รัฐบาลดิจิทัล (9)  “เก็บ” ครั้งเดียวก็เกินพอ

ทำไมต้องเอาสำเนาเอกสารราชการ ไปให้หน่วยงานรัฐที่เราไปติดต่อด้วย ทั้งๆ ที่เป็นเอกสารของราชการเอง แถมยังต้อง “ทำและรับรอง” สำเนาเท่ากับจำนวน “คำขอ” ที่เราจะยื่นอีก

หน่วยงานแห่งนั้นน่าจะยังไม่ได้ใช้ระบบไอที ทำให้แต่ละ “คำขอ” ต้องแนบเอกสารให้ครบจบในชุดเดียว จึงจะพิจารณาได้โดยไม่ต้องไปเปิดค้นเอกสารที่อื่นอีก ประชาชน“คนเดียว”มาติดต่อหลายเรื่องก็ต้องทำเป็น “หลายคำขอ”และสำเนาเอกสารแยกกัน

นี่เป็นการมองราชการเป็นศูนย์กลาง ถ้าหากมอง ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centric) แล้ว ประชาชนหนึ่งคน จะยื่นกี่คำขอก็ต้องถือเป็นเรื่องเดียวกันถ้ายื่นพร้อมกัน

ส่วนการรับรองสำเนา น่าจะเกิดจากการที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถตรวจสอบ “ความจริงแท้” ของเอกสารสำเนาได้ จึงต้องให้นำทั้งเอกสาร “ตัวจริง”มาแสดง พร้อมกับ “ลงนาม” รับรองสำเนาถูกต้อง ถือว่า ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบในเอกสารต่างๆที่ยื่นเข้ามา หากปลอมแปลงหรือเป็นเท็จ ก็มีฐานทางกฎหมายที่จะปฏิเสธการอนุญาตหรืออาจดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารนั้น ที่จริงแล้ว เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับเรื่อง พ.ร.บ. วิ อิเล็กทรอนิกส์ จึงให้เจ้าหน้าที่ต้องเป็นคนทำสำเนาและลงนามรับรองเอกสารเอง ไม่ใช่ประชาชนผู้ยื่นเรื่องอีกต่อไป

หลักการ “การจัดเก็บข้อมูลเพียงครั้งเดียว” (Once Only Principle) หมายถึง การให้ประชาชนให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐเพียงแห่งเดียว แล้วเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้อง “แบ่งปัน” ข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไม่สร้างภาระให้กับประชาชนอีก

หลักการข้อนี้จะเป็นจริงและช่วยแก้ปัญหาการยื่นและรับรองเอกสารได้ หน่วยงานรัฐทุกแห่งต้อง “เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล” ระหว่างกัน เช่น ข้อมูลประชาชน ถูกจัดเก็บโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้ว หน่วยงานรัฐอื่นจึงควรใช้ข้อมูลจากกรมการปกครอง ไม่ต้องขอจากประชาชนซ้ำอีก

เป็นการลดโอกาสผิดพลาดจากข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน และที่สำคัญคือ ลดความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนบุคคลจะรั่วไหลออกไปจากหลายๆหน่วยงานอีกด้วย

ปัจจุบัน มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้แก่  

Linkage Center สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของสำนักทะเบียน กรมการปกครอง

NSW (National Single Window) สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ  ของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง

 DXC สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกระบวนการยุติธรรม ของกระทรวงยุติธรรม

รัฐบาลดิจิทัล (9)  “เก็บ” ครั้งเดียวก็เกินพอ

นอกจากนี้ ยังมี ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Government Data Exchange หรือ GDX) โดย DGA สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลจากกรมการปกครอง นิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลอื่นๆที่จำเป็นต่อการพิจารณาใบอนุญาต ของหน่วยงานรัฐต่างๆ

ปัจจุบัน มีชุดข้อมูลแลกเปลี่ยน รวม 81 ชุดข้อมูล จาก 16  หน่วยงาน มีการใช้ประโยชน์แล้วกว่า 48 ล้านครั้ง จากผู้ใช้งาน 216 หน่วยงาน

DGA ได้ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บูรณาการข้อมูลสวัสดิการจากทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงผ่านแอปทางรัฐ และยังได้เชื่อมโยง ข้อมูลสมาชิก “SME One ID” จาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

เพื่ออำนวยความสะดวกในการยืนยันตัวตนของ SME เวลาไปติดต่อขอรับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐอื่นๆ โดยไม่ต้องไปยื่นเอกสารเพื่อยืนยันความเป็น SME ใหม่ทุกครั้ง

ปัญหาที่พบก็คือ ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บ และวิธีการทางเทคนิคที่ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน ทำให้เกิด “ต้นทุน” ในการปรับแก้ระบบ

DGA จึงได้จัดทำ สถาปัตยกรรมและมาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Thailand Government Information Exchange : TGIX) ประกอบไปด้วย มาตรฐานด้านเทคนิค ของ API ที่อ้างอิงมาตรฐานสากล และ มาตรฐานด้านความหมาย (Semantic Standard) ของชุดข้อมูลสำคัญ

รัฐบาลดิจิทัล (9)  “เก็บ” ครั้งเดียวก็เกินพอ

ได้แก่ มาตรฐานของข้อมูลบุคคล เช่น คำนำหน้าชื่อ ชื่อบุคคล เพศ และศาสนา และ มาตรฐานของข้อมูลที่อยู่ เช่น ชื่อจังหวัด ตำบล อำเภอ ถนน เป็นต้น  หากใช้มาตรฐานเดียวกันแล้ว จะลดภาระในการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง (Data Cleansing) และลดความผิดพลาดในการนำไปใช้ด้วย

ในทางปฏิบัติ การขอเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล ต้องมีการหารือถึงความจำเป็นในการขอใช้ข้อมูล ซึ่งรวมถึงหน้าที่อำนาจ และวัตถุประสงค์ในการเข้าถึงข้อมูลชุดนั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องหารือรายละเอียดทางเทคนิค บางครั้งก็ยังต้องทำ MOU อีก

หากเป็นชุดข้อมูลที่เคยเปิดให้หน่วยงานอื่นแล้วก็ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนก็ใช้ข้อมูลได้ แต่ถ้าเป็นชุดข้อมูลใหม่ อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี

ที่ผ่านมา หน่วยงานมักจะมีบัญชีรายชื่อชุดข้อมูลเปิดเท่านั้น แต่ยังไม่มีรายชื่อข้อมูลที่จะ “แบ่งปันให้หน่วยงานอื่น” แต่ถ้าถามว่า “อยากได้ข้อมูลอะไรจากหน่วยงานอื่นบ้าง” จะได้คำตอบเป็นรายชื่อชุดข้อมูล “มากมาย”

เราจึงสำรวจความต้องการ​ “อยากได้” ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ แล้วรวบรวมเป็นรายชื่อชุด “ข้อมูลสำคัญ” (Master Data ตัวอย่างเช่น ชุดข้อมูลหลักที่ต้องใช้ในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ มีการออกเป็นประกาศกำหนดให้เจ้าของข้อมูล “ต้อง” แบ่งปันให้หน่วยงานอื่น

ในระยะต่อไป จะมุ่งสร้างรายชื่อชุดข้อมูล Master Data และมาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลรายสาขา เช่น มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพ โดยอ้างอิงมาตรฐานสากล HL7 มาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เป็นต้น   

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562  “เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล” มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองที่จัดเก็บอยู่ตามหน่วยงานรัฐต่างๆ และมีสิทธิที่จะขอให้โอนข้อมูลนั้นไปยังหน่วยงานอื่นได้ ดังนั้น “ความยินยอม” ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นหัวใจในการนำข้อมูล มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลนั้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย DGA การไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาค การประปานครหลวงและส่วนภูมิภาค ร่วมกันเปิดให้ผู้ใช้แอปทางรัฐดึงข้อมูลประวัติชำระค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ส่งให้ผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อขอสินเชื่อได้

โดยอาศัยความยินยอมของเจ้าของข้อมูล เป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนที่ไม่มีประวัติทางการเงิน เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ตามนโยบาย Open Finance ของธนาคารแห่งประเทศไทย ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อลด “ความเหลื่อมล้ำ” ของประชาชน

ภาพสุดท้ายในฝันก็คือ จะทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยได้รับข้อมูล “ขั้นต่ำ” ที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติราชการโดยไม่ต้องร้องขอกันอีกต่อไป.