"หมอยง" เผยที่มา "ไข้หวัดมะเขือเทศ" อาการและความรุนแรงของโรค

"หมอยง" เผยที่มา "ไข้หวัดมะเขือเทศ" อาการและความรุนแรงของโรค

"หมอยง" เผยที่มา "ไข้หวัดมะเขือเทศ" (Tomato Flu) ซึ่งรายงานพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ประเทศอินเดีย ชี้ ลักษณะคล้ายมือเท้าปาก อาการไม่รุนแรง

วันนี้ (28 ส.ค.65) ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับ ไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu)  ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า ดังที่เป็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการกล่าวถึงไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย เมือง Kerala ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ร่วมร้อยคน และยังมีการพบเพิ่มเติมที่เมือง Tamil Nadu และ Odisha

 

อาการ "ไข้หวัดมะเขือเทศ"

การตั้งชื่อไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะเด็กที่ป่วยจะมีลักษณะ ผื่นแดง เป็นตุ่มน้ำ คล้ายมะเขือเทศ

ลักษณะอาการไข้หวัดมะเขือเทศ จะมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และต่อมามีผื่นขึ้น ผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะแดง และเป็นตุ่มน้ำ 

 

 

โรคไม่รุนแรงและหายได้เอง ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต  

จากการสันนิษฐานลักษณะอาการคล้าย ไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ไข้เลือดออก มือเท้าปาก

ที่จริงแล้วการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุไวรัสในปัจจุบัน ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดียน่าจะรู้แล้วว่าเกิดจากไวรัสตัวไหน แต่ปัจจุบันยังไม่มีประกาศออกมาเป็นทางการ

ลักษณะผื่นคล้าย โรคมือเท้าปาก

จากที่ได้ติดตาม และดูลักษณะผื่นที่ขึ้นจากรูปถ่าย ที่รายงานตามหนังสือพิมพ์ของอินเดีย  แทบจะบอกได้เลยว่า ลักษณะนี้คือผื่นที่ขึ้นเหมือนกับ โรคมือเท้าปาก ที่พบในบ้านเรา โดยเชื้อหลักของลักษณะผื่นแบบนี้ คือ Coxsackie A6 ลักษณะผื่นๆที่ขึ้นที่มือ ที่เท้า ที่ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และถ้าเป็นมาก ก็จะดูค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของเชื้อไวรัส CA6 ที่เราได้ติดตามมาตั้งแต่ปี 2012 เคยระบาดในบ้านเรา

 

และในปีนี้ ในบ้านเราก็ระบาดด้วยสายพันธุ์ CA6 และมีลักษณะผื่นค่อนข้างรุนแรง ดังแสดงในรูป
เป็นโรคมือเท้าปากที่พิสูจน์แล้วว่าเป็น จากเชื้อไวรัส CA6 ส่วนมากเป็นในเด็ก แต่ก็เคยพบในผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้ต้องแยกโรคหลายโรค ส่วนไข้ปวดข้อยุงลาย เท่าที่ติดตามอยู่ขณะนี้ ในเด็กเล็กจะมีอาการปวดข้อน้อยมาก ไม่เหมือนผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ 

 

ศ.นพ.ยง ระบุอีกว่า คงต้องติดตามว่าไวรัสที่เกิดใน อินเดีย เกิดจากตัวไหน จากการคาดการณ์ เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัส Coxsackie ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และไม่รุนแรง ไม่เหมือนเชื้อ enterovirus A 71 ที่อาจทำให้เกิดสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งระบุว่า จากการถอดรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างสวอบตุ่มแผลจากผู้ป่วย 2 ราย พบว่า เป็นไวรัส "คอกซากี A16" (Coxsackie A16) ที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า และปาก (Hand, foot and mouth disease) มิใช่ไวรัสตัวใหม่แต่ประการใด

 

สรุปได้ว่า โรคอุบัติใหม่ที่เรียกว่า "ไข้หวัดมะเขือเทศ" ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กจำนวนหนึ่งในเมืองเกรละ ประเทศอินเดีย จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมจากตุ่มแผลและลำคอจากเด็กเล็กสองคนพบว่าเป็นโรคมือ เท้า และปาก อันเกิดจากไวรัส "คอกซากี A16" ที่ระบาดในเด็ก มีอาการไม่รุนแรง โดยเป็นไปได้ว่าบางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อจากไวรัสชิคุนกุนยาและไวรัสไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะ

 

"สำหรับชุดตรวจ PCR ในประเทศไทย" ต่อไวรัสที่ก่อโรคมือ เท้า และปาก มีให้บริการอยู่แล้วทั้งใน รพ. ภาครัฐ และเอกชน เนื่องจากโรคไข้ออกผื่นเกิดขึ้นเป็นประจำในเด็กเล็ก

 

ทางศูนย์ฯ ระบุเพิ่มเติมว่า โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease) เกิดจากเชื้ออาร์เอนเอไวรัสขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 7411bp ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ที่ติดต่อในคน (Human Enterovirus species A/HEV-A) โดยเฉพาะ คอกซากี A 16 (coxsakievirus A16) และ เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจาก HEV-A ชนิดอื่นๆอีกได้ เช่น คอกซากี A2-8, 10, 12, 14 คอกซากี B และ เอ็กโคไวรัส (echovirus) บางชนิด

 

พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน อากาศเย็น และชื้น ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก และสร้างความเจ็บปวด โดยผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับอาการป่วยอื่น ๆ ด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยภายในเวลาประมาณ 7-10 วันได้