กสทช.อัพเลเวล ขู่ปรับค่ายมือถือวันละล้าน - หากปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้
กสทช.ลงมติเคาะปรับไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านบาท หากค่ายมือถือไม่สามารถจัดการการลงทะเบียน SIM Card ให้ถูกต้องใน 30 วัน ด้านตำรวจไซเบอร์ผนึก AIS ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลังตรวจค้น 8 จุด ทั่วกทม. ตรวจยึดเครื่องสัญญาณ IP PBX จำนวน 43 เครื่อง พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นสูงสุด
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. มีการประชุมร่วมกันและได้มีมติให้ทางสำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการกวดขันให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหากใช้บัตรประชาชนใบเดียวลงทะเบียนซิมเป็นจำนวนมากกว่า 5 เลขหมายจะต้องไปแสดงตนที่ศูนย์บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำซิมไปใช้ในการหลอกลวงประชาชนให้เกิดความเดือดร้อนและก่อให้เกิดความเสียหายเสียทรัพย์ดังที่ปรากฏเป็นปัญหากว้างขวางในปัจจุบัน
มติดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่สำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดประชุมและมีหนังสือกำชับให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ กสทช.. . เกี่ยวกับการลงทะเบียนซิมการ์ดเป็นระยะ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 สำนักงาน กสทช ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการลงทะเบียนซิมการ์ดผ่านตัวแทนจำหน่าย (ลูกตู้) พบว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศ กล่าวคือ พบกรณีที่ผู้ใช้บริการ 1 รายสามารถลงทะเบียนเปิดใช้ซิมการ์ดกับตัวแทนจำหน่ายได้มากกว่า 5 เลขหมายเป็นจำนวนสูงมาก จึงได้แจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยโดยเร็ว ในวันนี้ทางสำนักงาน กสทช.ได้รายงานข้อเท็จจริงนี้ให้บอร์ด กสทช.รับทราบเพื่อกำหนดมาตรการทางปกครองหากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการที่จะดำเนินการทางปกครอง
ในเบื้องต้น บอร์ด กสทช. ได้พิจารณาโมเดลการคำนวณค่าปรับทางปกครองที่จัดทำโดยสำนักงาน กสทช.ซึ่งครอบคลุมถึงกรณีความของความผิด ขนาดของปัญหา และกรณีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหรือคำสั่งเกี่ยวกับการอนุญาตและการกำกับดูแลที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าอัตราค่าปรับน่าจะอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านบาท
โดยบ่ายวันเดียวกันได้มีการประชุมนัดแรกของคณะทำงานพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง ซึ่งประกอบไปด้วย 11 หน่วยงาน ได้แก่ กสทช. ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ก.ดีอีเอส) ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้แทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท). ผู้แทนประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ทั้ง 4 ราย (AIS TRUE DTAC และ NT) ผู้แทนสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภคด้วย
พร้อมกันนี้ ในวันเดียวกัน AIS สานพลัง ตำรวจไซเบอร์ เข้าจับกุมมิจฉาชีพ ทลายแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ ตรวจค้น 8 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ตรวจยึดเครื่องสัญญาณ IP PBX จำนวน 43 เครื่อง พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นสูงสุด สะท้อนการทำงานเชิงรุก เจอ จับ จริง ตั้งเป้าปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพ หลังจากที่ AIS เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ผ่านการทำงานร่วมกับ กสทช., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ โดย AIS ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากลูกค้า รวมถึงได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งเบอร์โทรและ SMS และหากพบว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพก็จะทำการส่งข้อมูลดังกล่าวไปยัง ตำรวจไซเบอร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือภัยไซเบอร์โดยตรง อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ฝ่ายความมั่นคงเข้าจับกุมมิจฉาชีพแก็งคอลล์เซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชนได้สำเร็จซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายขั้นสูงสุดต่อไป จึงนับว่าเป็นผลจากการร่วมทำงานเชิงรุกระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพ
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า จากกรณีปัญหามิจฉาชีพละเมิดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ที่สร้างความเดือดร้อน รำคาญ ไปจนถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันเกิดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ การปกป้องข้อมูลและการใช้งานระบบสื่อสารของลูกค้า ที่ผ่านมานอกเหนือจากการพัฒนาดิจิทัลเซอร์วิสเพื่อช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ อาทิ AIS Secure Net , Google Family Link ที่สามารถดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้อยู่บนความปลอดภัยจากสแปม,ฟิชชิ่ง,ไวรัสแล้ว เรายังได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ อย่าง กสทช.และฝ่ายความมั่นคงอย่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา”
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ ตามหมายค้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 8จุด ในพื้นที่ เขตบางนา ห้วยขวาง และลาดพร้าว ผลการปฏิบัติสามารถจับกุมนายสุรชาติ แซ่โจ ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อหา “ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14(1) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ”
โดยการจับกุมดังกล่าว และพบผู้ต้องสงสัยอีก 3 ราย ตรวจยึดของกลางเครื่องสัญญาณ IP PBX จำนวน 43 เครื่อง เครื่องส่งญาณไร้สาย wireless router จำนวน 30 เครื่อง และของกลางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายการ เช่น สมุดบัญชีธนาคาร โทรศัพท์มือถือ โดยได้นำตัวผู้ต้องหา และของกลางส่งพนักงานสอบสวน บช.สอท.ดำเนินคดีตามกฎหมาย สอบสวนขยายผลไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป