อินเดีย ส่งยาน 'จันทรยาน-3' Chandrayaan-3 ลงจอดแถบขั้วใต้ดวงจันทร์สำเร็จ !
อินเดีย ส่งยาน "จันทรยาน-3" (Chandrayaan-3) จอดบนดวงจันทร์สำเร็จ กลายเป็นภารกิจแรกที่ลงจอดแถบขั้วใต้ของดวงจันทร์ และเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถทำได้ ต่อจากอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ และจีน
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยบทความที่แปลและเรียบเรียง โดย พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า
อินเดีย ส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ! จันทรยาน-3 กลายเป็นภารกิจแรกที่ลงจอดแถบขั้วใต้ของดวงจันทร์
ยานในภารกิจ "จันทรยาน-3" (Chandrayaan-3) สามารถลงจอดบนพื้นที่แถบขั้วใต้ของดวงจันทร์สำเร็จในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.2023 เวลา 19:33 น. (ตามเวลาประเทศไทย) กลายเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางด้านอวกาศของอินเดีย และกลายเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ หลังจากอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ และจีน
"ความสำเร็จครั้งนี้เป็นของมวลมนุษยชาติ และจะช่วยส่งเสริมภารกิจสู่ดวงจันทร์ของชาติอื่น ๆ ในอนาคต" คำกล่าวจากนเรนทระ โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย หลังจากการลงจอดสำเร็จ "ผมมั่นใจว่าทุกชาติบนโลก จะสามารถประสบความสำเร็จ พวกเราล้วนสามารถจุดประกายถึงการมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์และห้วงอวกาศไกลกว่านั้น"
หลังจากที่ยานลงจอด "วิกรม" (Vikram) ลงจอดสำเร็จแล้ว ถึงปล่อยรถสำรวจ "ปรัชญาน" (Pragyan) ออกมา ยานของอินเดียทั้งสองลำนี้จะมีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจนาน 14 วันของโลก (เท่ากับความยาวนานของช่วงกลางวันบนดวงจันทร์) โดยมีเป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดวงจันทร์ก่อนที่จะหมดพลังงานลงหลังดวงอาทิตย์ตก (ยานทั้งสองผลิตพลังงานด้วยแผงเซลล์สุริยะ)
"จันทรยาน-3" เป็นภารกิจที่อินเดียพยายามส่งยานลงจอดบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นบริเวณที่ยังไม่มีชาติใดเคยส่งยานลงจอดมาก่อน นักวิทยาศาสตร์สนใจพื้นที่แถบขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพราะพบว่ามีน้ำแข็งปริมาณมหาศาลอยู่ หากสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาตินี้ได้ จะสามารถนำน้ำบนดวงจันทร์มาสังเคราะห์เป็นเชื้อเพลิงจรวด และใช้ในการอุปโภคบริโภคของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ในอนาคตได้
ความพยายามครั้งแรกของอินเดียอยู่ที่ภารกิจ "จันทรยาน-2" (Chandrayaan-2) ที่จบลงในเดือนกันยายน ค.ศ.2019 ด้วยการดิ่งพุ่งชนดวงจันทร์ เนื่องจากเกิดปัญหาในระบบซอฟต์แวร์ระหว่างที่ยานกำลังร่อนลง
ทางองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ใช้เวลาเกือบ 4 ปี ในการปรับปรุงพัฒนารูปแบบและซอฟต์แวร์ของยาน จนยานในภารกิจจันทรยาน-3 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด LVM3 ที่ผลิตในอินเดียเช่นกัน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.2023 จากศูนย์อวกาศบนเกาะศรีหรีโกฏา (Sriharikota) ทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย เมื่อยานไปถึงดวงจันทร์ ได้ปรับเข้าสู่วงโคจรรูปวงรีในวันที่ 5 สิงหาคม แล้วค่อย ๆ ปรับวงโคจรจนเป็นรูปวงกลม ที่มีระดับความสูงราว 150 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์
จนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ยานวิกรมได้แยกตัวออกมาจากโมดูลเครื่องยนต์ขับดัน ที่โมดูลตัวนี้จะโคจรรอบดวงจันทร์ต่อไป ยานวิกรมเข้าสู่วงโคจรรูปวงรี แล้วค่อย ๆ ปรับวิถีของยานให้ใกล้พื้นผิวดวงจันทร์เรื่อย ๆ ขณะที่ยานวิกรมอยู่ในวงโคจรรอบดวงจันทร์ สามารถติดต่อกับยานโคจรรอบดวงจันทร์จากภารกิจจันทรยาน-2 ที่ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ ค.ศ.2019 และช่วยทำหน้าที่เป็นตัวส่งต่อถ่ายทอดสัญญาณระหว่างยานในภารกิจจันทรยาน-3 กับศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินบนโลก
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ณ พื้นที่ลงจอดของยานวิกรม ศูนย์ควบคุมที่สำนักงานใหญ่ของ ISRO ในเมืองบังคาลอร์ ทางใต้ของอินเดีย ส่งคำสั่งให้ยานเริ่มร่อนลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ พร้อมเปิดระบบลงจอดอัตโนมัติของยาน ในขณะเดียวกัน ทาง ISRO ได้ถ่ายทอดสดการลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งสำคัญของชาติครั้งนี้ด้วย
ในเวลา 19:34 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ยานวิกรมสามารถลงจอดบนพื้นที่ลงจอดสำเร็จ ณ บริเวณละติจูด 70 องศาใต้ ซึ่งใกล้กับพื้นที่เป้าหมายในการลงจอดของยานลูนา-25 ของรัสเซีย ที่จบลงด้วยการพุ่งชนดวงจันทร์ในวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา
ความสำเร็จของอินเดียในวันนี้ ถือเป็นผลลัพธ์จาก "การปรับเปลี่ยนแผนการส่งยานลงจอด" หลังจากการพุ่งชนดวงจันทร์ของยานในภารกิจจันทรยาน-2 ได้แก่
- การปรับปรุงระบบชุดคำสั่งบนยานเพื่อคำนวณอัตราเร็วระหว่างการร่อนลงของยาน
- การกำหนด "พื้นที่เป้าหมาย" ให้กินพื้นที่กว้างกว่าเดิม
- การปรับปรุงขาลงจอดของยานวิกรมให้แข็งแกร่งขึ้น สามารถรับแรงกระแทกได้มากขึ้น
- การปรับปรุงเครื่องยนต์ที่สามารถปรับอัตราเร็วของยานเพื่อให้ลงจอดได้อย่างนุ่มนวล
นอกจากนี้ ภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์ ณ บริเวณพื้นที่ลงจอดจากยานโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจจันทรยาน-2 ได้ช่วยสนับสนุนภารกิจยานรุ่นน้องด้วย ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการปล่อยรถสำรวจปรัชญานลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อวิเคราะห์ดินและหินบนดวงจันทร์ต่อไป
ทาง ISRO ยังได้สลักรูป "อโศกจักระ" (Ashoka Chakra) สัญลักษณ์ทางศาสนารูปวงล้อ 24 ซี่ที่อยู่บนธงชาติอินเดีย พร้อมสัญลักษณ์โลโก้ของ ISRO ไว้ที่ล้อรถสำรวจปรัชญานในภารกิจจันทรยาน-3 ทาง ISRO จึงหวังว่าเมื่อรถสำรวจปรัชญานเคลื่อนตัวไปบนพื้นผิวดวงจันทร์ จะฝากฝังร่องรอยสัญลักษณ์เหล่านี้บนพื้นผิวดวงจันทร์ ที่จะยังคงอยู่ไปอีกนับหลายพันปี
ยานลงจอดวิกรมยังมีอุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน (seismometer) เพื่อตรวจแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ในบริเวณใกล้พื้นที่ลงจอด และตัวตรวจวัดดินบนดวงจันทร์เพื่อบันทึกอุณหภูมิ
ภารกิจจันทรยาน-3 ของอินเดีย ใช้งบประมาณราว 6,000 ล้านรูปี (ประมาณ 2,541 ล้านบาท) ในช่วงเวลาที่ชาติมหาอำนาจด้านอวกาศอย่างสหรัฐฯ กับจีน ต่างตั้งเป้าหมายส่งนักบินอวกาศลงสำรวจดวงจันทร์ โดยองค์การนาซาของสหรัฐฯ ตั้งเป้าจะส่งนักบินอวกาศลงสำรวจบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ไปกับภารกิจ "อาร์ทีมิส 3" (Artemis 3) ในช่วงปลายปี ค.ศ.2025 หรือ 2026 และสร้างสถานีสำรวจ ณ พื้นที่ดังกล่าวหลังจากนั้นไม่นาน
ทางอินเดียยังหวังว่าภารกิจ จันทรยาน-3 จะสามารถช่วยส่งเสริมโครงการอวกาศของชาติในอนาคต โดยเฉพาะการสำรวจดวงจันทร์หลังจากนี้ ช่วยสนับสนุนจุดมุ่งหมายด้านยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ของชาติ และเป็นตัวจุดประกายแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ของชาติ
ที่มา : space