5 วิธีแยก 'Deepfake' กับ 'วิดีโอจริง' ทั่วโลกปวดหัว AI สร้างตัวปลอมหลอกลงทุน
เผย 5 วิธีแยกแยะ “Deepfake” VS “วิดีโอจริง” จากกรณี “กวี ชูกิจเกษม” และสถานการณ์หลอกลวงการลงทุนด้วยการใช้ AI เลียนแบบคนดัง ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในต่างประเทศ
กลายเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วประเทศ เมื่อ “กวี ชูกิจเกษม” นักวิเคราะห์การลงทุนชื่อดังของไทยถูก Deepfake ซึ่ง “Deepfake” เป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างวิดีโอปลอมขึ้นมาใหม่ ที่คล้ายภาพและเสียงของบุคคลท่านนั้นอย่างมาก ราวกับว่าคนนั้นเคยพูดและแสดงท่าทางเช่นนั้น แต่ในความจริงแล้วกลับไม่ใช่
ประเด็น Deepfake กลายเป็นความน่ากลัวในสังคม เมื่อผู้ไม่ประสงค์ดีใช้สิ่งนี้ในการสร้าง “วิดีโอบุคคลปลอม” เป็นผู้มีชื่อเสียง นักการเมือง นักลงทุนที่น่านับถือ และทำให้พวกเขาพูดอะไรก็ได้ในสิ่งที่มิจฉาชีพต้องการ จนสร้างความเข้าใจผิด และความวุ่นวายในสังคม
เมื่อไม่นานมานี้ ช่วงปลายเดือน ม.ค. บริษัทแห่งหนึ่งในฮ่องกง (ไม่ประสงค์แจ้งชื่อ) ร้องทุกข์ต่อตำรวจว่า บริษัทถูก Deepfake หลอก โดยหลงเชื่อว่าคนที่ประชุมแบบเห็นหน้าด้วยกันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจริง แต่ปรากฏว่าเป็น “บุคคลปลอม” จนต้องสูญเสียเงิน 200 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงหรือราว 900 ล้านบาทจากการโอนเงินให้มิจฉาชีพไป
อีกทั้งช่วงปลายเดือน ก.พ. ปีนี้ ผู้เสียหายชาวเกาหลีคนหนึ่งเผยว่า สูญเงินไป 160 ล้านวอนหรือราว 4.29 ล้านบาท หลังจากเข้าร่วมกลุ่มสแกม เพียงเพราะเห็นคลิปสั้นของนักแสดงชื่อดังอย่างโจอินซอง และ ซงเฮคโย ที่สร้างด้วย Deepfake เชิญชวนการลงทุน
ข้ามไปอีกฝั่งที่ออสเตรเลีย คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission) ระบุว่า ชาวออสเตรเลียสูญเสียเงินไปมากกว่า 8 ล้านดอลลาร์กับเหล่าสแกมเมอร์ออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยีนี้สร้างเทย์เลอร์ สวิฟต์ และดาราอื่น ๆ เพื่อหลอกเอาเงิน
ดังนั้น ถ้ารู้ วิธีแยกวิดีโอ Deepfake ที่สร้างโดย AI กับวิดีโอที่ถ่ายจากบุคคลจริง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการถูกหลอกได้มากขึ้น ดังนี้
1. สังเกตการพูด และเนื้อหาการเล่าของเขาว่าแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ ถ้าเป็นการ Deepfake ที่ไม่ค่อยเนียน อาจเห็น “การขยับริมฝีปาก” กับ “คำพูด” ที่ไม่สัมพันธ์กัน
แต่ถ้าทุกอย่างดูคล้องจองกันหมด ให้ฟังเนื้อหาของเขา หากเกี่ยวข้องกับการขอให้โอนเงินเข้ามา และบริจาคเงินต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องยืนยันกับ “ตัวจริง” อีกครั้ง เพื่อลดโอกาสถูกหลอก อย่าพึ่งรีบโอนเงินไปทันที
อีกจุดที่น่าพิจารณา คือ ยิ่งเป็นการขอให้โอนเงินผ่านช่องทางที่ไม่ใช่ธนาคาร และไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ เช่น MoneyGram, Western Union หรือคริปโทฯ ก็ยิ่งต้องระวังว่า อาจเป็นมิจฉาชีพ
2. ลองดูคลิปการพูดของเขาในแหล่งอื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือว่า โดยปกติแล้ว เขามักเล่าเนื้อหาประมาณไหน ชอบพูดเกี่ยวกับประเด็นอะไร เพื่อหาจุดเปรียบเทียบและความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น โดยปกติ เขาชอบเล่าเรื่องหุ้นเพื่อเป็นวิทยาทาน แต่ในวันหนึ่ง มีคลิปหน้าเขาที่ขอให้โอนเงินสมัครคอร์สคริปโทฯ นี่คือความผิดปกติที่เกิดขึ้น และควรบันทึกรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ไว้
3. สังเกตความสมมาตรของใบหน้าบนคลิป ตุ้มหู กรอบแว่น หู จมูก ฟันเมื่อหันซ้ายขวา เงยขึ้นก้มลงว่า ยังคงดูเป็นธรรมชาติหรือไม่ หรือเป็นรูปทรงที่ดูแข็ง และแปลกตาไปจากเดิม รวมถึงแววตา มีการสบตาผู้ฟังหรือเลื่อนลอย
4. ดูลักษณะคอ ทรงผม สีเล็บ นิ้วมือว่าเข้ากันกับรูปทรงใบหน้าหรือไม่ แสงสะท้อนที่ปรากฏมีความเป็นธรรมชาติขนาดไหน
5. ฟังจังหวะการเว้นวรรคของเสียง และการเน้นคำพูด ว่าสอดคล้องกับจังหวะที่เขาเคยพูดในคลิปอื่นหรือไม่ หรือเป็นเสียงเดียวราบรื่น ไม่ได้เน้นคำที่ควรเน้น
5 วิธีนี้ก็จะช่วยให้ผู้ชมคลิปสามารถแยกแยะคลิปจริงกับคลิป Deepfake ได้ง่ายขึ้น และนอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ที่ช่วยตรวจสอบวิดีโอเหล่านี้อีกขั้นด้วย เช่น https://scanner.deepware.ai/
แต่สิ่งสำคัญที่สุด หากเป็นคลิปหรือเสียงที่โน้มน้าวให้เราเสียเงิน หรือต้องให้ข้อมูลสำคัญของเราไป ก็จำเป็นต้องยืนยันกับบุคคลจริงท่านนั้นอีกครั้ง หรือสอบถามไปถึงญาติของเขา เพื่อยืนยันความชัดเจน
อ้างอิง: guardian, กรุงเทพธุรกิจ, dw, tech, finance