'เทสต์คิต' นวัตกรรมมีแบคอัพ

'เทสต์คิต' นวัตกรรมมีแบคอัพ

เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (ฮีโมโกลบินเอวันซี HbA1C) ไซส์เล็กสำหรับการพกพา เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมไทย

สาลินีย์ ทับพิลา - รายงาน

เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (ฮีโมโกลบินเอวันซี HbA1C) ไซส์เล็กสำหรับการพกพา เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นองค์ความรู้ของไทยจากโครงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยภับภาคธุรกิจเอกชนและผู้บริโภค ที่ตอบโจทย์และเอื้อประโยชน์ด้านสาธารณสุข ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มูลนิธิสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทคจำกัด และบริษัท โมบิลิส ออโตมาต้า จำกัด ดำเนินโครงการความร่วมมือเป็น “เครือข่ายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเซนเซอร์ชีวการแพทย์”(Biomedical Sensors) โดยพัฒนาชิ้นงานนำร่องคือ ชุดตรวจเบาหวานฮีโมโกลบินเอวันซี ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดราวปลายปีหน้า

เปิดตลาดใหม่ตอบโจทย์ผู้ป่วย

ดร.กฤษณ์ จงสฤษดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมบิลิส ออโตมาต้า จำกัด กล่าวว่า หลังจากเครื่องต้นแบบเสร็จและทดสอบประสิทธิภาพที่พร้อมใช้งาน ภาคเอกชนจะรับช่วงต่อในการผลิตออกสู่ตลาด โดยวางแผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2558 พร้อมจุดเด่นคือ ราคาที่ไม่เกิน 3 พันบาทและถือเป็นของใหม่สำหรับผู้ป่วยที่วัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยได้ที่บ้านด้วยตัวเอง

ปัจจุบันการตรวจ HbA1c ผู้ป่วยเบาหวานต้องเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาลเท่านั้น เป็นการตรวจระดับห้องปฏิบัติการที่มีความจำเพาะสูง เพื่อหาค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลที่สะสมอยู่ในเม็ดเลือดแดงตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ผลที่ได้จึงเป็นค่าระดับน้ำตาลในเลือดอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ

เมื่อเทียบกับการตรวจระดับน้ำตาลด้วยชุดตรวจทั่วไปที่บ้าน เป็นค่าระดับน้ำตาลในเลือด ณ ปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเมนูอาหารหวานที่เพิ่งอดหรือกินก่อนการเจาะเลือด 2-3 วัน จึงไม่ใช่ค่าที่แท้จริงแต่มีประโยชน์สำหรับการตรวจคัดกรองเท่านั้น

“เราย่อแล็บตรวจเบาหวานในโรงพยาบาลลงจากเครื่องขนาดใหญ่เท่าห้องให้เหลือขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือ จากราคาหลักสิบล้านบาทให้อยู่ในราคาไม่เกิน 3 พันบาท เพื่อให้การตรวจวัดระดับน้ำตาลจากฮีโมโกลบินสามารถทำได้ที่บ้านโดยตัวของผู้ป่วย หรือสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ใช้ความรู้จากนักวิจัย พัฒนาต่อยอดจนผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรมที่เอกชนจะเป็นผู้เข้ามารับไม้ต่อ” ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าว

ในการพัฒนาชุดตรวจเบาหวานฮีโมโกลบินเอวันซี หน่วยงานของ สวทช. ประกอบด้วย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ทำหน้าที่พัฒนาน้ำยา ขณะที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาเครื่องอ่านวิเคราะห์ทางเคมี โดยต่อยอดจากเครื่องอ่านปฏิกิริยาทางเคมีที่วิจัยมากว่า 3 ปีสำหรับการตรวจวัดทางอาหาร มาประยุกต์พัฒนาวงจรอิเล็กทรอนิกส์หัวอ่านเพื่อใช้ตรวจวัดทางชีวภาพ

ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ คาดว่าจะสร้างเป็นต้นแบบได้ประมาณกลางปี 2558

ในอนาคต ทีมพัฒนามีแผนที่จะเพิ่มฟังก์ชั่นของการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงเชื่อมต่อไวไฟหรือบลูทูธเพื่อส่งข้อมูลไปยังสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่อาจส่งตรงถึงแพทย์เจ้าของไข้ได้ทันทีอีกด้วย

เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าความร่วมมือในลักษณะเครือข่ายนี้มีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งชุดตรวจเบาหวานเฉลี่ยสะสมนี้เป็นโครงการนำร่อง หลังจากนี้จะมีโครงการย่อยทยอยเปิดตัว โดยจะเน้นไปที่ชุดตรวจ เครื่องตรวจหรือเครื่องมือวิเคราะห์

คาดการณ์ว่าเครื่องตรวจ HbA1c แบบพกพา จะเป็นเครื่องมือที่สามารถลดการนำเข้าและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อีกทั้งสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและภาครัฐด้านสาธารณสุขได้ และที่สำคัญยังสามารถสร้างผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทย โดยการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีให้มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ