พิษศก.ฉุด 'อีคอมเมิร์ซ' โตไม่เต็มที่!! ‘ช้อปปี้’ ผนึกรัฐปลุก 'ช้อปปลอดภัย'
‘ช้อปปี้’ ผนึกรัฐ สร้างสื่อกลางบรรทัดฐานทางการค้า ช้อปออนไลน์อย่างปลอดภัย เดินหน้าจับมือพันธมิตร ลุยโปรโมชั่นร่วมกับแบรนด์ ผู้ค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง กระทบกำลังซื้อ คาด บีทูซีอีคอมเมิร์ซขยายตัว 13.5% หรือราว 5.65 แสนล้าน
นางสาวสุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ ประเทศไทย กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับสองเครือข่ายภาครัฐ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส. ตร.) มุ่งสร้างโลกดิจิทัลปลอดภัย ด้วยการส่งเสริมการซื้อขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้มีความรัดกุม และจัดการกับปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ
โดยเปิดตัวแคมเปญ ‘ช้อปสินค้าปลอดภัย มั่นใจมี มอก.’ เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าบนแพลตฟอร์มช้อปปี้ ให้เป็นไปตามที่สมอ.กำหนด
"ช้อปปี้ เดินหน้าทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องเพื่อเสริมพลังรากฐานของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้แข็งแกร่ง การผนึกกำลังระหว่างช้อปปี้กับ สมอ. และ ศปอส.ตร. เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน มุ่งสร้างความปลอดภัยให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นหนึ่งฟันเฟืองสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมร่วมระบุแนวทางการป้องกันความเสี่ยงอย่างครบองค์รวม ทั้งการวางระบบการกำกับดูแล การพัฒนาแผนป้องกัน รวมถึงกระบวนการสนับสนุนที่เหมาะสม"
สำหรับแคมเปญ 'ช้อปสินค้าปลอดภัย มั่นใจมี มอก. จะเป็นมาตรการควบคุมสินค้าบนแพลตฟอร์มด้วย ‘เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ’ เพื่อเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ที่มีคุณภาพตรงตามที่สมอ.กำหนด มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งาน อุปโภค และบริโภค รวมถึงคุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาผลิต นอกจากนี้ ยังเป็นการแนะแนว และควบคุมการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการ เพิ่มโอกาสทางการค้า
ทั้งนี้ ช้อปปี้ได้รวบรวมร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน และได้รับการรับรอง โดยคำแนะนำของสมอ.พร้อมเสนอแคมเปญ "ช้อปสินค้าปลอดภัย มั่นใจมี มอก." เพื่อการันตีสินค้าคุณภาพดี พร้อมได้ส่วนลด 15% ตั้งแต่วันที่1 - 30 มิถุนายนนี้
ปัจจุบัน ช้อปปี้ นับเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในกลุ่ม อีมาร์เก็ตเพลส ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในไทยอยู่ในระดับผู้นำ ยังคงเดินหน้าทำการตลาดแบบเข้มข้น เดินกลยุทธ์ผนึกกำลังกับพันธมิตรที่หลากหลาย นอกจากการจัดทำโปรโมชั่นร่วมกับแบรนด์และผู้ค้าแล้ว มีการร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตร เพื่อทำแคมเปญพิเศษ โดยเฉพาะแคมเปญดับเบิลเดย์ ที่มักทำยอดขายได้สูงกว่าช่วงเวลาปกติ ขณะที่ ข้อมูลของ Creden Data เผยว่า ช้อปปี้ ประเทศไทย มีรายได้ปี 2563 ราว 5.8 พันล้านบาท เติบโตจาก ปี 2562 ที่มีรายได้ราว 1.4 พันล้านบาท ปัจจุบันช้อปปี้ แตกบริการที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ช้อปปี้เพย์ ช้อปปี้เอ็กซ์เพรส ช้อปปี้ฟู้ด
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์โรคระบาด และผลกระทบจากสถานการณ์ในยูเครนที่อาจยืดเยื้อ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้คาดว่าปี 2565 ธุรกิจบีทูบี อีคอมเมิร์ซ กลุ่มสินค้า แม้อาจขยายตัวราว 13.5% คิดเป็นมูลค่าตลาดราว 5.65 แสนล้านบาท ขยายตัวที่ชะลอลงและต่ำสุดเทียบกับ 3 ปีก่อนที่ขยายตัวเฉลี่ย 40% ต่อปี
อีกทั้งผู้บริโภคมีการวางแผนปรับลดการใช้จ่ายผ่านหน้าร้านมาเป็นการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ภายใต้งบประมาณที่ยังคงจำกัดหรือไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม โดยคาดว่าส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจ บีทูซี อีคอมเมิร์ซ กลุ่มสินค้าจะขยับเพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2564 เป็น 16% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดค้าปลีกสินค้ารวมทั้งหมด
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ค่าขนส่งสินค้าที่อาจแพงขึ้นตามราคาน้ำมันที่พุ่งสูง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องวางแผนรับมือปัจจัยท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการออนไลน์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค