มทร.อีสาน เลี้ยงปลาซิวหางกรรไกร ต่อยอดงานวิจัยสู่ตลาดส่งออกปลาสวยงาม
จากความสำเร็จของโครงการวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาซิวหางกรรไกรเพื่อการค้า โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เดินหน้าเฟส 2 จับมือผู้ประกอบการธุรกิจ และเกษตรกร ผลักดันการเพาะเลี้ยงปลาซิวหางกรรไกรเชิงพาณิชย์
รศ.ดร. กฤติมา กษมาวุฒิ หัวหน้าสาขาประมง คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เปิดเผยว่า การเพาะเลี้ยงปลาซิวหางกรรไกรเป็นอีกหนึ่งงานวิจัย เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ ทั้งประเภทปลาเนื้อและปลาสวยงาม ซึ่งจะช่วยลดการจับปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติอันก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต
ปลาซิวหางกรรไกร เป็นปลาพื้นบ้านของไทยที่ได้รับความนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเพศผู้มีลักษณะลำตัวเรียวยาวและมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย บริเวณลำตัวมีสีเหลืองและลวดลายข้างลำตัวจะเข้มชัดเจน ส่วนเพศเมียมีรูปร่างสั้นป้อมกว่าเพศผู้และมีส่วนท้องอูมเป่ง บริเวณลำตัวมีสีเหลืองจางและลวดลายข้างลำตัวไม่ชัดเจน ตัวเต็มวัยมีความยาวประมาณ 13 เซนติเมตร
- ส่งออกปลาซิวหางกรรไกร สู่ตลาดปลาสวยงาม
รศ.ดร. กฤติมา กล่าวว่า นอกจากตลาดภายในประเทศ มีผู้ประกอบการส่งออกปลาซิวหางกรรไกรไปยังประเทศต่างๆมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ยังเป็นการจับตามธรรมชาติ ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถควบคุมทั้งปริมาณและคุณภาพได้ ขณะเดียวกัน จำนวนปลาซิวหางกรรไกรตามธรรมชาติก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสภาพสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น วช. จึงสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงในโรงเรือน และเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรต่อไป
สำหรับโครงการวิจัยระยะที่สอง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) นี้ มหาวิทยาลัยฯ จะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการส่งออกปลาสวยงาม และเกษตรกรที่สนใจ มาเข้าร่วมโครงการเพาะเลี้ยงปลาซิวหางกรรไกรเพื่อการส่งออก ซึ่งจะต้องมีการควบคุมคุณภาพ และปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาด โดยมหาวิทยาลัยฯ จะทำหน้าที่เป็นแกนในการสร้างเครือข่าย ถ่ายทอดองค์ความรู้และบ่มเพาะเกษตรกรที่สนใจ เพื่อให้เครือข่ายมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองเชื่อมโยงการผลิตและทำการตลาดได้
- ต่อยอดวิจัย ยกระดับตลาดปลาซิวหางกรรไกร
ปัจจุบัน ปลาซิวหางกรรไกรเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ปลาชนิดนี้จะมีลักษณะอยู่อาศัยรวมกันเป็นฝูงฉะนั้น กลุ่มผู้เลี้ยงปลาสวยงามจึงนิยมซื้อครั้งละจำนวนมาก ราคารับซื้อปลาจากธรรมชาติตัวละ 6 บาท แต่ถ้าเป็นปลาที่มาจากการเพาะเลี้ยงจะมีราคาสูงกว่า เนื่องจากมีความแข็งแรง อัตรารอดสูง และสามารถควบคุมปริมาณการผลิตได้
- เพาะเลี้ยงปลาหลด ถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร
นอกจากนี้ รศ.ดร. กฤติมา ยังทำวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาหลดมาตั้งแต่ปี 2542 และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนากระบวนการเลี้ยงให้มีอัตราการรอดสูง รวมถึงการผลิตอาหารมีชีวิต เช่น การเพาะเลี้ยงไรแดง หนอนแดง และไส้เดือน เพื่อเป็นอาหารสำหรับอนุบาลและเลี้ยงปลาหลด
"ปัจจุบัน จำนวนปลาหลดในธรรมชาติมีปริมาณลดลง หายากมากขึ้น และมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นปลาหลดที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นการเพาะเลี้ยงปลาหลด จึงสามารถช่วยลดปริมาณการจับและเป็นการอนุรักษ์ปลาชนิดนี้ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำ โดยการเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายได้ทั้งปลาเนื้อและปลาสวยงาม ซึ่งเกษตรกร ประชาชนทั่วไป หรือผู้ที่เกษียณอายุ สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมได้มีความต้องการของตลาดมาก ทำให้ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น การเลี้ยงจะใช้ระยะเวลา 5-7 เดือนก็จะได้ขนาดที่ตลาดต้องการ"
รศ.ดร. กฤติมา อธิบายว่า ปลาหลดในประเทศไทยมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่พบในภาคอีสานส่วนใหญ่มี 2 สายพันธุ์โดยกว่าร้อยละ 90 จะเป็นปลาหลดจุด ส่วนปลาหลดลายจะพบได้น้อย ปัญหาที่ทำให้ปลาหลดยังไม่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีกลุ่มเกษตรกรและผู้สนใจในการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก
เนื่องจากมีข้อจำกัดในการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์ ไปจนถึงการอนุบาลลูกพันธุ์ที่ต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ดังนั้น คนที่จะเลี้ยงปลาหลดต้องมีความสนใจและให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจัง และต้องผลิตอาหารมีชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะการอนุบาลและการเพาะเลี้ยง เพื่อให้ปลาหลดแข็งแรงและเติบโตได้ดี
- ปลาพื้นบ้าน สู่ข้อมูลสัตว์น้ำ อนุรักษ์สายพันธุ์
รศ.ดร. กฤติมา กล่าวอีกว่า นอกจากโครงการวิจัยเพาะพันธุ์ปลาพื้นเมืองแล้ว ยังมีเป้าหมายในการศึกษาวิจัยสถานะปัจจุบันของสัตว์น้ำเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการบริหารจัดการ และสร้างความตระหนักในการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาให้คงอยู่ต่อไป
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยฯ ยังทำหน้าที่บ่มเพาะและกระตุ้นให้นักศึกษาสาขาประมงเกิดแนวคิดและแรงบันดาลใจที่จะริเริ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของตนเอง เนื่องจากนักศึกษาที่จบไปแล้วส่วนใหญ่จะไปทำงานกับบริษัทเอกชน หรือเป็นนักวิชาการด้านการประมง หากมีการนำความรู้ไปพัฒนาธุรกิจ หรือสตาร์ทอัพ ก็จะเป็นต้นแบบให้แก่นักศึกษารุ่นน้องต่อไปได้