มทร.ธัญบุรี ร่วม สป.อว. ส่ง ‘เครื่องขุดเจาะใต้ดิน’ ยกระดับสาธารณูปโภคไทย
มทร.ธัญบุรี ร่วมกับ สป.อว. สร้างระบบตรวจสอบสาธารณูปโภคใต้ดินกึ่งอัตโนมัติเพื่อการขุดเจาะใต้ดินแบบดันท่อ ชี้ ประหยัดแรงงานและเวลา รองรับการใช้งานในเมืองใหญ่
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แถลงข่าวความสำเร็จของ "โครงการพัฒนาสร้างนวัตกรรมระบบตรวจสอบสาธารณูปโภคใต้ดินกึ่งอัตโนมัติเพื่อการขุดเจาะใต้ดินแบบดันท่อ"
ภายใต้การสนับสนุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ ในโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปีงบประมาณ 2563 จาก สป.อว. ซึ่ง MTEC สวทช. เป็นหน่วยบริหารจัดการโครงการ
โดยมี รศ.ดร.บุญยัง ปลั่งกลาง คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ มีผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการและนำไปใช้ประโยชน์คือ บริษัท เอ็นอาร์ที เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (NRT) เป็นผู้ร่วมโครงการ
การใช้งานการขุดเจาะใต้ดินด้วยวิธีการดันท่อ (Pipe Jacking) มีอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ และใน กทม. ก็ได้นำ Pipe Jacking มาใช้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากงานดันท่อเป็นงานมีผลกระทบต่อการจารจรและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย
ปัญหาหนึ่งในระบบ Pipe Jacking คือ การกีดขวางการขุดเจาะของสาธารณูปโภคที่อยู่ใต้ดินก่อนหน้านี้ ซึ่งการขุดเจาะจะต้องไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อระบบใต้ดินที่มีอยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้น การสำรวจพื้นที่ก่อนการขุดเจาะจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ปัจจุบันนี้ การสำรวจพื้นที่และสาธารณูปโภคใต้ดินก่อนการขุดเจาะจะทำด้วยคน โดยแรงงานคนเจาะลงจนพบสาธารณูปโภคใต้ดินในระดับความลึกต่าง ๆ แล้วจึงมาวางแผนออกแบบการเจาะ การกระทำดังกล่าวทำให้เสี่ยงต่อระบบใต้ดินที่มีอยู่
ปกติการสำรวจสาธารณูปโภคใต้ดินนั้นจะมีเครื่องสำรวจอยู่ในตลาดแล้ว แต่มีที่ราคาแพง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การใช้งานยังมีข้อผิดพลาดอยู่มาก ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ ความยุ่งยากในการใช้งานทำให้ยังคงใช้วิธีขุดเจาะสำรวจอยู่ เป็นการเสียเวลาอย่างยิ่ง
โครงการนี้จึงพัฒนาสร้างนวัตกรรมระบบตรวจสอบสาธารณูปโภคใต้ดินกึ่งอัตโนมัติ เพื่อการขุดเจาะใต้ดินแบบดันท่อ ส่งเสริมความปลอดภัย ประหยัดแรงงานและเวลา ทำให้ระบบงานดันท่อนี้พัฒนาไปพร้อม ๆ กับการขยายตัวของเมือง เพราะเป็นวิธีที่มีผลกระทบต่อการจราจรและสิ่งแวดล้อมน้อยมาก
การเดินท่อ (Pipe Jacking) จะมีความแม่นยำมากขึ้น เครื่องนี้จะเป็นต้นแบบเครื่องแรกยังไม่เคยมีใช้มาก่อน
ความสำเร็จของโครงการคือ สามารถพัฒนาเครื่องสำรวจตำแหน่งความลึกสาธารณูปโภคเพื่อขุดเจาะใต้ดินที่ทำงานด้วยระบบแรงดันน้ำสูง ซึ่งจะมีรูปแบบที่เหมาะสมมีระบบควบคุมแบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถควบคุมทิศทางและสามารถใช้กับสาธารณูปโภคได้ทุกรูปแบบ ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ได้มากขึ้น
เครื่องสำรวจตำแหน่งความลึกสาธารณูปโภคเพื่อการขุดเจาะระบบไฟฟ้าใต้ดิน คุณสมบัติจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบคือใช้สำรวจตำแหน่งความลึกสาธารณูปโภคใต้ดินได้ทุกรูปแบบและไม่ต้องใช้แรงงานในการตอกเหล็กในการหาความลึก
และยังตรวจสอบตำแหน่งสาธารณูปโภคแม่นยำและรวดเร็วกว่าใช้แรงงานคน ซึ่งเป็นแบบที่เหมาะสมมากที่สุดและรองรับการใช้งานในเมืองใหญ่ อีกทั้งขนย้ายได้สะดวก ปลอดภัย