ จะดีต่อสุขภาพ เช่น โยคะ เดินเร็ว ไทเก๊ก
- มีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด
- รับประทานอาหารการกิน พยายามกินอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอต่อร่างกาย และกินอาหารที่มีประโยชน์
- ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้
อ้างอิง: กรมกิจการผู้สูงอายุ ,กรมการจัดหางาน