เปิด 2 ขั้วความคิด ‘ค้าน-เห็นด้วย’ ปมดีลแสนล้าน' ทรูควบดีแทค'

เปิด 2 ขั้วความคิด ‘ค้าน-เห็นด้วย’  ปมดีลแสนล้าน' ทรูควบดีแทค'

โฟกัส กรุ๊ป 3 ครั้ง ที่ กสทช. ต้องเปิดรับฟังความเห็น ต่อกรณีการควบรวมทรูดีแทค ได้เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อย จากนี้ สำนักงาน กสทช.ที่ต้องรวบรวมข้อเสนอแนะ ความเห็นคิด และข้อเท็จจริง นำเสนอต่อบอร์ดให้พิจารณาในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ซึ่งมีทั้งมุมที่ “ค้าน” และ “เห็นด้วย”

รดแมปตามมติคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 มีมติรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) 3 ครั้ง ต่อการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค แบ่งเป็น 1.กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 2.นักวิชาการ และ3.กลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยครบทั้ง 3 กลุ่มแล้ว

ขั้นตอนต่อจากนี้ เป็นหน้าที่ของ สำนักงาน กสทช.ที่ต้องรวบรวมข้อเสนอแนะ ความเห็นคิด และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการทำโฟกัส กรุ๊ป สรุปเป็นรายงาน และนำเสนอต่อบอร์ดให้พิจารณาในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ซึ่งมีทั้งมุมมองที่ “ค้าน” และ “เห็นด้วย”

"กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมข้อคิดเห็นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ภาคประชาชนที่มีต่อดีลการควบรวมในครั้งนี้

ต้องไม่อนุญาตให้ควบรวม

"สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การควบรวมกิจการ ที่มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว จึงเข้าข่ายการผูกขาดตลาด ผู้ได้อานิสงส์ คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ส่วนผลกระทบด้านลบ คือ ผู้บริโภคและคู่ค้าผู้ให้บริการที่อาจมีอำนาจต่อรองลดลง รวมถึงรัฐบาลด้วย เพราะหากมีประมูลคลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลลดลง รายได้รัฐย่อมลดลง

ถามว่า ทำไมต้องห่วงการกระจุกตัว เพราะปัจจุบันตลาดโทรคมนาคมก็อยู่ในภาวะกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว ดังดัชนี HHI ซึ่งค่าสูงสุด 10,000 คือ การผูกขาดรายเดียว ขณะที่ การควบรวมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่งผลให้ดัชนี HHI อยู่ที่ 3,700 เพิ่มขึ้นมาที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมหาศาล จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย จะเกิดผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ทางออกมี 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก ไม่อนุญาตให้ควบรวม และหาก ดีแทคจะออกจากประเทศไทยก็ให้ขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรู

แนวทางที่สอง อนุญาตให้ควบรวมฯ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมากและต้องเข้มข้นในทุกๆมิติให้บริษัทที่ควบรวมกัน คืนคลื่นมาบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ในตลาดโทรศัพท์มือถือ

และแนวทางที่สาม อนุญาตให้ควบรวมกันได้ และส่งเสริมให้การผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายฯของตัวเอง แต่ทางเลือกนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอที่เหมาะสมนัก เพราะเอ็มวีเอ็นโอไม่ได้เกิดง่าย

"ดังนั้น คำตอบ คือ ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม และ กสทช.ก็ไม่ควรอนุญาตด้วย"

ผู้บริโภคมีภาระเพิ่มสูงขึ้น

"สารี อ่องสมหวัง" เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อควบรวมกิจการ จะทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากคิดจากผู้ใช้บริการ 80 ล้านเลขหมาย ที่มีการใช้งานจริงจากเดิมที่มียอดผู้ใช้งานรวม 120 ล้านเลขหมาย โดยหากคิดบนพื้นฐานจากที่ ปัจจุบันผู้บริโภคทั้งประเทศจะมีรายจ่ายต่อเดือนต่อการจ่ายค่าโทรศัพท์ทั้งสิ้น 1,760 ล้านบาท แต่หากไม่มีการแข่งขันผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายรวมต่อดือนทั้งสิ้น 13,600 ล้านบาท รายจ่ายที่เพิ่มใครจะรับผิดชอบ

ผู้บริโภคไม่ได้สนใจในเรื่องของการอยู่รอดของภาคธุรกิจของเอกชน แต่สิ่งที่ผู้บริโภคเน้นย้ำคือ อัตราค่าบริการ สินค้าและบริโภคจะต้องเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้น ในเมื่อเอกชนยังไม่แสดงให้เห็นถึงมาตรการที่จริงใจที่จะคุ้มครองผู้บริโภคและหากในอนาคตมีการควบรวมกันสำเร็จ ผู้บริโภคจะหมดสิทธิที่จะมีทางเลือกที่หลากหลายในการเลือกบริการที่ดีเหมาะสม ในราคาตามที่ต้องการหรือมีกำลังซื้อได้อย่างเสรี

นอกจากนี้ กสทช.ที่ดำรงตำแหน่งควรใช้อำนาจหรือสิทธิที่มีตามกฎหมายติดตัวมาอย่างเต็มที่และต้องคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิของผู้บริโภคอย่างมาก สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือ การพัฒนาโครงข่าย พัฒนาบริการ และสิ่งที่จะล้มหายตายจากไปตลาด หากเกิดการควบรวมคือคู่ค้า ดีลเลอร์รายเล็กรายย่อย เพราะทรูและดีแทคมีสิทธิยกเลิกคู่ค้าและหันไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อของตัวเอง

รายใหญ่ฮั้วทำราคาพุ่ง 120%

“ฉัตร คำแสง”ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า การควบรวมครั้งนี้ทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดโทรคมนาคมสูงอย่างมาก ซึ่งจากเดิมในประเทศไทยมีผู้ผลิตผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 รายได้แก่ก็คือ โดบบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 46-47% ทรู 33% และดีแทค 18-20% ส่วนบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที อยู่ที่ 3% ซึ่งก็ถือเป็นตลาดที่มการกระจุกตัวอยู่แล้ว

หากนำดัชนีการกระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index : HHI มาพิจารณาจะเห็นว่า ปัจจุบันอุตสาหกกรรมไทยอยู่ในภาวะผู้เล่นน้อยราย (Oligopoly) เดิมมีค่าดัชนี HHI อยู่ที่ 3,578 แต่หากควบรวมสำเร็จจะขึ้นไปที่ 4,823 เพิ่มขึ้นถึง 32.4% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยระบุว่า หากตลาดมีดัชนี HHI เกิน 2,500 ถือเป็นตลาดที่มีความอันตราย

หากคำนวณราคาเฉลี่ยตามแพ็คเกจเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 220 บาทต่อเดือน แต่หากเมื่อมีการควบรวมธุรกิจกันนั้น ทำให้พบว่าหากมีการแข่งขันกันรุนแรงแม้จะเหลือเพียง 2 ราย ราคาค่าบริการก็ยังเพิ่มขึ้นราว 7-10% ราว 235-242 บาท แต่ถ้าเกิดมีการแข่งขันกันตามปกติราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 13-23% ราว 249-270 บาทแต่ในหาก 2 รายรู้สึกว่าพอใจกับจำนวนลูกค้ากับการแข่งขันที่เป็นอยู่จนไม่เกิดการแข่งขันกับมาร์เก็ต แชร์คนละ 50% และสามารถขึ้นราคาหรือฮั้วค่าบริการกันได้จะจะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวได้เลย ราว 66-120% คิดเป็นราคา 365-480 บาท ดังนั้น กสทช.จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดการควบรวม

ดัชนีพุ่งไม่เท่ากับราคาแพง

ขณะที่ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ อดีตประธาน กสทช. กล่าวว่า แม้การวัดด้วยวิธีการเศรษฐศาสตร์เป็นวิธีการที่ทั่วโลกยอมรับ ดัชนี HHI สูงแค่ไหน จุดสำคัญอยู่ที่มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรามี กสทช. ที่ต้องทำหน้าที่กำกับดูแล และควบคุมราคา

นอกจากนี้ โมเดลการคำนวณปัจจัยด้านเงินเฟ้อและจีดีพีและยังเป็นการชี้นำสังคมให้เข้าใจผิด ว่าหากปล่อยให้ควบรวมกันแล้วคนไทยจะต้องเสียค่าบริการที่แพง ซึ่งปัญหานี้เรามีประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนด และกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการกำหนดอำนาจในการกำกับดูแล และควบคุมราคา ซึ่งมีเพดานราคาไว้ชัดเจน หากเกินกว่าราคาที่กำหนดคือ ผิดกฎหมาย

โดย แบ่งอัตราขั้นสูงของค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิ การใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก ใช้บังคับกับบริการ ดังนี้ (1) บริการเสียง (2) บริการข้อความสั้น (3) บริการข้อความมัลติมีเดีย (4) บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ โดยในข้อ 6 ได้กำหนดหน้าที่ กสทช. ว่า ให้ตรวจสอบอัตราค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งาน ของรายการส่งเสริมการขายหลักที่ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอยู่ในตลาดเป็นประจำทุกเดือน โดยใช้วิธีการ เปรียบเทียบ โดยอัตราค่าบริการในแต่ละประเภทบริการต้องเป็นไปตามอัตราขั้นสูงของค่าบริการที่กำหนดไว้ในภาคผนวกท้ายประกาศ

ควบรวมเป็นประโยชน์มหาศาล

"เสรี วงศ์มณฑา" นักวิชาการอิสระด้านการตลาด แสดงความเห็นว่า การพิจารณานี้ต้องมองตัวแปรให้ครบ เรามีกสทช.เป็นเรกูเลเตอร์ ประเด็นที่บอกว่าควบรวมแล้วราคาจะแพงขึ้นนั้น เป็นไม่ได้ต้องใช้หลักฐานมาพิสูจน์ และเรื่องความสัมพันธ์คู่แข่ง ว่าจะเกิดการฮั้วราคาเป็นเรื่องที่ยากเพราะผู้ประกอบการไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน และ เรื่องที่ขาด คือ จิตวิทยา มนุษย์เรามีสมองซ้ายและขวา การเอาตัวเลขโมเดลทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ตัดสินเพียงประการเดียวไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกด้วย

ดังนั้น การควบรวมจึงเป็นประโยชน์เพราะผู้บริโภคจะได้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น มีทรัพยากรเพิ่มขึ้น หากรวมกันแล้วสามารถแบ่งปันกันเพื่อลดต้นทุน ทำให้เสนอราคาที่ต่ำลงได้ จะเห็นได้ว่า การควบรวมยังไม่เกิดขึ้น เอไอเอส ก็ออกมาแข่งขันแล้ว การแข่งขัน ต้องพูดถึงการลงทุนด้านนวัตกรรม เรื่องรักษาประโยชน์ผู้บริโภคมี กสทช .อยู่แล้ว คงไม่ยอมให้ขึ้นราคาในระดับที่ไม่เป็นธรรมของผู้บริโภคแน่นอน

ต้นทุนลดนำมาพัฒนาบริการ

"ปริญญา หอมเอนก" นักวิชาการ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันคือยุคของดิจิทัล ทรานฟอร์ม ประชาชนไม่จำเป็นต้องใช้เบอร์โทรของโอเปอเรเตอร์ แต่สามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านไลน์ เฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นว่าโอทีที (OTT) มีการแข่งขันกับโอเปอเรเตอร์อยู่แล้ว เพราะตอนนี้ดาต้ากลายเป็นวอยซ์ จึงต้องการให้ กสทช.ศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ ในตลาดยังมี "เอ็นที" อีกรายที่เป็นผู้ให้บริการ ดังนั้น การควบหรือไม่ควบไม่ใช่ประเด็น ต้องดูที่ประโยชน์ว่าคนไทย สตาร์ทอัพได้อะไร จะเกิดการลงทุนมีการแข่งขันและนวัตกรรมมากขึ้น การรวมกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่กสทช.กำหนดมากกว่า ซึ่งเชื่อว่ากสทช.ดูแลเรื่องราคาได้อยู่แล้ว ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีและไม่ได้ลงทุนอะไรเอง การที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในไทยจึงเป็นเรื่องดี

กสทช เปิดโมเดลจำลองดูความสัมพันธ์ “ค่าบริการ เงินเฟ้อ จีดีพี”

อนุกรรมการกสทช.ด้านเศรษฐสาสตร์ เปิดเผยแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปที่พัฒนาร่วมกันระหว่างสำนักงานกสทช. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย โดยใช้แบบจำลองมี 59 สาขาเศรษฐกิจ มีสมการและข้อมูลที่แสดงความสัมพันธ์ที่ทุกสาขาเศรษฐกิจมีความเกี่ยวข้องกัน

สรุปผลการศึกษาพบว่า ต่อสภาพเศรษฐกิจในแง่ของอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังการควบรวม โดยแบ่งเป็น 1. กรณีไม่มีการร่วมมือกัน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.05% - 0.12% 2.กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.17% - 0.34% และ 3.กรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.60% - 2.07%

ส่วนสรุปผลการศึกษาอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยกรณีนี้หมายเหตุ จีดีพีหดตัวหมายถึงจีดีพีจะโตน้อยกว่าที่ได้คำนวณมา 1.กรณีไม่มีการร่วมมือกัน จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.05% - 0.11% คิดเป็นมูลค่าลดลง 8,244 - 18,055 ล้านบาท 2.กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.17% - 0.33% คิดเป็นมูลค่าลดลงราว 27,148 - 53,147 ล้านบาท 3.กรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.58% - 1.99% คิดเป็นมูลค่าลดลงราว 94,427 - 322,892 ล้านบาท

ขณะที่ โมเดลการใช้งานวอยซ์และดาต้า บ่งบอกถึงอัตราการเพิ่มขึ้นที่น้อยกว่า โมเดลการใช้งานด้านเสียงเพียงอย่างเดียว โดยอัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเมื่อไม่มีการร่วมมือกัน คือ 2.03-19.53% กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำราคาเพิ่มขึ้น 12.57-39.81% กรณีร่วมกันในระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้น 49.30-244.50%