ถ้าทำให้ประชาชนแยกขยะได้จริง ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนก็จะเป็นไปได้จริง
ขยะชุมชน เป็นปัญหาที่มีอยู่ในทุกแห่ง มีในทุกประเทศมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ประเทศ ที่ดูจะมีปัญหามากก็คงหนีไม่พ้นพวกบรรดาประเทศกำลังพัฒนาไปจนถึงประเทศด้อยพัฒนา
เหตุที่ต้องเรียกกันรุนแรงถึงขนาดว่า "ด้อยพัฒนา" ก็เพราะด้อยในเรื่องการจัดการขยะเสียอย่างไม่น่าอภัยจริงๆ และที่ไม่น่าอภัยก็เพราะ "ขยะชุมชน" เป็นมลพิษที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง เป็นต้นตอของปัญหารุนแรงอื่นๆ ที่ตามมาได้มากมาย
เช่น เอาขยะไปเผากันเองกลางแจ้ง มลพิษที่ออกมาก็จะมีทั้ง ฝุ่นใหญ่ ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 โลหะหนัก สารพิษ สารที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าเอาไปทิ้งลงทะเลก็มีผลต่อสัตว์น้ำ ปะการัง ไปจนถึงระบบนิเวศ
ถ้าเอาทิ้งลงถนนเมื่อฝนตกก็จะถูกชะลงท่อ ทำให้ท่ออุดตัน น้ำไม่ไหลจนเกิดน้ำท่วม เกิดเป็นผลเสียหายต่อทั้งสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ฯลฯ
วิธีการแก้ปัญหานี้โดยทฤษฎีแล้วไม่ยาก ใครๆ ก็รู้ นั่นคือ ต้องแยกขยะต่างชนิดออกจากกัน ขยะไหนเอาไปทำปุ๋ยได้ก็เอาไป ขยะไหนเอาไปทำเชื้อเพลิงได้ก็เอาไป ขยะไหนเอาไปรีไซเคิลหรืออัพรีไซเคิลได้ก็เอาไป ที่เหลือจึงจะมีเป็นเพียงส่วนน้อยนิด จัดการง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลง และไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสรรพสัตว์
แต่ที่มันยากและยังทำกันไม่ได้นั่นไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องเทคนิควิธี แต่เป็นเรื่องของกระบวนการการแยกขยะชุมชนที่ว่า
เป็นที่น่าสังเกตว่าบรรดาโรงงานทั้งหลายต่างมีความรู้และเทคโนโลยี รวมแม้กระทั่งเงินทุน ที่จะมาสร้างเครื่องจักรหรือเครื่องมือกลและถังปฏิกิริยาที่จะมาทำการแปรรูปเศษขยะต่างชนิดพวกนั้นมาเป็นวัตถุดิบสำหรับขั้นตอนต่อไป ไม่ว่าจะเป็น พลาสติก ปุ๋ย เชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง และอื่นๆ
แต่ที่เขาทำไม่ได้ ไม่ทำ และไม่ลงทุน ก็เป็นเพราะเขาไม่มีขยะที่แยกมาอย่างดีตั้งแต่ต้นทาง เมื่อมาถึงมือเขาเขาต้องมาแยกซ้ำ ซึ่งนั่นหมายถึงภาระที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านค่าใช้จ่าย ค่าเวลา ค่าพลังงาน ค่าบุคลากร เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ภาครัฐพยายามผลักดันมันจึงยังเกิดขึ้นไม่ได้เสียที
ดังนั้น สรุปแบบฟันธงคือเราต้องสร้างระบบให้เอื้ออำนวยต่อการแยกขยะที่ต้นทาง ซึ่งนั่นหมายถึงภาคประชาชนต้องเป็นคนแยกขยะเสียก่อน ดังที่คนในอารยะประเทศเขาทำกัน จะด้วยกฎหมายบังคับ หรือด้วยความสมัครใจ หรือด้วยเห็นความจำเป็นต่อชีวิตที่ดีขึ้นของลูกหลานในอนาคตก็ตามที
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาว่าแล้วทำไมคนทั่วไปโดยเฉพาะคนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเราจึงไม่แยกขยะตั้งแต่ต้นทางหรือตั้งแต่ในครัวเรือน คำตอบแบบฟันธงอีกเช่นกันคือขี้เกียจ ไม่อยากแยก หรือไม่ก็แยกไม่เป็น ซึ่งปัญหาประการหลังสำคัญกว่าเพราะเป็นตัวที่ทำให้ปัญหาแรกนั้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางแก้ที่จะทำให้ได้ผลสัมฤทธิ์จริงจึงต้องมีมาตรการที่ทำให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถแยกขยะได้ แยกเป็น และแยกง่าย แล้วมาตรการที่ฟังดูดีที่ว่านั้นคืออะไรล่ะ คงมีคนถาม
ขอให้พวกเราลองนึกย้อนไปถึงเวลาที่เราซื้อสินค้าหรืออุปกรณ์บางอย่างเข้าบ้าน เช่น ทีวี มือถือ พัดลม เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เราจะพบว่าบริษัทฯ เขาจะมีเอกสารคู่มือแนะนำในการประกอบและ/หรือติดตั้งแนบมาด้วย เพื่อให้เราเมื่อทำตามคู่มือนั้นเสร็จแล้วจะสามารถเอาสินค้าของเขาไปใช้งานได้
มีแม้กระทั่งบอกด้วยว่าหากต่อผิดเกิดความเสียหายเขาจะไม่รับผิดชอบ และขอให้เราลองนึกต่อไปอีกสักเล็กน้อยว่า แล้วมีบริษัทใดบ้างที่มีเอกสารและคู่มือบอกเราว่า ถ้าอุปกรณ์หมดอายุ สินค้าชำรุด หรือของที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ เช่น น้ำยาซักแห้ง นมกล่อง ทิชชูเปียก(ขอแถมให้เป็นความรู้ว่ามันเป็นพลาสติกนะครับ ไม่ใช่กระดาษ) ขนมขบเคี้ยวที่ใส่อยู่ในบรรจุภัณฑ์หลายชั้นและหลากวัสดุ ถูกใช้จนหมดลงแล้ว
เราจะแยกขยะหรือส่วนประกอบของทั้งผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นอย่างถูกต้องเพื่อนำไปสู่การรีไซเคิล/อัพรีไซเคิลที่สมบูรณ์ต่อไปได้อย่างไร
เอกสารคู่มือแนะนำพวกนี้ไม่มีใช่ไหมครับ ซึ่งเมื่อไม่มีแล้วชาวบ้านที่ไหนจะมีความรู้และ“ความอยาก” ที่จะแยกขยะ ให้เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเกิดขึ้นได้จริง
ผมจึงอยากจะขอเสนอแนะให้ทั้งภาครัฐในฐานะที่ต้องเป็นหน่วยงานที่ต้องออกกฎหมาย และภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมืองผ่านหลักคิด EPR หรือ Extended Producer Responsibility
พิมพ์ข้อความลงบนบรรจุภัณฑ์และ/หรือตัวสินค้า แสดงถึงวิธีการและขั้นตอนในการแยกขยะที่เกิดจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างถูกต้อง จนขยะนั้นพร้อมแก่การนำไปรีไซเคิลและ/หรืออัพไซเคิลได้
(หมายเหตุ : EPR หมายถึงหลักคิดเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่ไม่ได้เน้นเพียงคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ แต่ให้รับผิดชอบไปถึงผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมาด้วย)
ด้วยวิธีนี้ชาวบ้านก็จะแยกเป็น แยกได้ และอยากแยก แล้วสุดท้ายกระบวนการรีไซเคิล อัพไซเคิลและเศรษฐกิจหมุนเวียนก็จะเกิดขึ้นได้อย่างครบวัฏจักรของมัน
ไหนๆก็พูดถึงเรื่อง EPR ของภาคธุรกิจแล้วก็อยากจะขอเพิ่มเติมด้วยว่า ภาคธุรกิจและโรงงานผู้ผลิตสินค้าจะต้องคิดล่วงหน้าไปถึงต้นทางไกลๆ ว่าจะออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างไรให้ลดหรือไม่มีสารพิษเลย เช่น จะผลิตโดยไม่ให้มีสารพีวีซีในผลิตภัณฑ์
ด้วยเหตุผลที่ว่า หากมีสารนี้ปะปนในขยะชุมชนและจะมีการเอาขยะนี้ไปเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า สารพีวีซีนี้จะไปก่อตัวเป็น
ไดออกซินที่เป็นสารก่อมะเร็งออกมากับไอเสียในปล่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้ผิดกฎหมายและโรงไฟฟ้าจากขยะจะเกิดขึ้นไม่ได้
ทำให้ขยะที่ควรเผาได้ก็จะเผาไม่ได้ กลายเป็นภาระที่หนักหน่วงแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันต่อไปอย่างหาทางออกกันแทบจะไม่ได้แบบที่ประสบกันอยู่ในทุกวันนี้
ด้วยมาตรการซึ่งคิดไว้ตั้งแต่ต้นธารที่จะลดสารพิษในผลิตภัณฑ์และมีคู่มือบอกชาวบ้านว่าจะแยกขยะอย่างไรให้ถูกต้องในกล่องบรรจุสินค้าและแม้กระทั่งที่ตัวสินค้าเองดังที่กล่าวมา เราก็จะมีระบบที่พัฒนาขึ้นที่ดีกว่าเดิม และเมื่อถึงวันนั้นนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทยก็จะเกิดขึ้นได้จริงอย่างที่ทุกคนต้องการ.