ความวุ่นวายที่ Disney | พสุ เดชะรินทร์
Disney เป็นบริษัทชั้นนำในการสร้างความบันเทิงให้กับคนทั่วโลก และเติบโตอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยเข้าไปซื้อธุรกิจต่างๆ อย่างมากมาย ทั้งสถานีโทรทัศน์ abc ช่องกีฬา ESPN ค่ายหนังอย่าง Lucas Film, Pixar, Marvel และ 20th Century Fox
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ดิสนีย์ก็เป็นบริษัทระดับโลกที่มีความวุ่นวายมากที่สุดแห่งหนึ่ง ราคาหุ้นและการตอบรับของตลาดก็สะท้อนถึงความวุ่นวายดังกล่าว จากราคาหุ้นที่เกือบแตะ 200 ดอลลาร์เมื่อปี 2564 ปัจจุบันตกลงมาที่ไม่ถึง 100 ดอลลาร์ และเมื่อเทียบอัตราการเติบโตของราคาหุ้นกับคู่แข่งสำคัญอย่าง Netflix ก็จะยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
ถ้านำราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทในเดือน ก.ค.ปีที่แล้วเป็นฐาน จะพบว่าราคาหุ้นของ Netflix เพิ่มขึ้นกว่า 150% (จากราคา 180 ดอลลาร์เป็น 440 ดอลลาร์) ส่วนของดิสนีย์นั้นกลับลดลงประมาณ 1.5% (จากราคา 96 ดอลลาร์เหลือ 92.94 ดอลลาร์)
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่ Disney ในรอบปีนั้นพอจะแบ่งได้เป็น 6 เรื่องใหญ่ดังนี้
1. เมื่อปลายปีที่แล้วมีการปลด Bob Chapek ซึ่งเป็น CEO ออกกลางอากาศ โดยความร่วมมือกันระหว่าง Bob Iger (อดีตซีอีโอที่ดำรงตำแหน่งมานานถึง 16 ปี และเป็นผู้เลือก Bob Chapek ขึ้นมาแทนตนเอง)
และ CFO (Chirstine McCarthy) จากนั้น Bob Iger ก็ได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งซีอีโออีกครั้ง สาเหตุหลักมาจากความไม่พอใจในแนวทางการบริหารและผลการดำเนินงาน
2. เมื่อ Bob Iger เข้ามาเป็นซีอีโอก็ปรับโครงสร้าง จากในอดีตสมัย Chapek นั้นได้แยกโครงสร้างระหว่างการสร้างสรรค์เนื้อหากับการจัดจำหน่ายไว้ สตูดิโอมีหน้าที่ผลิตเนื้อหา แล้วก็มีอีกหน่วยงานที่ตัดสินใจและดูแลเรื่องการกระจายเนื้อหาเหล่านั้น
Iger ได้ยุบหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการดูแลด้าน Distribution ทิ้ง และให้ทางผู้ผลิตเนื้อหาเป็นคนตัดสินใจอย่างเบ็ดเสร็จในเรื่องของช่องทางการกระจายเนื้อหาด้วย โครงสร้างใหม่ Disney จะประกอบด้วยหน่วยงานที่สำคัญ 3 หน่วย ได้แก่
- Disney Entertainment Unit ดูแลตั้งแต่ค่ายหนัง จนถึงช่องทางจัดจำหน่าย
- ESPN ดูแลช่องกีฬา
- Disney Parks, Experiences, and Products ดูแลสวนสนุก โรงแรม สายการเดินเรือ ตลอดจนร้านค้า
3. การปลดพนักงาน 7,000 ตำแหน่ง รวมทั้งการลดต้นทุนการดำเนินงานอีกกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งมีข่าวว่า ดิสนีย์กำลังหาทางขายทั้ง ESPN, Hulu รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่ Iger มองว่าไม่เหมาะกับครอบครัว (แต่ภายหลังก็การยืนยันว่ายังไม่มีการขายธุรกิจใดๆ)
4. Disney+ ก็ยังคงขาดทุนอยู่ ถึงแม้จะพยายามลดต้นทุนต่างๆ ลงแล้ว ล่าสุดก็สูญเสียสมาชิกไปอีก 4 ล้านรายทั่วโลก Iger ก็ออกมาประกาศแล้วว่า Diseny+ จะไม่เร่งและรุกในการหาสมาชิกใหม่ ถ้าทำให้ขาดทุนเพิ่มขึ้น
5. การทะเลาะและมีคดีความไปมากับ Ron DeSantis ผู้ว่าการมลรัฐฟลอริดา หลังจากที่ Diseny ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่ DeSantis สนับสนุน
6. สุดท้ายและล่าสุด คือ Christine McCarthy ซึ่งเป็น CFO (ที่ร่วมกับ Iger ในการปลดซีอีโอคนเก่า) ประกาศลาออกอย่างกะทันหัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อไปดูแลสุขภาพของสามีที่ป่วย ซึ่งก็นำสู่ความแปลกใจให้กับคนที่เกี่ยวข้อง
แหล่งข่าวระบุว่า Christine มีความเห็นที่แตกต่างจาก Iger ในเรื่องกลยุทธ์และงบประมาณของบริษัท โดย Christine เป็นซีเอฟโอที่อยู่มานานและได้รับความเชื่อถือจากทั้งนักวิเคราะห์และนักลงทุนอย่างมาก
ความวุ่นของดิสนีย์เกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่ไม่ดี เนื่องจากอุตสาหกรรมบันเทิงนั้นกำลังอยู่ช่วงการปรับตัวสู่โลกของ Streaming ถึงแม้สวนสนุกของดิสนีย์จะยังมีผลประกอบการที่ดีอยู่ แต่ธุรกิจสื่อและบันเทิงอื่นๆ ก็ถูกดิสรัปทั้งจากโลกสตรีมมิงและโฆษณาที่น้อยลง
ธุรกิจสตรีมมิงเองก็เผชิญการแข่งขันที่รุนแรงและมีต้นทุนที่สูง ก็ต้องติดตามเฝ้าต่อไปว่า ดิสนีย์จะสยบความวุ่นวายและกลับมาเติบโตได้ต่อไปหรือไม่ และอย่างไร?