สยามคูโบต้าใช้ ‘คลาวด์’ พัฒนาบุคลากรด้าน Data
สยามคูโบต้าเผยความสำเร็จจากการเปลี่ยนผ่านมาสู่ดิจิทัลรูปแบบใหม่ โดยการใช้ “นวัตกรรมคลาวด์” เร่งพัฒนาบุคลากรด้าน Data พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรสู่การเป็น Smart Farmer
เมธี ศรีสุพรรณดิฐ ผู้จัดการฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยี บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทางกรุงเทพธุรกิจถึง การประสบความสำเร็จจากการนำนวัตกรรมคลาวด์และเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาเสริมกำลังทัพของบุคลากรภายในองค์ด้าน “Data Visualization” เพื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่ดิจิทัลรูปแบบใหม่ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรในรูปแบบ 4.0 ตอบโจทย์เกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer
- ฤดูกาลเปลี่ยนผ่านสู่ Data Citizen
สถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ต้องเร่งปรับตัวและหันมาใช้เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร ตลอดจนการเพิ่มความสะดวกให้กับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล
เมธี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สยามคูโบต้าทำงานภายใต้กระบวนการทำงานแบบแมนนวลที่ขาดความเชื่อมต่อกัน ซึ่งกลายเป็นภาระงานที่กินเวลา จึงทำให้บริษัทมองหาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อปรับการทำงานขององค์กรให้ทำงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ได้มาเจอกับระบบประมวลผลอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีคลาวด์
จึงได้สร้าง ทีม COVID-19 Center เป็นสื่อกลางในการประสานงาน แบ่งเป็น 6 ทีม ได้แก่ ทีมสื่อสาร ทีมความปลอดภัย ทีมจัดการรายรับรายจ่าย ทีมดูแลเรื่องการวิจัยและการพัฒนาหาแนวคิด ทีม CSR และทีมบริหารธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
เมธี ศรีสุพรรณดิฐ
ทีมดังกล่าวได้มีการนำเอาคลาวด์และ IoT มาปรับใช้ในองค์กรทุกภาคส่วน ตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูล การจัดทำงบประมาณ การวางแผน การคาดการณ์ และการรายงาน เริ่มใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
1) การใช้ Microsoft Cloud ในการประชุม เพื่อแสดงผลทิศทางเดียวกัน สามารถสร้างทีมให้เหมาะสมกับรายละเอียดของงาน
2) การใช้ Tableau Cloud วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรโดยตรง เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน ออกฟีเจอร์ช่วยให้เกษตรกรมีความสะดวกในการทำงานมากยิ่งขึ้น การวิเคราะห์ความเสี่ยง-ประเมินพื้นที่การเกษตร เช่น โรค น้ำ อากาศ ก่อนลงทุนกับเครื่องมือหรือพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมเกษตรกรตรวจสอบพืชผลของตนโดยใช้ IoT ผ่านการแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization) เช่น แผนภูมิ รูปภาพ แผนที่ ตาราง วิดีโอ อินโฟกราฟิก แดชบอร์ด ฯลฯ
ซึ่งขณะนี้ คูโบต้าฟาร์มเริ่มทำการทดลองไปพร้อมกับเกษตรกร กล่าวคือ เอาข้อมูลดาต้าเข้ามาลองใช้ทำกำไรให้สอดคล้องกับต้นทุน และยังสร้างให้เกิดการทำงานนอกสถานที่ได้ โดยสามารถทำงานในพื้นที่เกษตร แม้ว่าจะไม่ได้เข้าบริษัท ทุกคนก็สามารถเห็นชุดข้อมูลเดียวกันแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บบราวเซอร์
3) การใช้ Salesforce Cloud ดูแลลูกค้าและบริการต่างๆ ทั้งก่อนการขายและหลังการขาย เช่น ฟีเจอร์แชทสอบถามข้อมูลอะไหล่ในเว็บไซต์ KUBOTA Store เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้าและบริการที่ดี ระบบ QRadar on Cloud ที่คอยตอบคำถามเพื่อสนับสนุนการทำงานของช่างบริการผ่านช่องทางไลน์ ระบบ Scan QR code ในการจ่ายค่าบริการของลูกค้า เป็นต้น
จากการใช้คลาวด์ทั้ง 3 รูปแบบ ทำให้สยามคูโบต้าลดเวลาการจัดทำรายงานงบประมาณจากสองสัปดาห์ เหลือเพียงหนึ่งวัน ช่วยประหยัดเวลาที่ใช้คาดการณ์ลงได้ถึง 90% ขณะที่การประมวลผลของระบบวางแผนเร็วขึ้น 80% ทำให้บริษัทสามารถปรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาน้ำมัน ได้อย่างทันท่วงที
สยามคูโบต้าเทรนพนักงานภายในองค์กรมากกว่า 200 คน เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจและสามารถใช้เครื่องมือ (Tools) ด้าน Data Visualization นำมาวิเคราะห์ คาดการณ์ยอดขาย และแบ่งส่วนของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ
“คาดหวังว่าในอนาคต 1-2 ปีนี้ Data Citizen จะเป็นอนาคตใหม่ของการทำงาน เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ต่อไป ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงเครื่องมือและใช้งานข้อมูลกันได้เหมือนกับการใช้งาน Microsoft Word โดยไม่จำเป็นต้องมีคนมาสอน” เมธี กล่าว
- เทคโนโลยี Big Data สนับสนุนเกษตรกร
สยามคูโบต้านำเทคโนโลยี IoT มาสนับสนุนเกษตรกรในเรื่อง การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการคูโบต้าฟาร์ม และเกษตรปลอดการเผา ออกเครื่องจักรใหม่ ๆ เช่น เครื่องตัดหญ้าเนเปียร์ สำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมและพลังงานชีวมวล แทรกเตอร์ B2401 พร้อมเครื่องตัดหญ้าใต้ท้องรถ (Mid mower) โดรนอัจฉริยะลบสิ่งกีดขวางในแปลงเกษตร เป็นต้น
ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) เพื่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ระบบ QRoC หรือ QRadar on Cloud ที่คอยตอบคำถามเพื่อสนับสนุนการทำงานของช่างบริการผ่านช่องทางไลน์ ระบบ Scan QR code เพิ่มความสะดวกสบายในการจ่ายค่าบริการที่หน้างานของลูกค้า
นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับพาร์ทเนอร์อย่าง SCG ร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท เกษตรอินโน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการถือครองหุ้นคือ เอสซีจี 51% สยามคูโบต้า 25% และคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น 24%
สำหรับสินค้าและบริการของเกษตรอินโน ประกอบด้วย เกษตรอินโน โซลูชั่น (KasetInno Solutions) ประกอบด้วย Farm Design, Farm Development และ Farm Care บริการออกแบบ พัฒนา และดูแลฟาร์มเกษตรครบวงจร เพื่อช่วยวางแผนในการทำเกษตร ให้แก่กลุ่มคนที่สนใจการทำเกษตรแต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเริ่มต้น
รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีพื้นที่ว่างเปล่า หรือกลุ่มองค์กรธุรกิจการเกษตรที่ต้องการองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้บริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกลุ่มเกษตรกรมืออาชีพที่มีพื้นที่ทำเกษตรเดิมอยู่แล้ว แต่ต้องการระบบการจัดการรวมถึงเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่เข้ามาช่วย