ปุ๋ยม้าบินส่ง “โดรนม้าบิน” ยกระดับเกษตรกรรมไทย
บริษัท ไอ ซี พี ผู้ผลิตปุ๋ยม้าบิน และ บริษัทบัค อะเวย์ ผนึกกำลังร่วมลงทุนสร้างโดรนทางเกษตรเจ้าแรกที่ผลิตโดยคนไทย ภายใต้แบรนด์ “ม้าบิน” นำร่องเกษตรกรรมยุค 4.0 ประหยัดเวลา เพิ่มยอดการผลิต ขยายศูนย์บริการครอบคลุม 40 แห่ง ทั่วประเทศ
คนไทยกับการประกอบอาชีพทางการเกษตรดำรงชีวิตคู่กันมาอย่างช้านาน ทุกครั้งที่เราพูดถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยเกื้อหนุนแรงกายให้กับชาวเกษตรกรหลายคนก็มักจะนึกถึง ‘โดรน’ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เหมาะสมกับยุค 4.0
ข่าวดีในวันนี้ ประเทศไทยมีโดรนทางเกษตรที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย ชื่อแบรนด์ว่า ม้าบิน (Mah Bin) หรือ โดรนม้าบิน เป็นการร่วมลงทุนด้วยกันภายใต้ กลุ่มบริษัท ไอ ซี พี (ICP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ปุ๋ยตราม้าบิน ปุ๋ยท็อปวัน และ บริษัทบัค อะเวย์ (Bug Away Thailand) ผู้ผลิตโดรนเพื่อการเกษตร ในสัดส่วน 70:30 โดยมีงบลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท
คณิน สุวรรณนภาศรี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ไอ ซี พี กล่าวว่า กลุ่มบริษัทไอ ซี พี มีความเชี่ยวชาญและอยู่คู่เกษตรกรไทยมายาวนานกว่า 40 ปี โดยการเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยตอนนี้เป็นยุคแห่งการใช้นวัตกรรมพลิกโฉมและขับเคลื่อนเกษตรกรไทย ทำน้อยแต่ได้ผลมาก
ปัญหาหลักของธุรกิจภาคการเกษตรประเทศไทย คือ การขาดแคลนแรงงาน และขาดความรู้ในเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ การเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) สู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม (Smart Farming) เพื่อให้ผลิตได้อย่างแม่นยำ ประหยัดทรัพยากร สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และต้องการให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี นี่จึงเป็นที่มาของครั้งแรกกับการร่วมลงทุนพัฒนาโดรนม้าบิน
รัตยา เฉลิมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท ดีจีไอ โปรดักชั่น อธิบายว่า โดรนเกษตร คือ อากาศยานไร้คนขับ ที่ใช้งานทางการเกษตร มีทั้งการฉีดพ่นสารน้ำ การหว่านปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ การถ่ายภาพเพื่อสำรวจคุณภาพผลผลิต
90% ของโดรนเกษตร จะอยู่ในรูปแบบของการพ่นสารน้ำ การหว่านปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ โดรนเกษตรมีแนวโน้มเติบโตในตลาดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2564 เติบโตขึ้นถึง 200% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โดรนเกษตรเข้ามาทดแทนการทำงานเดิมที่เกษตรกรต้องแบกเครื่องพ่นสะพายหลังที่มีขนาดถังบรรจุถึง 25 กิโลกรัม ส่งผลเสียต่อเกษตรกรในด้านสุขภาพ และใช้ระยะเวลานานในการทำงาน ไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งมีข้อจำกัดในบางช่วงอายุของพืช เช่น ช่วงข้าวออกรวง หรือพืชสูง เป็นต้น
โดรนเกษตรจึงตอบโจทย์ ลดระยะเวลาการทำงานให้แก่เกษตรกร เพิ่มคุณภาพการฉีดพ่นที่ทั่วถึงด้วยระบบการวางแผนงานอย่างครอบคลุม และสามารถใช้งานกับพืชได้หลากหลายชนิด ทุกช่วงอายุของพืช พร้อมสร้างอาชีพให้แก่คนรุ่นใหม่ ที่หันมาทำการเกษตรผ่านเทคโนโลยีกันมากขึ้น
กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด มัน สำปะหลัง พืชสวน ทุเรียน ปาล์ม ส้ม ลำไย นิยมนำโดรนเกษตรมาเป็นเครื่องมือการฉีดพ่นแทนการใช้แรงงาน มีผู้ใช้งานโดรนเพื่อการเกษตรในประเทศไทยอยู่ที่ 2,000 – 3,000 ลำทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานเพียง 20%
โดรนม้าบินตั้งเป้าขยายพื้นที่การใช้งานให้ครอบคลุมกว่า 60% พร้อมเดินหน้าขยายศูนย์บริการครอบคลุม 40 แห่ง ทั่วประเทศ ภายในปี 2566
สำหรับการฉีดพ่นน้ำหรือปุ๋ย แต่เดิมนั้นเฉลี่ย 1 ไร่ ใช้เวลา 30 นาที เมื่อใช้โดรนฉีดจะช่วยย่นระยะเวลาเฉลี่ย 1 ไร่ต่อ 3 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ประสิทธิภาพเรื่องความสม่ำเสมอของการฉีด หากฉีดด้วยโดรนจะครอบคลุมกว่าการฉีดด้วยมือมนุษย์ ยกตัวอย่าง อ้อย เมื่อลำต้นเจริญเติบโตประมาณ 2-3 เมตร เกษตรกรจะไม่สามารถเข้าไปฉีดเองได้ ซึ่งตัวโดรนจะฉีดจากข้างบน ถือเป็นการฉีดรูปแบบใหม่
“ธุรกิจเกษตรมีพื้นที่แตกต่างกัน ประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีประมาณ 5-10 ไร่ ถ้าอย่างอเมริการเขาจะมีพื้นที่มากกว่า 1 พันไร่ ทำให้ไม่ว่าจะการฉีดหรือพ่นยาเขาจะทำในปริมาณที่เยอะ ๆ ซึ่งโดรนที่เข้ามาในไทยส่วนใหญ่ก็มาจากต่างประเทศ เป็นการผลิตโดรนแบบเหมารวมให้ใช้ได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก ดังนั้น จุดแข็งของโดรนม้าบินคือ การผลิตโดรนที่เหมาะสมกับการพื้นที่การเกษตรของคนไทยโดยเฉพาะ” คณิน ชี้จุดแข็งของโดรนม้าบิน
ทางด้านรัตยาเสริมว่า จุดเปรียบเทียบของโดรนม้าบิน คือ การร่วมมือกันระหว่างบริษัทโดรนและบริษัทปุ๋ย ผนึกกำลังพัฒนาเพื่อเกษตรกรคนไทยโดยเฉพาะ ทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการขับโดรน การให้บริการทางด้านความรู้การเกษตรและปุ๋ย และยังทำศูนย์บริการไว้ให้ข้อมูลช่วยเหลือเกษตรกรครอบคลุมทั้งประเทศ จึงถือว่าเป็นข้อแตกต่างของโดรนแบรนด์ม้าบิน
“โดรนม้าบินตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าไว้ 1 หมื่นคน มีทั้งกลุ่มโดรนเนอร์และเกษตรกร ฐานลูกค้าไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่เสมอไป แต่เป็นคนรุ่นไหนก็ได้ เพราะเรามีบริการให้คำแนะนำตลอดการใช้งานเสมอ ก่อนหน้านี้ลูกค้าวัย 70 ปี มาติดต่อซื้อโดรน เขาก็สามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะโดนของเรานั้นใช้ได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน” รัตยา กล่าว
คณินกล่าวทิ้งท้ายว่า ตลาดปุ๋ยเคมี และผลิตภัณฑ์อารักขาพืช ในไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยกลุ่มบริษัทไอ ซี พี มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณอยู่ที่ 15% มูลค่ายอดขายรวมมากกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี และมีฐานลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจผลิตภัณฑ์อยู่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยมากกว่า 2,000 ร้านค้า พร้อมนำเข้า ผลิต และจัดจำหน่าย สินค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรครบวงจรมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ซึ่งมั่นใจว่าจากศักยภาพและความชำนาญของกลุ่มบริษัทไอซีพี และบัค อะเวย์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเกษตรกรไทย พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด