ฝีมือไทย สิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ที่เป็นมิตรกับผู้รับบริการ

ฝีมือไทย สิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ที่เป็นมิตรกับผู้รับบริการ

เก็บตกจากมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 สิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์จากนักพัฒนาคนไทย ล้วนแล้วแต่สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ “ATK โควิดจากลมหายใจ-เทสต์คิตตรวจหาโรคไต-สแกนนิ้ววัดค่าเบาหวาน”

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีความสำคัญ และยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาในการพัฒนา "เครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 จากลมหายใจ” เพื่อเป็นทางเลือกและสะดวกกว่าการแยงจมูก ไม่ต้องเจาะเลือด และไม่ต้องใช้น้ำลาย

เธียร์สิทธิ์ นาสัมพันธ์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก จากภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะผู้พัฒนา กล่าวว่า หลักการทำงานของเครื่องเป็นการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่าจมูกอิเล็กทรอนิกส์ หรือก๊าซเซ็นเซอร์ มาตรวจวัดสารระเหยอินทรีย์ หรือกลิ่นที่เป็นสารไบโอมาร์กเกอร์จากลมหายใจ ซึ่งทีมวิจัยมีฐานข้อมูลที่สามารถจดจำและจำแนกกลิ่นที่แตกต่างระหว่างคนที่ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อได้

ทั้งยังนำระบบแมชชีนเลิร์นนิ่ง และปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เข้ามาใช้ในการประมวลผลทำให้สามารถวิเคราะห์และตรวจคัดกรองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ปัจจุบันมีความแม่นยำประมาณ 97% จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ประมาณ 3 พันตัวอย่าง รู้ผลตรวจภายใน 5 นาที ค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่เกิน 10 บาทต่อคน

งานวิจัยนี้ต่อยอดองค์ความรู้เดิมที่มีการพัฒนาเครื่องวิเคราะห์ก๊าซในลมหายใจ ซึ่งสามารถบ่งบอกโรคได้เครื่องแรกคือ เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในกระแสเลือดโดยใช้ลมหายใจ ซึ่งใช้งานกับโรคเบาหวานมาแล้วกว่า 10 ปี ทำให้มีฐานข้อมูลและองค์ความรู้

เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงเกิดแนวคิดที่จะต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่กับความเชี่ยวชาญของหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ขึ้นทีมวิจัยเริ่มเก็บข้อมูลและทดสอบเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2563

เมื่อมีข้อมูลมากพอจนเกิดความมั่นใจ จึงเริ่มขออนุญาตทำการทดสอบในคนอย่างเป็นทางการ และเก็บตัวอย่างมากขึ้นที่โรงพยาบาลราชวิถี ต่อมาได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในปี 2564 ทำให้สามารถเก็บตัวอย่างได้จำนวนมากขึ้นและพัฒนาต้นแบบออกมาได้อย่างรวดเร็ว

ฝีมือไทย สิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ที่เป็นมิตรกับผู้รับบริการ

พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการบูรณาการความเชี่ยวชาญของทีมผู้พัฒนาที่มาจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โรงพยาบาลราชวิถี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชน ได้ขอจดสิทธิบัตรแล้ว 12 ประเทศใน 6 ทวีป

ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการส่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีคุณภาพ รวมถึงมีแผนในการขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรม บัญชีสิ่งประดิษฐ์ และการทำมาตรฐานต่าง ๆ ให้เป็นที่ยอมรับ

 

คาดว่าจะสามารถผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปีนี้ และอนาคตจะสามารถประยุกต์ใช้งานเครื่องดังกล่าวกับการตรวจคัดกรองโรคอื่น ๆ ที่ใช้ลมหายใจเป็นตัวบ่งชี้หรือบ่งบอกสภาวะผิดปกติได้

 

เทสต์คิตคัดกรองโรคไตเรื้อรัง

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็ถือว่าเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพอย่างหนึ่ง ในแต่ละปีทั้งรัฐและผู้ป่วยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายกับโรคนี้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคและอาหารที่รับประทานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีแนวโน้มสูงขึ้น

ฝีมือไทย สิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ที่เป็นมิตรกับผู้รับบริการ

รศ.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย และ รศ.กิตตินันท์ โกมลภิส จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคิดค้นชุดตรวจ albuminuria โดยใช้หลักการตรวจหาโปรตีนไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ (Micro albuminuria) ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้โรคไตเรื้อรังได้ชัดเจนที่สุด

 

ชุดตรวจคัดกรองนี้มีหลักการทำงานคล้ายการตรวจตั้งครรภ์ เพียงเก็บปัสสาวะในช่วงเช้าหลังตื่นนอนหรือก่อนทานอาหารเช้า จากนั้นนำมาหยดลงบนแผ่นชุดตรวจ 3 หยด และรอผลเพียง 15 นาที หากค่าไมโครอัลบูมินผิดปกติจะมีแถบขึ้น 1 แถบ แต่หากอยู่ในเกณฑ์ปกติจะมีแถบขึ้น 2 แถบ โดยแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองปีละครั้ง แม้จะยังไม่มีอาการ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารที่มีรสเค็ม

ขณะนี้ชุดตรวจคัดกรองอยู่ระหว่างการอนุมัติขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทีมวิจัยคาดหวังว่าจะมีโอกาสนำชุดตรวจนี้ไปใช้อย่างกว้างขวาง และนำเข้าไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“ม.รังสิต”วัดน้ำตาลไม่ต้องเจาะเลือด

ฝีมือไทย สิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ที่เป็นมิตรกับผู้รับบริการ

เครื่องวัดระดับน้ำตาลชนิดพกพาแบบไม่ต้องเจาะเลือด ผลงานจาก ชนิดาภา ต้องใจหิรัญ และพัทธ์ธีรา ลาภสมบูรณ์ยิ่ง นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานลดการบาดเจ็บจากการเจาะเลือด และยังพกพาได้อย่างสะดวกเนื่องจากมีขนาดเล็ก ใช้สำหรับผู้ที่ต้องการวัดระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 70-350 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)

 

การทำงานของเครื่องใช้หลักการโฟโตเพลตตีสโมกราฟฟี โดยวัดจากความแตกต่างของแรงดันซึ่งเกิดจากการดูดกลืนน้ำตาลในเลือดออกมา ใช้แสงอินฟาเรดและแสงสีเขียวในการวัดความแตกต่าง โดยการวางนิ้วลงบนเซ็นเซอร์ที่อยู่บนตัวเครื่องจะทำให้สามารถวัดและแสดงผลได้ภายใน 20 วินาที ซึ่งเครื่องวัดจะแสดงผลค่าระดับน้ำตาลในเลือดเป็นตัวเลขผ่านหน้าจอในหน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)

 

ทั้งนี้ ทางวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และบริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด พัฒนาผลงานดังกล่าว ซึ่งได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิก หากผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจแล้วจะดำเนินการขอการรับรองจาก อย. เพื่อให้สามารถผลิตและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป.