สุดยอดอาหารพื้นถิ่นภาคใต้ เห็ดแครงแห้ง เครื่องแกงไตปลาก้อน ปลาทูแท่งกรอบ
เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย!! กับการเฟ้นหาสุดยอดอาหารพื้นถิ่นภาคใต้ หรือ Product Champion เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพและเพิ่มมูลค่ายิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี จัดโดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี อย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 2 ในพื้นที่ภาคใต้ โดยในปี 2565 ได้ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
สทน.ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 3 แห่ง จัดสัมมนาให้ความรู้และสร้างความมั่นใจเรื่องการฉายรังสีในอาหาร ให้กับผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ เพื่อให้ได้เห็นแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีฉายรังสี
เพื่อต่อยอดความสำเร็จสู่เชิงพาณิชย์ จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจอาหารฉายรังสี และผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลเป็น สุดยอดอาหารพื้นถิ่น หรือ “Product Champion” ในพื้นที่ภาคใต้
ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมจะต้องเป็นผู้ผลิตสินค้าเอง และยังมีวางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง เป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ สามารถใช้เทคโนโลยีการฉายรังสี เพื่อยกระดับคุณภาพ หรือเพิ่มมูลค่าได้
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Product Champion ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สทน.กับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ในกิจกรรมเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยการฉายรังสีอาหาร ปี 2565
มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมทั้งหมด 122 ผลิตภัณฑ์ และมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดเลือก ได้รับคำปรึกษาแนะนำเป็นรายผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดความสำเร็จสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 56 ผลิตภัณฑ์
สำหรับผลการประกวดในแต่ละจุดดำเนินการ มีดังนี้ จุดดำเนินการที่ 1 มรภ.สุราษฎร์ธานี รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายบุญเลิศ ไชยคง ผลิตภัณฑ์ เห็ดแครงแห้ง จ.สุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ นางวันจุรี สุวรรณรัตน์ ผลิตภัณฑ์ กะปิท่าเคย จ.สุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ นายจรินทร์ เฉยเชยชม ผลิตภัณฑ์ น้ำพริกปูม้า จ.สุราษฎร์ธานี
จุดดำเนินการที่ 2 มรภ.สงขลา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวพรพิมล รักษาผล ผลิตภัณฑ์ เครื่องแกงไตปลาก้อน(พร้อมปรุง)ตราบ้านบนนบ จ.พัทลุง รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ นางอภิวรรณ์ ดำแสงสวัสดิ์ ผลิตภัณฑ์ ผงกล้วยดิบ ยี่ห้อ Thiphuta จ.นครศรีธรรมราช รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ นางละมัย บุญคง ผลิตภัณฑ์ น้ำพริกสมุนไพรแม่มัย / น้ำพริกปลาอินทรีย์ สูตรสมุนไพร จ.สงขลา
จุดดำเนินการที่ 3 มรภ.ภูเก็ต รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายไพซอล โละหะลู ผลิตภัณฑ์กะโป๊ะสด ปลาทูแท่งกรอบ ตรา Bangko กะโป๊ะ บังโก๊ะ จ.ภูเก็ต รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ นางสาวศันสนีย์ เรืองเกตุ ผลิตภัณฑ์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ปรุงรสต้มยำ กาหยีภูเก็ตน้องโอ จ.ภูเก็ต รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ นางสาวนิศากร ธรรมประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ น้ำปลาหวานกุ้งแก้ว ตรา ภูเก็จแก้ว
ทั้งนี้ เทคโนโลยีการฉายรังสี เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้อาหารพื้นถิ่น หรืออาหารพื้นบ้าน เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้
"หลังจากนี้ สทน.จะเดินหน้าต่อไปยังพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นของไทย มีศักยภาพทางการค้า และเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อไปและผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดโครงการนี้ได้ทางเว็บไซต์ www.tint.or.th"
ผู้ชนะเลิศทุกคน จะได้รับเงินรางวัล มูลค่า 10,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เงินรางวัล มูลค่า 6,000 บาท และ รองชนะเลิศอันดับที่ 2 เงินรางวัล มูลค่า 3,000 บาท พร้อมกับโล่และใบประกาศ จาก สทน.
ด้านนายบุญเลิศ ไชยคง เจ้าของผลิตภัณฑ์ เห็ดแครงแห้ง รางวัลชนะเลิศ จุดดำเนินการที่ 1 มรภ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เห็ดแครงเป็นที่นิยมของชาวใต้ ที่มาเห็ดแครง ชาวบ้านเก็บตามสวน สมัยนี้หาทานได้ยาก
เราก็ยกระดับเข้ามาเพาะเลี้ยงในระบบโรงเรือน มาเป็นเห็ดแครงแห้ง มีคุณภาพมาตรฐานออร์แกนิค มีคุณค่าทางโภชนาการให้โปรตีนที่สูง ไฟเบอร์สูง และต้านอนุมูลอิสระ กลิ่นและรสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดชนิดอื่นทั่วไป
ไฮไลท์เห็ดแครงให้สารปรุงรสได้เป็นอย่างดีเมื่อผ่านกระบวนการปรุง เราแทบจะไม่ต้องใส่สารปรุงรสหรือสารปรุงแต่งใดๆ หรือผงชูรส เพราะว่าเห็ดแครงเมื่อเราทานจะให้รสชาติที่อร่อยเมื่อผ่านความร้อน อีกอย่าง มีโปรตีน มีกลิ่นและรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ สามารถไปแทนเนื้อสัตว์ เหมาะกับผู้บริโภคที่หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ ตรงนี้ก็จะตอบโจทย์เรื่องของพืชที่สามารถที่แทนเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับคนที่รักสุขภาพ ทานเจ มังสวิรัติ วีแกน
ส่วนปัญหาคนที่เพาะเลี้ยงเห็ดจะเจอในเรื่องของโรคและแมลงหรือว่าเชื้อราในการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ผู้ประกอบการเกิดข้อจำกัดในเรื่องของกระบวนการการจัดการ ตรงนี้ถ้าเราได้ผ่านการฉายรังสีจากการสนับสนุนจาก สทน. สามารถที่จะยืดอายุการเก็บรักษา หรือว่าเชื้อปรสิตหรือเชื้อราตรงนี้ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการ หรือผลิตภัณฑ์ตัวนั้นๆ หรือไม่
ในอนาคตเมื่อประสบความสำเร็จในงานวิจัยหรือผ่านกระบวนการตรงนี้ เราก็สามารถที่จะต่อยอดในเรื่องของผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น พืชผักผลไม้ที่นอกเหนือจากเห็ด ตรงนี้ก็จะตอบโจทย์ในเรื่องของการพัฒนาในอนาคต
ส่วนผลิตภัณฑ์ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของทำวิจัยอยู่ ยังไม่ได้ข้อสรุป ตอนนี้ที่เก็บรักษาระยะเวลาอยู่ที่ 8 เดือนถึง 1 ปี ถ้าเราได้ข้อสรุปในเรื่องของงานวิจัย ตรงนี้ก็สามารถที่จะตอบโจทย์ในการพัฒนาต่อไปได้
ผมอยากให้สินค้าเก็บได้นาน 2-3 ปี ก็จะเป็นการดี จะสามารถที่จะผลิตสต๊อกจำนวนมากได้ เมื่อมีออเดอร์เข้ามาเราก็มีความพร้อมที่จะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ จึงแนะนำผู้ประกอบการว่า นอกจากผลิตภัณฑ์เห็ดหรือว่าอาหารพื้นถิ่น หรือว่าเป็นอาหารที่สามารถที่จะแปรรูป การฉายรังสีสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการหรือว่าผู้บริโภค สร้างความมั่นใจในเรื่องการบริโภคมากยิ่งขึ้น
"แม้ว่าเทคโนโลยีการฉายรังสีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ได้รับทราบข้อมูลการพัฒนาตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ไม่รู้จักสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติเลย ได้รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
จึงขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยทั้งสามแห่ง รวมทั้ง สทน. ที่มอบโอกาสดีๆให้กับผู้ประกอบการได้เข้าถึงการพัฒนาต่อยอดในเรื่องของผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น ซึ่งจะสามารถพัฒนาต่อยอดทั้งผลิตภัณฑ์และการตลาดไปได้อีกมากในอนาคต" นายบุญเลิศ กล่าว