“เอไอ” กับอนาคตประเทศ รัฐบาลตามให้ทันเทคโนโลยี
การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจึงต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงชีวิตประจำวัน
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลกที่ภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และประชุมครั้งแรกไปเมื่อเดือน ธ.ค.2565 และได้อนุมัติแผนปฏิบัติการ "AI THAILAND" ปี 2565-2570
แผนปฏิบัติการดังกล่าวให้ความสำคัญกับการสร้างกำลังคนให้มีทักษะเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ทุกระดับมากกว่าปีละ 13,500 คน รวมถึงมีแผนการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มกลางบริการ AI ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เข้าถึงและนำไปใช้ ซึ่งประเมินกันว่าจะมีจำนวนการใช้งานเริ่มที่ 15 ล้านครั้งในปี 2566 โดยจะเป็นการสนับสนุนการสร้างคนและเทคโนโลยี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ในภาคธุรกิจเริ่มมองเห็นความสำคัญของการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ เพราะสามารถดำเนินงานหลายอย่างได้ดีกว่ามนุษย์ เช่น การประมวลผลข้อมูล ซึ่งทำให้หลายบริษัทมีการลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากร รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยจะเห็นภาพชัดในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งสร้างความแม่นยำในการทำงาน แต่การใช้แรงงานยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ควบคู่กับทักษะดังกล่าว
ข้อมูลสำคัญที่ได้รับการรายงานจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คือการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาลในปี 2564 โดยความร่วมมือระหว่าง Oxford Insights ของสหราชอาณาจักร และศูนย์วิจัยพัฒนาระหว่างประเทศของแคนาดา พบว่าไทยอยู่อันดับ 59 จาก 160 ประเทศ ซึ่งแม้จะได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่คะแนนในมิติ Governance and Ethics ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้ไทยต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้กับทุกอุตสาหกรรม
การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจึงต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงชีวิตประจำวัน ซึ่งการกำหนดแนวทางการกำกับดูแล การส่งเสริม และการใช้งานย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะข้อมูลที่ถูกเผยแพร่โดยปัญญาประดิษฐ์อาจมีผลต่อสังคมได้ ดังนั้น มีหลายเรื่องนับจากนี้ที่รัฐบาลต้องวางแผนสำหรับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์