"Merry Christmas" สไตล์ชาวดาราศาสตร์ ด้วย "เนบิวลา" ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย "Merry Christmas" สุขสันต์วันคริสต์มาส สไตล์ชาวดาราศาสตร์ ด้วย "เนบิวลา" ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ บทความที่เรียบเรียง โดยธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ระบุว่า Merry Christmas สุขสันต์วันคริสต์มาส สไตล์ชาวดาราศาสตร์ ด้วย "เนบิวลา" ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ
NGC 2264 เป็นชื่อเรียกของรวม ๆ ของวัตถุในภาพ ประกอบด้วย เนบิวลาเรืองแสง (Emission Nebula) และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง บริเวณ กลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros)
แสงสีแดงในภาพเกิดจากไฮโดรเจนในอวกาศดูดซับพลังงานจากดาวฤกษ์รอบๆ แล้วปลดปล่อยแสงออกมาในช่วงคลื่นเฉพาะ เรียกว่า “ไฮโดรเจนแอลฟา” ในช่วงคลื่นแสงสีแดง เนบิวลานี้จึงมีสีแดงสว่างโดดเด่น เรียกเนบิวลาประเภทนี้ว่า “เนบิวลาเรืองแสง” บริเวณด้านล่างมีกลุ่มแก๊สรูปร่างคล้ายกรวย มีชื่อว่า “เนบิวลากรวย (Cone Nebula)”
จุดเด่นของ NGC 2264 คือ บริเวณกลางภาพมีดาวฤกษ์เกาะกลุ่มกันอย่างหลวม ๆ เรียกว่า “กระจุกดาวเปิด” มีดาวสว่างสีฟ้าและสีขาวเรียงตัวกันเป็นรูปร่างคล้ายต้นคริสต์มาส จึงมีชื่อเรียกว่า “กระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster)” ซึ่งในภาพนี้เป็นต้นคริสต์มาสที่กลับหัวอยู่ มีดาวสว่างเด่นบนเนบิวลากรวยเป็นยอดของต้นคริสต์มาส
นอกจากนี้ เหนือกลุ่มแก๊สสีฟ้าด้านบนของภาพมีกลุ่มแก๊สสีแดงที่รูปร่างแปลกประหลาดกว่าโดยรอบ จึงมีชื่อเล่นว่า “เนบิวลาขนสุนัขจิ้งจอก (Fox Fur Nebula)”
ภาพ : ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์/ กีรติ คำคงอยู่
TRT-SBO/ CDK17/ FLI16803