"นวัตกรรม" เพื่อสุขภาพชีวิตดี “ตรวจ-ป้องกัน” สู่สูงวัยคุณภาพ

"นวัตกรรม" เพื่อสุขภาพชีวิตดี “ตรวจ-ป้องกัน” สู่สูงวัยคุณภาพ

เมื่อไทยก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" สิ่งสำคัญที่ต้องวางแผนคือ การเงิน และ สุขภาพ ไม่ใช่แค่เตรียมพร้อมการรักษา แต่ต้องดูแลในเชิงป้องกัน รวมถึงนำ "นวัตกรรม" เทคโนโลยี มาใช้เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ปัจจุบัน ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยมีผู้สูงอายุ 20% ของประชากรทั้งหมด การที่จะมีชีวิตที่มีความสุขต้องเตรียมพร้อมทั้ง Health และ Wealth ปัจจุบัน เรามักจะได้ยินคำว่า การป้องกัน มากกว่าการรักษา โดยเฉพาะการป้องกันโรคที่มักจะพบเจอในผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นกระดูกและข้อ โรคเกี่ยวกับสายตา รวมถึงโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง

 

กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่าแสนราย และเสียชีวิตเฉียดหลักแสนต่อปี “ฐิติ สิหนาทกถากุล”ประธานบริหาร บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในช่วงเสวนา “นวัตกรรม สุขภาพดี” ในงานสัมมนา Health & Wealth Forum : สร้างสุขก่อนสูงวัย อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ เนชั่นทีวี ช่อง 22 และ สปริงนิวส์ เผยว่า โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นของคนไทย การรักษามะเร็งมี 3 แนวทาง คือ การผ่าตัด เคมีบำบัด และการใช้รังสีรักษา

 

“ศูนย์รังสีฯ”ช่วยผู้ป่วยมะเร็ง

 

ขณะนี้ รพ.ไทยนครินทร์ ได้ลงทุนกว่า 250 ล้านบาท สร้าง “ศูนย์รังสีรักษาผู้ป่วยมะเร็ง” เปิดให้บริการเข้าถึงการใช้รังสีในการรักษา คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในไตรมาสนี้ โดยมีเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ทันสมัย ด้วยทีมแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญในการปรึกษาแบบเฉพาะทางเพื่อครอบคลุมตั้งแต่ป้องกัน ค้นหา รักษาฟื้นฟู ติดตาม เกี่ยวกับมะเร็งในทุกมิติ ไม่ว่าจะเครื่อง Vital Beam นวัตกรรมการฉายรังสีแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เนื้อเยื่อข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

อีกทั้ง Digital Mammogram with Tomosynthesis (3DMMG) เครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม 3 มิติ โดยใช้เวลาต่อการถ่ายภาพ 10 วินาที ตรวจรายละเอียดภายในเต้านมได้ทั้งหมด ดูความเสี่ยงเป็นมะเร็งในอนาคต ตรวจพบได้ในระยะเริ่มแรก เพื่อให้รักษาได้ทัน สามารถคัดกรองมะเร็งระยะ 0 ได้ เพื่อดูแนวโน้มว่าสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งต่อไปได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ และเชื่อว่าจะทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวได้

 

การดูแลผู้ป่วยสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ สุขภาพ ก็ต้องคู่กับจิตใจ โดยมีการเปิดศูนย์ Wellness Center หรือ ศูนย์สุขภาพองค์รวม ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ให้คำแนะนำของคนไข้โดยเฉพาะผู้ป่วยฟื้นตัวในระยะหลังการผ่าตัด เน้นดูแลเรื่องอาหาร โภชนาการ วิตามิน ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ทำให้คนหันมาให้ความสนใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

 

“เราต้องพยายามดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ต้องขยันออกกำลังกาย ขณะเดียวกัน การใช้งบประมาณพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้มากขึ้น อยากให้ภาครัฐผลิตบุคลากรออกมาช่วยประเทศเพื่อป้องกันโรคภัยและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น”

 

ดูแลกระดูกและข้อ ครบวงจร

 

ด้าน “นพ.ธนพล หวังธีระประเสริฐ” รักษาการกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ โรคกระดูกและข้อที่พบในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ปวดหลัง กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกพรุน พังผืดข้อมือ นิ้วล็อก ซึ่งที่พบบ่อย คือ การเปลี่ยนข้อเข่า หรือ กระดูกสันหลังเสื่อม กดทับเส้นประสาท ตีบแคบ ทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา

ปัจจุบันการเปลี่ยนข้อเข่าค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 2-3 แสนบาทต่อข้าง และคนที่เปลี่ยนข้อเข่าแล้ว อาจจะต้องฟื้นฟูหลังผ่าตัด และหากมีกล้ามเนื้อที่ล้อมรอบเข่าที่ดีจะช่วยตรงนี้ได้ โดยมีท่าออกกำลังกายต่างๆ ในการส่งเสริม เหยียด ยืด กล้ามเนื้อจะช่วยเสริมได้ หากมีการเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่ดีทำให้ชะลอการเสื่อมได้ช้าลง

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มี "มวลกระดูกที่ดี" คือ อาหาร ต้องทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียม ถัดมา คือ การออกกำลังกาย ทำให้มวลกระดูกเพิ่ม และการรับวิตามินดี จากแสงแดดตอนเช้าเพื่อส่งเสริมเรื่องมวลกระดูก ต่อมา คือ “กล้ามเนื้อที่ดี” จะทำให้โรคกระดูกและข้อลดลง เช่น บางคนที่มีปัญหาเรื่องของปวดเข่า จะแนะนำให้เทรนด์เรื่องกล้ามเนื้อต้นขา เพื่อให้ข้อรับน้ำหนักน้อยลง เสื่อมช้าลง 

 

"สิ่งสำคัญ คือ ไม่เจ็บป่วยจะดีที่สุด อยากให้ภาครัฐเน้นเรื่องของการป้องกันมากขึ้น ที่ผ่านมา เราเน้นเรื่องโรงพยาบาล แต่หากไม่ป้องกันคนที่จะเป็นโรค มีโรงพยาบาลเท่าไหร่ก็ไม่พอ และค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการป้องกันเยอะมาก”

 

“เกษียณ”คุณค่าของชีวิต

 

“ธานี มณีนุตร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. พริ้นซิเพิล แคปิตอล กล่าวว่า การมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง จะต้องเดินไปกินได้ด้วยตนเอง ได้กินในสิ่งที่ตัวเองอยากกิน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของชีวิต คนรุ่นใหม่ อยากเกษียณอายุเร็วขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาพยายามทำงานเก็บเงิน ทำงาน Start up เพื่อให้ตนเองเกษียณอายุ 45-50 ปี ซึ่งเกษียณอายุของพวกเขาจะเป็นการใช้คุณค่าของชีวิตอย่างมีความสุข

 

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะเกาะโอกินาว่า เมืองแห่งคนอายุ 100 -120 ปี และประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งมีศาสตร์ในการดูแลผู้สูงอายุมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันคนวัยทำงานลดลง ขณะที่กลุ่มคนอายุ 60 ปี ขึ้นไป มีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และประทเศไทยก็จะเป็นเช่นนั้น

 

ใช้“ไคโกโดะ”ดูแลผู้สูงอายุ

 

ธานี กล่าวต่อว่าปัจจัยที่ทำให้ ผู้สูงอายุเกาะโอกินาว่า มีอายุยืนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะเกาะแห่งนี้ มีอาหารการกิน ไลฟ์สไตล์ และสิ่งแวดล้อมที่ดี เกาะโอกินาว่ามีอากาศดีมาก มีมลภาวะเป็นศูนย์ อีกทั้งมีศาสตร์เรื่องการฟื้นฟู ดูแลผู้สูงอายุ อย่าง ไคโกโดะศาสตร์การฟื้นฟูญี่ปุ่น ศาสตร์ที่จะมี 4 องค์ประกอบสำคัญๆ คือ

1.อิคิไก หรือการค้นหา ออกแบบการฟื้นฟู เพื่อความหมายของชีวิต มีแรงใจเพื่อใช้ชีวิต รวมถึงมีนักจิตวิทยาให้กำลังใจผู้ป่วยการกลับมาฟื้นฟูกำลัง ฟื้นฟูใจใช้ชีวิตได้

 

2.ทำงานเป็นทีม ผู้ป่วย ครอบครัว และทีมผู้ฟื้นฟู คือหนึ่งเดียวกัน

 

3.พึ่งพาตนเองเป็นหลัก ให้ความช่วยเหลือ เท่าที่จำเป็น เพราะคุณค่าของคนคือการพึ่งพาตนเองได้ ตักข้าวกินเองได้ เดินไปห้องน้ำ ใช้ชีวิตด้วยตนเองได้ และ

 

4.Motor Learning เป็นการเรียนรู้ผ่านสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้ เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ รวมถึงเป็นศาสตร์ที่ใช้ร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในไทยและญี่ปุ่นช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้

 

ธานี กล่าวต่อไปว่าอยากผลักดันให้มีคนไทย ผู้สูงอายุไทยได้ใช้สิทธิการรักษาในกลุ่มแพทย์ทางเลือกเหล่านี้ หลังเกษียณอายุควรมีเงินเก็บเท่าใด ซึ่งหากทุกคนเป็นโรคต่อให้มีเงินเก็บจำนวนมากขนาดไหนก็ไม่เพียงพอ เช่นเดียวกัน ถ้าทุกคนอยากมีอายุยืนยาวต้องมีสุขภาพที่ดี

 

“การดูแลผู้ป่วยของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งศาสตร์การดูแล ไคโกโดะ เป็นการดูแลผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ และเป็นการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักโภชนาการ พยาบาล นักจิตวิทยา”

 

"อยากให้ประเทศไทยมีการดูแลต่อเนื่อง ควรมีการบริหารจัดการแบบองค์รวม เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน"

 

60 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพตา

 

ศ.คลินิก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคจากภาวะเสื่อมภายในดวงตา เกิดจากโปรตีนที่ผิดปกติส่งผลให้หลอดเลือดไม่แข็งแรง หลอดเลือดที่เจริญผิดปกติ ของเหลวที่รั่วออกมาจากหลอดเลือดที่เจริญผิดปกติ จุดรับภาพชัดเสื่อม โปรตีนที่ผิดปกติดส่งผลให้หลอดเลือดรั่วและเจริญผิดปกติ โดยในประเทศไทยมีการสำรวจและการดูแลตรวจสุขภาพตา ตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน รวมถึงการตรวจโรคต้อกระจก และการตรวจสุขภาพตาอื่นๆ

 

“ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักจะมองว่าสายตาไม่ดี ตาเสื่อมเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เมื่ออายุ 60 ปี ขึ้นไป ทุกคนควรตรวจสุขภาพตา โดยการเช็กง่ายๆ ขอให้ปิดตาข้างหนึ่งหากอีกข้างมองไม่ชัด แสดงว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับตา” ศ.คลินิก นพ.ไพศาล กล่าว

 

สำหรับความเสี่ยงเบาหวานขึ้นตานั้น หากเป็นโรคเบาหวานเกิน 10 ปี มีโอกาสสูงที่เบาหวานขึ้นตา แต่หากลด 2 ปัจจัยหลัก มีการควบคุมน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือดได้ ก็จะช่วยลดเบาหวานขึ้นตาได้ ซึ่งจะต้องมีการควบคุมดูแลเรื่องอาหารการกินร่วมด้วย

 

ศ.คลินิก นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า ด้านจักษุจะมีกลุ่มของแพทย์ตาทั่วประเทศเป็นกรรมการสุขภาพตาโดยจะมีการประชุมกันทุก 3-4 เดือน พยายามดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่องของตรวจสุขภาพตา และโรคเบาหวาน ซึ่งทุกโครงการได้มีการปรับปรุง มีการเทรนด์บุคลากรให้มีคุณภาพ สามารถตรวจสุขภาพตาได้ มีความแม่นยำ 85% และมีการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ ซึ่งมีความแม่นยำ 95% อนาคตก็จะมีโครงการใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ

 

ลงทุนสุขภาพคนรุ่นหลังดูแลสูงวัย

 

ด้าน “ฟาริด บิดโกลิ”  ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า โรช เป็นบริษัทอันดับหนึ่งในการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพ เป็นทั้งพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นผู้นำด้านการวินิจฉัยและยา มีพนักงานกว่า 100,920 คนทั่วโลก ในปี 2564 มีคนไข้ 16.4 ล้านคนที่รักษาด้วยยาจากบริษัทโรช 

 

บริษัท โรช เชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจะช่วยพัฒนาสุขภาพมนุษย์ได้  จึงได้ลงทุนในการพัฒนาและวิจัยทั้งยาและนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งยาของบริษัทติดบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลกถึง 32 ตัว รวมทั้งติดบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยอีก 13 ตัว

 

ขณะที่โรชไทยแลนด์ สามารถนำนวัตกรรมการแพทย์ที่ทันสมัยมากกว่า 50 อย่างมาพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยได้ สิบกว่าปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยชาวไทยได้รับการรักษาด้วยยาของโรช 2.9 ล้านคนและมีผู้ป่วยกว่า 1,000 คน เข้าร่วมการทดลองยาใหม่ทางคลินิก และมีความมุ่งมั่นลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยกว่า 1,000 ล้านบาทตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ โรช ได้วิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยีนและจีโนมที่ทำให้เกิดมะเร็งในแต่ละประเทศ และมียารักษามะเร็งที่เหมาะสมกับระดับอาการของโรคและสุขภาพของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งเป้าหมายในอนาคตคาดว่าสามารถคิดค้นและผลิตยาให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อสุขภาพและโรคของผู้ป่วยที่มีความแตกต่างกัน

 

 “ถ้าเราสามารถตรวจเจอมะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือระยะเริ่มต้น จะยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตหรืออยู่ได้นานขึ้น ซึ่งโรชมีนวัตกรรมที่พร้อมตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและมียารักษามะเร็งในแต่ละระดับด้วย” ฟาริดกล่าวและทิ้งท้ายถึงการเตรียมตัวรับมือกับสังคมผู้สูงอายุว่าควรลงทุนพัฒนาสุขภาพคนรุ่นหลังด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าคนเจเนเรชันหลัง ๆ มีสุขภาพดีและสามารถดูแลผู้สูงอายุต่อไปได้ และได้ฝากถึงรัฐบาลไทยให้เพิ่มการลงทุนเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพและสุขภาพดีขึ้น