เอ็นเทค สวทช. กฟผ. เอกชนไทย-จีน ลงนามนำร่องวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารักษ์โลก
เอ็นเทค สวทช. กฟผ. สตาร์เลียน เอกชนจีน ลงนามบันทึกข้อตกลงนำร่องบริการยานยนต์ไฟฟ้า คัดเลือกวินมอเตอร์ไซค์ 50 คนอบรมการใช้งานเฟส 2 เล็งเห็นธุรกิจใหม่อย่างการ Swap แบตเตอรี่ หนุนยานยนต์พลังงานสะอาด
ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงส่งเสริมการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ และเริ่มโครงการร่วมมือทางด้านวิจัย ร่วมกับ ผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทสตาร์เลียน (The Stallions) และ บริษัท Dongguan Tailing Electric Vehicle Co., Ltd. (TAILG)
กิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแก่สหประชาชาติ หรือ “Integrating Electric 2&3 Wheelers into Existing Urban Transport Modes in Developing and Transitions Countries” ซึ่งเป็นการพัฒนาโปรแกรมใน 6 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปินส์ ไทย เวียดนาม เอธิโอเปีย เคนยา และยูกันดา เพื่อผนวกยานยนต์ไฟฟ้า 2-3 เข้ากับขนส่งสาธารณะ
ทั้งนี้ ภายใต้โครงการ Global Electric Mobility Program ของ UNEP บริษัท Shenzhen Shenling Car Company Limited เข้าร่วมเป็นภาคี ได้บริจาครถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ ได้แก่ เคนยา ยูกันดา และ ฟิลิปปินส์ เพื่อสร้างความตระหนักด้านการขนส่งไฟฟ้า เก็บข้อมูลที่สำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการร่างนโยบาย สำหรับประเทศไทย UNEP ทำงานกับ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สวทช. ภายใต้โครงการ “Mainstreaming Electric 2 and 3 Wheelers in Thailand”
โดยเฟสที่ 1 ได้พัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ขนส่งไฟฟ้าด้วยยานยนต์ไฟฟ้า 2-3 ล้อในไทย โดยประเมินภาพขนส่งพื้นฐานของประเทศและภาพฉายในอนาคตที่จะมีการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า 2-3 ล้อในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าที่มุ่งสู่เป้าคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593
สำหรับเฟสที่ 2 จะนำร่องการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ โดยได้รับความร่วมมือจาก กฟผ. และบริษัทสตาร์เลียน ที่ประสบความสำเร็จด้านการผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ “ENGY” ภายในพื้นที่ กฟผ. และวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากว่าร้อยคัน
ซึ่งครั้งนี้ จะมีคณะกรรมการคัดเลือกวินมอเตอร์ไซค์ 50 คนเข้าร่วมอบรม เพื่อสามารถใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าประกอบอาชีพประจำวันอย่างปลอดภัย
โดยจะติดตามเก็บข้อมูลด้านเทคนิค เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เป็นระยะเวลา 1 ปี ข้อมูลด้านรูปแบบการขับขี่ การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การใช้พลังงานปริมาณมลพิษที่ลดลง ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลง จะถูกวิเคราะห์ เพื่อสร้างโมเดลที่เหมาะสมในการขยายผลวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย
การออกแบบยานยนต์ไฟฟ้ามีการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของการใช้ถนนที่เปลี่ยนแปลงไปตามอากาศ นางอารีรัตน์ กล่าวเสริมว่า บริษัทสตาร์เลียนได้วางแผนการออกแบบให้ยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ในระดับป้องกันฝุ่นและน้ำของเครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า International Protection Standard ตามมาตรฐาน IEC 60529 หรือ IP code ที่ 67 จะสามารถรองรับการใช้งานบนพื้นถนนที่มีน้ำขังได้
นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. อธิบายว่า ปัจจุบันมีตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) สำหรับสับเปลี่ยนจำนวน 11 ตู้ ซึ่งจะบรรจุแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิด NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) เพื่อรองรับการใช้งานที่ต่อเนื่อง เปิดใช้งานจริงในพื้นที่บางกรวย จ.นนทบุรี โดยวางไว้ 3 จุด เพียงพอกับจักรยานยนต์ไฟฟ้าของโครงการ 51 คันที่ทดลองใช้
และอนาคตที่ใกล้จะถึงนี้ การสับเปลี่ยนพลังงานแบตเตอรี่จะพัฒนากลายเป็นธุรกิจใหม่ของวงการยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอน
"มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อใช้การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ไม่เหมือนกัน เพราะสเปคแต่ละรุ่นมีความต่าง คล้าย ๆ กับบัตร ATM สมัยก่อน หากมีบัตรของธนาคารไหนก็จะต้องใช้ตู้ของธนาคารนั้น ซึ่งตอนนี้เอ็นเทคมีโครงการเกี่ยวกับ Battery Swapping ที่กำลังดำเนินการพัฒนาให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทุกรุ่นสามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ข้ามค่ายได้ ช่วยส่งเสริมให้การใช้งานกว้างขวางมากยิ่งขึ้น" ดร. สุมิตรา กล่าว