วัยรุ่นวุ่นวาย : LGBTQ+ ทำอย่างไร? เมื่อใจไม่ตรงกับเพศ
ปัจจุบัน ไม่ได้มีเพียงเพศชาย หรือเพศหญิง แต่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ซึ่งถือเป็นความชอบที่หลากหลายเฉพาะบุคคล โดยเพศที่หลากหลาย ไม่ใช่โรคหรือความผิดปกติ
อดีตหากใครรักใคร่ชอบพอในเพศเดียวกันจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ผิดปกติ แต่ในปัจจุบันใครที่คิดแบบนั้นอาจจะต้องมองมุมใหม่ เพราะบุคคลในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ หรือเพศวิถีแบบไหน ก็ต้องได้รับความเคารพและการปฎิบัติอย่างเท่าเทียม มีสิทธิ และโอกาส มีศักยภาพไม่ได้แตกต่างกัน
นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล คุณหมอประจำ RSU Gender Health Clinic ได้มาช่วยไขข้อข้องใจ LGBTQ+ ทำอย่างไร? เมื่อใจไม่ตรงกับเพศ ว่าก่อนที่จะไปตอบคำถาม อยากทำความเข้าใจกับทุกคนเกี่ยวกับ เพศที่หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีเพศที่มากกว่าชาย และหญิง โดย LGBTQ + นั้น มีดังนี้
L (Lesbian) หรือเลสเบี้ยน คือ ผู้หญิงที่มีความรักต่อผู้หญิงด้วยกัน
G (Gay) หรือเกย์ คือ ผู้ชายที่มีความรักต่อผู้ชายด้วยกัน
B (Bisexual) หรือไบเซ็กชวล คือ ชอบทั้งชายและหญิง
T (Transgender) หรือทรานส์เจนเดอร์ คือ คนข้ามเพศ ข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย และชายเป็นหญิง
Q (Queer) หรือเควียร์ คือ บุคคลที่มีความรักโดยไร้กฎเกณฑ์ (ทางเพศ)
I (Intersex) หรืออินเตอร์เซ็กส์ คือ บุคคที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพโดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศA
+ คือ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ
“เทรนด์สมัยก่อน จะเปลี่ยนใจให้กลับไปตรงกับเพศ ซึ่งไม่ได้ผลทำให้เกิดความเครียด สุขภาพจิตย่ำแย่ และเกิดการฆ่าตัวตาย ในปัจจุบัน จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงกายให้ตรงกับใจ และตอนนี้ในสังคม การรู้สึกว่าตัวเองชอบเพศเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เป็นความหลากหลายและเรื่องปกติในสังคมไปแล้ว” นพ.ธนภพ กล่าว
- เมื่อใจไม่ตรงกับเพศ ต้องทำอย่างไร?
นพ.ธนภพ กล่าวต่อไปว่าเมื่อใจไม่ตรงกับเพศ อยากแนะนำให้ทุกคนทำความเข้าใจตัวเอง ว่าเราอยากเป็นเพศไหน ชอบอะไร และต้องการอะไร ซึ่งการข้ามเพศนั้น หากเรารู้ตัวเร็ว รู้ว่าชอบอะไร อยากเป็นอะไร เห็นภาพตัวเองในอนาคตเป็นอย่างไร อยากเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย ก็จะสามารถใช้ฮอร์โมนยับยั้งความเป็นวัยรุ่น ถ้าเราเป็นชายแต่ใจเป็นหญิงหากทานฮอร์โมนยับยั้ง ก็จะมีไม่มีเสียง หรือมีลูกกระเดือก ไหลจะได้ไม่กว้างแบบผู้ชาย
เช่นเดียวกัน หากเป็นหญิงแต่อยากเป็นชาย การทานฮอร์โมนยับยั้งฮอร์โมนเพศหญิง จะทำให้ไม่มีหน้าอก เป็นต้น ดังนั้น เมื่อประเมินตนเองแล้วว่าเป็นอย่างไร และมาปรึกษาทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้เราเป็นชายและหญิงตามที่ใจต้องการได้ ร่างกายก็จะเป็นในแบบที่ต้องการ
- โรคที่พบบ่อยสำหรับกลุ่ม LGBTQ +
นพ.ธนภพ กล่าวอีกว่า สำหรับโรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ คือ สุขภาพจิต ความซึมเศร้า การใช้สารเสพติด ความเครียด และการคิดสั้นฆ่าตัวตาย เนื่องจากได้รับการกีดกันในสังคม หรือถูกล้อเลียน ดังนั้น จะต้องมีการคัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้น เพื่อหาทางออกให้เกิดการปรับตัวได้ง่ายขึ้น
รวมถึงโรคที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต เช่น การมีเพศสัมพันธ์เป็นหมู่ เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือไม่ชอบใส่ถุงยาง ก็อาจจะติดเชื้อหรือโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคคล LGBTQ + สามารถมาขอคำแนะนำ ปรึกษา หรือเข้าใช้บริการของ RSU Health Clinic หรือติดตามได้ที่เพจ RSU Healthcare
- รู้ไหม? การเทคฮอร์โมน มีทั้งหมด 3 วิธี
สำหรับ การเทคฮอร์โมน ถือเป็นเรื่องต้นๆ ที่กลุ่ม LGBTQI + หรือกลุ่มข้ามเพศจะนำมาใช้ เพื่อหยุดฮอร์โมนทางเพศตามเพศเดิมของตน นพ.ธนภพ กล่าวต่อว่าหลายคนจะได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ หรือศึกษาค้นคว้าและเทคฮอร์โมนด้วยตนเอง อย่าง การทานยาคุม ซึ่งไม่แนะนำให้ทำ เพราะการทางยา อาจจะทำให้เกิดการใช้ยาผิดขนาด และเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาได้
อยากให้ทุกคนไปพบแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคน ซึ่งในส่วนของ RSU Health Clinic มีการบริการ และให้คำปรึกษาในเรื่องนี้โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีการเทคฮอร์โมน จะมีทั้งหมด 3 วิธี ดังนี้
รับประทาน ต้องต่อเนื่องทุกวัน ข้อดี คือ สะดวก ไม่เจ็บตัว สามารถเทคได้เอง ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ (แต่ถึงแม้จะเลือกวิธีกิน ก็แนะนำให้มาโรงพยาบาลให้หมอจัดยาให้นะครับเพราะถ้าซื้อกินเองอาจจะได้ขนาดยาไม่ถูกต้อง และเกิดความไม่ปลอดภัยได้โดยเฉพาะผลเสียทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน) นอกจากนี้ต้องมีวินัย เพราะถ้าลืมระดับฮอร์โมนจะตกลง
ที่สำคัญ! วิธีนี้มีอาจผลต่อตับและเห็นผลช้ากว่าวิธีอื่น สำหรับทรานสวูแมน (ผู้ที่ข้ามจากชายเป็นหญิง) ที่ต้องการใช้วิธีรับประทาน ควรใช้ปริมาณที่เหมาะสมโดยให้แพทย์เป็นผู้ดูแล เพราะการรับประทานยาคุมกำเนิด พบว่ามีปริมาณฮอร์โมนสูงมากกว่าที่ควรจะเป็นถึง 6 เท่าอาจเกิดผลเสียระยะยาว เช่น ผลต่อตับหรือลิ่มเลือดอุดตันได้ เพราะการใช้ฮอร์โมนต้องใช้ระยะยาว
ฉีด ออกฤทธิ์เร็วกว่าแบบกิน ซึ่งมีด้วยกัน 2 แบบ คือ
แบบระยะสั้น แนะนำให้ฉีดทุก 2-4 สัปดาห์ (ทรานสแมน) เพราะการออกฤทธิ์จะค่อยๆ สูงขึ้นในสัปดาห์แรกแล้วลดลงเมื่อครบ 2 สัปดาห์ เมื่อมารับเข็มต่อไป ระดับฮอร์โมนก็จะสูงขึ้นไปใหม่ แต่ถ้าภายใน 2 สัปดาห์ยังไม่ได้เทคต่อ ในสัปดาห์ที่ 3-4 ระดับฮอร์โมนก็จะลดลงมา ต้องได้รับยาเข็มต่อไปโดยเร็ว ข้อดี คือ สามารถปรับระดับฮอร์โมนสูง-ต่ำได้ เพราะออกฤทธิ์อยู่ในช่วงสั้นๆ แต่ต้องฉีดบ่อยๆ สำหรับทรานวูแมน ก็สามารถฉีดเอสโตรเจน และ/หรือ ร่วมกับโปรเจสเตอโรนได้โดยส่วนใหญ่จะแนะนำฉีดทุก 1 สัปดาห์
แบบระยะยาวสำหรับทรานสแมน ตัวฮอร์โมนจะค่อย ๆ ออกฤทธิ์สูงขึ้นแล้ว ลดลงอย่างช้าๆ โดยออกฤทธิ์ได้นานถึง 3 เดือน แต่ถ้ามารับเข็มต่อไปช้า ระดับฮอร์โมนก็จะตกลงมาเล็กน้อย แนะนำให้ฉีดทุก 3 เดือน ข้อดี คือ ไม่ต้องมาฉีดบ่อย ระดับฮอร์โมนไม่เหวี่ยง ค่อนข้างคงที่ แต่ไม่สามารถปรับระดับฮอร์โมนได้ดีเท่าแบบระยะสั้น สำหรับทรานสวูแมน ยังไม่มีฮอร์โมนแบบฉีดที่ออกฤทธิ์ระยะยาว
ทา จะเป็นเจลทาตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทุกวัน และต้องทาบริเวณที่ไม่ได้ไปสัมผัส บริเวณที่ไม่มีขนปกคลุมมาก ๆ เช่น หน้าท้อง หัวไหล่ ด้านในต้นขา เป็นต้น เพื่อให้ตัวฮอร์โมนดูดซึมได้ดี ข้อดี คือ สะดวก ไม่เจ็บตัว สามารถทาได้เอง ออกฤทธิ์ระยะสั้นเพียง 24 ชั่วโมง แต่ข้อเสีย คือ ราคาสูง ต้องทาทุกวัน และต้องรอให้แห้งก่อนถึงสวมใส่เสื้อผ้าได้ มีทั้งชนิดเป็นฮอร์โมนเพศชายสำหรับทรานสแมน และเป็นชนิดฮอร์โมนเพศหญิงสำหรับทรานสวูแมน
- เลี้ยงลูกอย่างไร? เมื่อลูกมีพฤติกรรมบ่งชี้ LGBTQ
พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ชำนาญการด้านจิตวิทยาสมอง การเรียนรู้และพัฒนาเด็ก โรงพยาบาลเปาโล เกษตร กล่าวว่า เด็กชาย ชอบเล่นตุ๊กตา หรือเด็กหญิงชอบเล่นฟุตบอลนั้น หากเป็นเด็กเล็ก พฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ เกิดขึ้นจากการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว และการเลียนแบบตามสิ่งที่เด็กให้ความสนใจ โดยที่อาจไม่ได้รู้ความหมายแฝงของสิ่งนั้นๆ
ไม่ได้หมายความว่าจะมีความชอบ รสนิยมทางเพศ รวมถึงพฤติกรรมแบบเพศนั้น แต่อาจเป็นเพียงการอยากเล่นกับเพื่อน หรือพี่น้อง เป็นต้น ดังนั้นพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ถือเป็นข้อบ่งชี้ที่จะด่วนสรุปว่าลูกเป็น LGBTQ
คำแนะนำในการเลี้ยงลูก LGBTQ
เรื่องของความชอบถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับกันได้ รสนิยมทางเพศก็เป็นเรื่องความชอบในด้านหนึ่ง เหมือนกับความชอบสี ชอบรสชาติอาหาร ฯลฯ และความชอบนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ไปตามอายุ ประสบการณ์ และบริบททางสังคม
ในทางกลับกันหากเรามองมุมกลับปรับมุมมองในฐานะของพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู เราเองก็ไม่สามารถบังคับให้ตัวเองชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รวมถึงสิ่งที่เราเคยชอบในอดีต ปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ควรบังคับให้บุตรหลานชอบอะไร รวมถึงยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อีกในอนาคตด้วยเช่นกัน
เนื่องจากหากการบังคับนั้นเป็นปัจจัยทำให้เค้าไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต อาจกลายเป็นปมด้อย หรือตราบาปในใจติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต สิ่งที่พ่อแม่ควรทำมากกว่าคือ การยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น รวมถึงช่วยให้ลูกเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหา หรือความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ลูกอาจต้องพบเจอ และเมื่อถึงวันที่ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง ได้เลือกในสิ่งที่ชอบ ได้ทำในสิ่งที่รัก ก็มีแนวโน้มที่ชีวิตของลูกจะประสบความสำเร็จมากกว่า และนั่นคือการประสบความสำเร็จในหน้าที่ของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน
- หากลูกอยากแปลงเพศ ควรทำไหม? กลัวลูกเลือกทางผิด
ในทางการแพทย์ การแปลงเพศ ไม่ใช่เดินเข้ามาแล้วผ่าตัดได้เลย แต่จะมีกระบวนการเตรียมตัวทางการแพทย์ ซึ่งจะได้รับการดูแลโดยนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญ ประกอบไปด้วย การทำแบบทดสอบทางด้านจิตวิทยาเพื่อประเมินสภาวะความพร้อมและความมั่นคงทางด้านจิตใจโดยนักจิตวิทยา และการลองใช้เพศสภาพที่ต้องการ เช่น การแต่งตัว การใช้ชีวิตเป็นอีกเพศ
ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จนมั่นใจว่ามีความพร้อมและมั่นใจในการข้ามเพศ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเตรียมตัวผ่าตัดแปลงเพศต่อไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงมั่นใจได้ว่า ก่อนผ่าตัดนั้นลูกได้ผ่านการคิด ตัดสินใจ และใช้ชีวิตในแบบที่ลูกต้องการก่อนแล้ว
สุดท้าย ไม่ว่าลูกจะเป็นเพศอะไร มีเพศสภาพแบบไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือ สายสัมพันธ์ในครอบครัว และกำลังใจจากพ่อแม่ ที่จะทำให้ลูกกล้าเผชิญชีวิตต่อไปได้ ดูแลร่างกายแล้วอย่าลืมดูแลจิตใจ
อ้างอิง : รพ.พญาไท